พาราสาวะถี
ถูกต้องที่สุด หากกกต.จะเลิกดื้อตาใส ไม่ต้องกลัวเสียหน้า แล้วจัดการส่งปมการคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพราะสิ่งที่จะตามมาคือความหมดจดชัดเจน ใครก็จะวิพากษ์วิจารณ์กันอีกไม่ได้ ดีกว่าที่จะดันทุรังกันไป แม้จะด้วยใจบริสุทธิ์ แต่สุดท้ายก็หนีไม่พ้นว่าเป็นไปเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ใครพวกใดพวกหนึ่ง โดยเฉพาะผู้ที่มีอำนาจกดทับองค์กรอิสระที่บริหารจัดการเลือกตั้งทั้งระบบอยู่เวลานี้
อรชุน
ถูกต้องที่สุด หากกกต.จะเลิกดื้อตาใส ไม่ต้องกลัวเสียหน้า แล้วจัดการส่งปมการคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพราะสิ่งที่จะตามมาคือความหมดจดชัดเจน ใครก็จะวิพากษ์วิจารณ์กันอีกไม่ได้ ดีกว่าที่จะดันทุรังกันไป แม้จะด้วยใจบริสุทธิ์ แต่สุดท้ายก็หนีไม่พ้นว่าเป็นไปเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ใครพวกใดพวกหนึ่ง โดยเฉพาะผู้ที่มีอำนาจกดทับองค์กรอิสระที่บริหารจัดการเลือกตั้งทั้งระบบอยู่เวลานี้
ไม่มีอะไรต้องเสียหายและไม่ใช่การเสียหน้า ดีกว่าต้องตกเป็นขี้ปากทั้ง ณ ปัจจุบันและในอนาคต เพราะการไปยกเอาความเห็นของใครก็ตามแม้จะได้ชื่อว่าเป็นอดีตกรธ.ผู้ยกร่างกฎหมายสูงสุดของประเทศและกฎหมายประกอบ หรือแม้แต่สนช.คนที่กลั่นกรองกฎหมาย แต่โดยสถานะหลังกฎหมายทุกฉบับมีผลบังคับใช้แล้ว คนเหล่านั้นไม่ได้เป็นผู้มีอำนาจในการตีความชี้ขาดต้องศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น
ไม่ต้องบอกว่า ยื่นตีความเป็นทางเลือกหนึ่ง ความจริงน่าจะเป็นทางเลือกเดียวเสียด้วยซ้ำที่จะทำให้กกต.พ้นจากข้อครหาต่าง ๆ ไม่เพียงเท่านั้น หากทุกอย่างกระจ่างชัด จะได้ไม่ต้องมาติดคุกกันตอนแก่ อย่าคิดว่าเป็นไปไม่ได้ กกต.ชุดหันคูหาออกนอกหน่วยประสบชะตากรรมดังว่ามาแล้ว เพื่อความไม่ประมาทและเป็นการการันตีความโปร่งใสในระดับหนึ่งนี่คือสิ่งที่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง
หมดปัญหาเรื่องสูตรคำนวณส.ส.กันไปแล้ว ทีนี้ก็เหลือประเด็นฟ้องประชาชน หากยืนกระต่ายขาเดียวโดยอ้างเรื่องการปกป้องศักดิ์ศรีของตัวเอง คงไม่มีใครไปห้ามได้ ในเมื่ออีกฝ่ายอ้างเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ฝั่งที่ยื่นฟ้องก็อ้างได้เช่นกัน ทั้งหมดต้องปล่อยให้ไปว่ากันตามกระบวนการ ถูกผิดอย่างไรให้ฝ่ายยุติธรรมเป็นผู้ชี้ขาด หลังจบตรงนั้นจะอะไรยังไงกันต่อค่อยไปว่ากันอีกที
ส่วนเรื่องที่สังคมจับตามองไม่แพ้กันหนีไม่พ้นการตรวจสอบกรณีร้องเรียนผู้สมัครส.ส.และว่าที่ส.ส.ทั้งหลาย ตรงนี้ก็จะเป็นดัชนีชี้วัดความตรงไปตรงมาของกกต.คณะนี้ได้เป็นอย่างดี 66 เขตที่จ่อคิวโดนเชือด ต้องดูหน้าค่าตาเป็นคนของพรรคไหนบ้าง แล้วเหตุที่ถูกร้องมีเรื่องอะไร หลังตัดสินแล้วสามารถอธิบายให้สังคมสิ้นสงสัยได้หรือไม่ เหล่านั้นคือเครื่องมือในการอธิบายว่าเลือกตั้งภายใต้บริบทกฎหมายใหม่นั้น องคาพยพที่กำกับดูแลดำเนินการด้วยความบริสุทธิ์ เที่ยงธรรมหรือไม่
ยังเป็นเครื่องหมายคำถามอยู่ การที่ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ยืนยันว่ารัฐบาลเผด็จการคสช.ไม่โกง ใช้กลไกหรือมาตรวัดอะไรมาตรวจสอบ อย่างที่รู้กันตลอดระยะเวลาเกือบ 5 ปีที่ผ่านมา กระบวนการตรวจสอบผู้มีอำนาจง่อยเปลี้ยเสียขา แม้แต่กรณีนาฬิกาหรูที่องค์กรตรวจสอบทำให้จบไปท่ามกลางข้อกังขาของคนจำนวนไม่น้อย สิ่งสำคัญการที่ “ป๋า” บอกว่าถ้าพูดผิดไปขอให้ไปแก้ไข ก็น่าจะเป็นการออกตัวที่กลัวว่าหากพูดตรง ๆ คนที่ไปขอพรอาจเสียหน้าได้
แต่ก็อีกนั่นแหละ ป๋าไม่ใช่ฝ่ายตรวจสอบ ฝ่ายที่ได้ประโยชน์จะรีบยกเอามาเป็นเครื่องมือในการหาเสียง สร้างคะแนนนิยมก็ไม่มีใครว่า แต่ก็อย่าไปกล่าวหาหรือโจมตีฝ่ายที่เขาไม่เห็นด้วย เพราะถ้าการตรวจสอบเรื่องไม่โปร่งใสได้ทำงานกันอย่างเต็มที่ทั้งองค์กรอิสระที่สังคมไม่เชื่อมั่นเวลานี้ และภาคประชาชนที่ถูกปิดปากมาโดยตลอด คำพูดของผู้หลักผู้ใหญ่รายนี้อาจมีน้ำหนักมากพอที่จะทำให้คนส่วนใหญ่คล้อยตามได้
เหมือนอย่างที่ สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือบก.ลายจุด ว่า ถ้าจะการันตีรัฐบาลใดว่าเป็นรัฐบาลไม่โกงเราต้องดูปัจจัยดังต่อไปนี้ ที่มาของการเป็นรัฐบาล มายังไง ถูกครรลองครองธรรมหรือไม่ ขณะที่เป็นรัฐบาล มีระบบตรวจสอบถ่วงดุลหรือไม่ เช่น ฝ่ายค้าน การไม่แทรกแซงการทำงานของสื่อ เข้าไปแทรกแซงองค์กรอิสระหรือไม่ หรือว่าตั้งเองกับมือ
เปิดเผยข้อมูลหรือเปิดโอกาสให้เข้าถึงข้อมูลที่ประชาชนสงสัยหรือมีคำถามต่อการบริหารราชการหรือไม่ เปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน หรืออ้างว่าเป็นองค์กรพิเศษไม่ต้องเปิดเผย ใช้กลไกและอำนาจในขณะบริหารประเทศสร้างความได้เปรียบในการสืบทอดอำนาจของตนเองหรือไม่ หากยึดหลักตามนี้น่าคำนวณมาเป็นคะแนนได้ไม่ยากว่า รัฐบาลเผด็จการสอบผ่านหรือสอบตกเรื่องความโปร่งใสและอยู่มานานแล้วไม่โกง
ประเด็นกระทรวงการต่างประเทศเรียกเจ้าหน้าที่ทางการทูตที่ไปสังเกตการณ์ในคดี ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ มาคุยเรื่องมารยาทและจรรยาบรรณนั้น ดูเหมือนว่าที่เชิญแล้วมาก็เป็นไปโดยมารยาท แต่ในแง่การตอบรับสิ่งที่ทางการไทยไม่สบอารมณ์นั้นถือว่าไม่ประสบความสำเร็จ เมื่อทั้งสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ต่างยืนยันในความถูกต้องต่อการเดินทางไปร่วมสังเกตการณ์ดังกล่าว
โดย จิลเลียน บอนนาร์โดซ์ โฆษกสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ยืนยันว่า สถานทูตสหรัฐฯ ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปร่วมฟังการพิจารณาคดีในกรณีที่ได้รับความสนใจอย่างสูงทั่วโลก เพื่อรับประกันว่าการดำเนินคดีจะเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม และมีการเคารพหลักกฎหมาย การดำเนินการเช่นนี้ถือเป็นแนวปฏิบัติปกติในทางการทูต
ที่ดูเหมือนจะเป็นการตบหน้า ดอน ปรมัตถ์วินัย เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศของไทยที่บอกว่าไม่มีประเทศไหนเขาทำกันแบบนี้ คงเป็นถ้อยแถลงของโฆษกสถานทูตสหรัฐฯ ที่ว่า สหรัฐฯ ให้ความสนใจต่อกรณีดังกล่าวเช่นเดียวกับอีกหลาย ๆ กรณีทั่วโลก โดยเข้าไปสังเกตการณ์ในกระบวนการยุติธรรมเพื่อรับประกันว่าการดำเนินคดีเพื่อพิสูจน์ว่ากระบวนการที่ผู้ถูกกล่าวหาได้รับนั้นเป็นไปตามหลักสากล และให้ได้ข้อมูลปฐมภูมิในการดำเนินคดี
ขณะที่ผู้แทนอียูประจำประเทศไทย ออกแถลงการณ์ การสังเกตการณ์การไต่สวนหรือการดำเนินคดีเป็นการดำเนินการตามหลักปฏิบัติปกติทางการทูตที่ทำกันทั่วโลก โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดการยึดมั่นต่อสิ่งที่ถือเป็นมาตรฐานสากล อาทิ สิทธิมนุษยชน และการดำเนินการตามกระบวนการของกฎหมาย รวมทั้งยืนยัน การดำเนินการดังกล่าวไม่ได้เป็นสิ่งที่จะบ่งชี้ว่ามีการแทรกแซงทางการเมือง หรือเป็นการให้การสนับสนุนใครคนใดคนหนึ่งเป็นการเฉพาะ น่าสนใจที่เลือกตั้งหวังให้นานาประเทศยอมรับ แต่หลายสิ่งอาจบ่งชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่ทำเป็นแค่พิธีกรรมฟอกขาวเผด็จการเท่านั้น