พาราสาวะถี

มาแรงแซงทางโค้งทีเดียวกับข้อเสนอของ เทพไท เสนพงศ์ ว่าที่ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ว่าด้วย “รัฐบาลแห่งชาติ” พร้อมพ่วงรายชื่อ ชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาของพรรคเป็นนายกฯคนกลาง เจ้าตัวออกมาชี้แจงแล้ว เหตุที่ชงเช่นนั้นเพราะห่วงรัฐบาลเลือกตั้งจะมีเสียงปริ่มน้ำ บริหารประเทศไม่ได้ เดินกันไปลำบาก ดังนั้น จึงต้องหาทางสายกลางแต่ต้องรีบออกตัวเป็นเพียงความเห็นส่วนตัวไม่เกี่ยวกับพรรค


อรชุน

มาแรงแซงทางโค้งทีเดียวกับข้อเสนอของ เทพไท เสนพงศ์ ว่าที่ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ว่าด้วย “รัฐบาลแห่งชาติ” พร้อมพ่วงรายชื่อ ชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาของพรรคเป็นนายกฯคนกลาง เจ้าตัวออกมาชี้แจงแล้ว เหตุที่ชงเช่นนั้นเพราะห่วงรัฐบาลเลือกตั้งจะมีเสียงปริ่มน้ำ บริหารประเทศไม่ได้ เดินกันไปลำบาก ดังนั้น จึงต้องหาทางสายกลางแต่ต้องรีบออกตัวเป็นเพียงความเห็นส่วนตัวไม่เกี่ยวกับพรรค

น่าสนใจทีเดียวกับท่าทีอันเปลี่ยนไปของคนพรรคเก่าแก่ ต้องยอมรับว่าความพ่ายแพ้อย่างหมดรูปหนนี้ คงจะให้บทเรียนและทำให้ใครต่อหลายคนในพรรคได้คิดทบทวนว่า การเดินเกมการเมืองที่ผ่านมาผิดพลาดตรงจุดไหน มายาคติที่สร้างขึ้นว่าด้วยระบอบทักษิณและเผด็จการรัฐสภา พอมาเจอกับเผด็จการตัวจริงทั้งฝ่ายบริหารและรัฐสภาเผด็จการ คงรู้ซึ้งกันแล้วว่า ถ้าเดินกันตามครรลอง พรรคคงไม่มาถึงจุดตกต่ำได้เพียงนี้

แต่การโยนหินถามทางเช่นนี้ ก็ย่อมมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและคัดค้าน เพียงแต่ว่ามุมที่ไม่สนับสนุนนั้นน่าคิดในแง่ของความเห็นมีทั้งที่สุดโต่งและเข้าข้างตัวเองเพราะมีวาระซ่อนเร้น เช่น ไพบูลย์ นิติตะวัน หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป ไปไกลกว่าใครเพื่อนด้วยการมองว่าข้อเสนอเช่นนี้มาจากกลุ่มคนที่ไม่เอา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ข้อเสนอนี้จึงเป็นการโยนมาเพื่อขจัดหัวหน้าคสช.ไปให้พ้นเส้นทาง คิดแบบนี้คิดได้แต่ดูว่ามันจะตื้นไปนิด

ขณะที่ สมศักดิ์ เทพสุทิน มองไปในมุมที่ว่าฝ่ายตั้งรัฐบาลแข่งไม่มีทางจะชนะ จึงเสนอแนวทางแบบนี้ ทั้ง ๆ ที่คนที่ชงไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับฝ่ายที่เรียกตัวเองว่าฝ่ายประชาธิปไตยแต่อย่างใด เข้าใจท่วงทำนองเช่นนี้ของแกนนำพรรคสืบทอดอำนาจผู้ที่เอ่ยวลีเด็ด “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา” เพราะมีความเชื่อมั่นอย่างเต็มเปี่ยม ด้วยกลไกทั้งหลายทั้งปวงอย่างไรเสีย พรรคพวกของตัวเองก็ต้องได้ตั้งรัฐบาล ตามที่อ้างว่าแบบปกติ ทั้ง ๆ ที่มันไม่ปกติ

อย่างไรก็ตาม ความเห็นจาก พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ ถือเป็นผู้ที่หนักแน่นในหลักการและจุดยืนอย่างแท้จริง โดยเจ้าตัวย้ำว่า รัฐบาลแห่งชาติไม่มีจริง เพราะขัดรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน เนื่องจากรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าจะต้องมีผู้นำฝ่ายค้าน และต่อให้ไม่ขัดรัฐธรรมนูญก็ขัดต่อหลักการประชาธิปไตย เนื่องจากการมีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์จะต้องมีการตรวจสอบถ่วงดุล ถ้าหากทุกพรรคเป็นรัฐบาลหมดไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุลก็ไม่ต่างอะไรกับเผด็จการ

ตรงนี้แหละที่เป็นจุดแข็งของพรรคการเมืองใหม่พรรคนี้ ถ้าฝ่ายประชาธิปไตยชูจุดยืนที่ว่ารังเกียจผู้นำเผด็จการและคณะยึดอำนาจ ไม่เข้าใจ ไม่พอใจสนช.เพราะเป็นสภาตรายาง การเป็นรัฐบาลแห่งชาติทำให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมาอยู่ในสถานะเดียวกับคสช.และสนช. หากประชาชนต้องการแบบนั้นก็ถือเป็นความต้องการที่ไม่เป็นประชาธิปไตย แต่เชื่อว่าประชาชนคาดหวังกับการเลือกตั้งมาก ดังนั้น คงไม่มีใครอยากกลับไปเป็นเหมือนคสช.และสนช.แน่นอน

ต้องยอมรับความจริงกันอย่างหนึ่งว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเวลานี้ ล้วนแล้วแต่เกิดจากการวางแผนเพื่อสืบทอดอำนาจของคณะเนติบริกรที่รับใช้เผด็จการมาตั้งแต่ต้นนั่นเอง ทุกอย่างติดหล่มเพราะการคาดไม่ถึงว่ามันจะเจอทางตันเช่นนี้ อย่างที่ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้อธิบาย การจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้เป็นสถานการณ์ที่ไม่ปกติ ไม่ปกติทั้งกติกา ทั้งการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาเพื่อรองรับภารกิจบางอย่าง

สถานการณ์ที่เป็นอยู่สะท้อนถึงกลุ่มคนที่ร่างกติกาที่ทำให้เกิดปัญหา ทั้งการร้องค้านผลการเลือกตั้งหรือการรวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลที่ส่อจะมีปัญหา เงื่อนไขที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะบทเฉพาะกาลเริ่มจะเป็นปัญหาให้เห็น ที่เป็นรูปธรรมที่สุดคือสองขั้วที่แข่งกันจัดตั้งรัฐบาล โดยขั้วหนึ่งถ้ารวมเสียงข้างมากในสภาได้อาจจะไม่มีเสียงพอที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีได้ แต่อีกขั้วหนึ่งถ้าเป็นนายกรัฐมนตรีได้ตามรัฐธรรมนูญบทเฉพาะกาล ก็ยังมีคำถามว่า สุดท้ายจะเป็นรัฐบาลที่มีเสียงข้างมากในสภาหรือไม่

เดิมคนเขียนรัฐธรรมนูญอาจคิดว่าจะนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งที่มีเสียงข้างมากเบ็ดเสร็จเด็ดขาดได้ ถึงขั้นกำหนดให้ประธานสภาต้องอยู่ฝ่ายรัฐบาล กำหนดให้วุฒิสมาชิกโหวตเลือกนายกฯได้ และออกแบบรูปแบบการเลือกตั้งให้เป็นบัตรใบเดียว เพราะคาดหวังว่าผลการเลือกตั้งจะเป็นเบี้ยหัวแตกและสามารถที่จะทำให้การรวมเสียงตั้งรัฐบาลทำได้ง่าย แต่เอาเข้าจริงมันเป็นผลตรงกันข้าม และเกิดภาวะการแข่งขันของสองขั้วทางการเมืองที่ปริ่มน้ำ

ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนจะพูดถึงวิธีการคำนวณส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ของกกต. ที่สุดท้ายต้องหันไปพึ่งคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญ โดยมองกันว่ามีความพยายามที่จะทำให้พรรคเล็กพรรคน้อยได้เสียงส.ส.เพื่อไปตอบสนองต่อการเป็นรัฐบาลของพรรคสืบทอดอำนาจ แต่แค่นั้นคงยังไม่เพียงพอ กระบวนการวินิจฉัยตามคำร้องหากเป็นไปอย่างที่กกต.ต้องการ ก็เพียงเพื่อรองรับความเป็นธรรมให้กับตัวเองที่มีอำนาจในเรื่องนี้อยู่เต็มที่แล้วเท่านั้น

สิ่งที่จับตามองกันต่อไปคือ การแจกใบส้มให้กับว่าที่ส.ส.ซึ่งนอกจากจะเป็นบทพิสูจน์ความเที่ยงธรรมของกกต.คณะนี้แล้ว ยังจะเป็นจุดชี้วัดเรื่องของคะแนนเสียงและจำนวนส.ส.เพื่อนำไปจัดตั้งรัฐบาลด้วย นั่นเป็นเพราะพรรคที่ได้รับใบส้มจะถูกตัดออกจากการแข่งขัน ไม่สามารถส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งซ่อมได้ จำนวนส.ส.ทั้งแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อจะหายไปทันที จุดนี้ วัฒนา เมืองสุข ถึงกับบอกว่าเป็นหมัดเด็ดที่เผด็จการจะใช้ตัดคู่แข่งที่ไม่หนุนฝ่ายตนออกไปจากการแข่งขัน

เมื่อเป็นเช่นนี้ คำถามที่ตามมาคือ ความยุ่งเหยิงวุ่นวายที่ดำเนินอยู่ จะยังต้องเป็นเช่นนี้ต่อไปใช่หรือไม่ คำตอบคือใช่ เพราะทุกอย่างจะจบได้ก็ต่อเมื่อเผด็จการสามารถครองอำนาจต่อสมตามเจตนารมณ์ที่วางแผนกันไว้ ในเมื่ออยากอยู่ยาวแล้วดันจะมีคนไม่ให้อยู่ต่อ เผด็จการที่ไหนจะยอมรับได้ แต่บางทีการอยู่ต่อก็อาจจะไม่ได้หมายความว่าผู้นำเผด็จการต้องไปต่ออย่างที่ตั้งใจไว้แล้วก็ได้ นั่นหมายความว่าระหว่างรัฐบาลแห่งชาติกับนายกฯไม่ได้ชื่อประยุทธ์ อย่างหลังน่าจะมีความเป็นไปได้มากกว่า

Back to top button