ใหญ่เพื่อกำไร??
นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB เป็นคนที่ไม่เคยบอกว่าธนาคารแห่งนี้ย่ำแย่ แต่ท่าทีของเขา สามารถถอดรหัสไม่ยากว่า เป็นตรงกันข้าม
พลวัตปี 2019 : วิษณุ โชลิตกุล
นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB เป็นคนที่ไม่เคยบอกว่าธนาคารแห่งนี้ย่ำแย่ แต่ท่าทีของเขา สามารถถอดรหัสไม่ยากว่า เป็นตรงกันข้าม
กรณีล่าสุด ท่านปลัดกระทรวงออกมาเปิดเผยว่า แผนควบธุรกิจระหว่างแบงก์ทหารไทย กับธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TBANK เป็นการสร้างผลประโยชน์ให้ซึ่งกันและกัน ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วส่งผลประโยชน์กับธนาคารใหม่แข็งแกร่งมากขึ้น แถมยังบอกอีกว่า ขอยืนยันว่าสิทธิของผู้ถือหุ้นรายย่อยใน TMB จะไม่เสียเปรียบผู้ถือหุ้นใหญ่ทั้งกระทรวงการคลังและกลุ่ม ING โดยผู้ถือหุ้นรายใหญ่หากได้ประโยชน์อะไร ทางกลุ่มผู้ถือหุ้นรายย่อยจะได้ประโยชน์อย่างนั้นเช่นเดียวกัน
การออกโรงมาพูดเรื่องนี้ เกิดขึ้นเพื่อตอบโต้กรณีที่ก่อนหน้านี้มีข่าวเกี่ยวกับราคาที่กลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหญ่ เช่น กระทรวงการคลังจะใช้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนของ TMB นั้น สัดส่วนการเพิ่มทุนเบื้องต้นอยู่ที่ 15 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ ส่วนราคาต้องรอตรวจสอบสถานะการเงิน (due diligence) เสร็จก่อน ซึ่งข่าวลือออกมาว่า คลังจะมีส่วนลดในการซื้อหุ้นที่เกิดจากการควบรวมใหม่ 20% จากราคาตลาดฯ ซึ่งจะต่ำกว่าราคาที่ผู้ถือหุ้นใหม่ซื้อ (ธนชาต) ทำให้นักลงทุนคงมีความกังวล เนื่องจากราคาที่คลังซื้อต่ำกว่าราคาในกระดานค่อนข้างมาก
การออกโรงตอบโต้ดังกล่าว ช่วยอะไรไม่ได้มากนักตราบใดที่ยังไม่มีคำชี้แจงชัดเจนว่าราคาใช้สิทธิหุ้นหลังควบรวมจะเสมอภาคกันคือมีราคาเดียว
แผนการควบรวมธุรกิจธนาคารตามที่ได้แจ้งตัวเลขกับทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ไปแล้วว่าหลังควบรวมขนาดธุรกิจจะอยู่ที่ 130,000-140,000 ล้านบาท โดยเงินทุน 30% แรกมาจากธนาคารทหารไทย ส่วน 70% ที่เหลือเป็นเงินทุนที่จะใส่มาใหม่ คิดเป็นวงเงินประมาณ 90,000 ล้านบาท โดย 50,000 ล้านบาท จาก 90,000 ล้านบาทนั้น จะมาจากบริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TCAP และธนาคารโนวาสโกเทีย จากแคนาดา เป็นผู้ใส่เงินทุนดังกล่าว ส่วนวงเงินที่เหลืออีก 40,000 ล้านบาท จากผู้ถือหุ้นของ TMB คือกระทรวงการคลังและ ING ซึ่งผู้ถือหุ้นดังกล่าวจะใส่เงินเข้ามาประมาณ 20,000 ล้านบาท ส่วนวงเงินที่เหลือกว่า 10,000 ล้านบาท จะมาจากนักลงทุนรายย่อยและนักลงทุนสถาบัน ทำให้เห็นชัดเจนขึ้นว่า โครงสร้างธนาคารหลังการควบรวมน่าจะอุ้ยอ้ายมากกว่าเดิม
คำถามตามมาคืออนาคตใหม่หลังการควบรวมจะดีขึ้นหรือย่ำแย่ลง จึงเป็นคำถามที่น่าสนใจต่อไป
ดังที่ทราบกันจากข่าว ธนาคารหลังการควบรวมที่จะใช้ชื่อ TMB ต่อไป โดยชื่อของ TBANK จะถูกปลดออกเหลือแต่ตำนาน โดยสัดส่วนที่จะถือว่าสำคัญ คือ ธนาคาร ING Bank N.V. กระทรวงการคลัง กลุ่มทุนธนชาต และ Scotia Netherlands Holding B.V. ถือเป็นดีลควบรวมที่มีความซับซ้อนเพราะประวัติความเป็นมาของธนาคารทั้งสองแห่งนั่นเอง
TMB เริ่มจัดตั้งขึ้นมาโดยกองทัพไทยทั้งสาม ผ่านวิบากกรรมระหกระเหินมายาวนานนับแต่ยุคทองของธุรกิจธนาคารพาณิชย์แบบเก่าสิ้นสุดลงในช่วงหลังวิกฤติต้มยำกุ้ง มีการเพิ่มทุนหลายระลอก จนกระทั่งในปี 2547 มีการควบรวมและจัดสรรโครงสร้างถือหุ้นใหม่ โดยรวมเอาสถาบันการเงิน 3 แห่ง คือ TMB-บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย-ธนาคารดีบีเอส ไทยทนุ รวมเป็น TMB ที่ยังเหลือชื่อเดิมเอาไว้ แต่กองทัพไม่ได้ถือหุ้นใหญ่อีกต่อไป กระทรวงการคลังกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
ต่อมา กลุ่มธนาคาร ING ของเนเธอร์แลนด์เข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มทุนและถือหุ้นในสัดส่วนอันดับสอง แต่สามารถได้สิทธิ์คัดเลือกผู้บริหารได้ โดยที่กระทรวงการคลังประกาศเสมอมาว่า พร้อมจะขายหุ้นออกจากมือ ถ้าได้ราคาคุ้มทุน 3.80 บาท แต่ที่ผ่านมา แม้จะมีกำไรต่อเนื่อง แต่กำไรบางมาก โดยเฉพาะปีที่ผ่านมา ที่มีกำไรสุทธิโตเด่นมาก แต่ก็ทราบกันดีว่า กำไรที่เกิดขึ้นมาจากกำไรพิเศษจากการ “ขายลูกกิน” จากการขายรับรู้กำไรจากดีล บลจ.ทหารไทย 1.2 หมื่นล้านบาท ให้กลุ่ม อีสท์สปริง ไม่ใช่กำไรจากการดำเนินงาน ที่ชวนเศร้ามากกว่าชื่นชมเช่นกัน เพราะมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่รายได้มิใช่ดอกเบี้ยที่ได้รวมเอาส่วนกำไรพิเศษเข้ามาด้วย
ล่าสุดผลดำเนินงานไตรมาสแรกที่เพิ่งประกาศ ก็ยังคงอ่อนแอกว่าตลาดฯ ต่อไป เพราะเงินฝากเติบโตร้อยละ 1.8 แต่สินเชื่อรวมขยายตัวร้อยละ 0.2 (จากสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ขณะที่สินเชื่อลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่และกลางลดลง) ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยและรายได้ดอกเบี้ยสุทธิทรงตัวจากแรงกดดันจากรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิที่ลดลงโดยเฉพาะรายได้ค่าธรรมเนียมลูกค้ารายย่อยจากการขายผลิตภัณฑ์แบงก์แอสชัวรันซ์
ที่สำคัญการบันทึกค่าใช้จ่ายสาหรับเงินชดเชยโครงการผลประโยชน์พนักงานเมื่อเกษียณอายุ และรายได้รวมจากการดำเนินงานลดลง รวมทั้งการตั้งสำรองฯ เพิ่มขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับ IFRS 9 เป็นจำนวน 1,839 ล้านบาท และได้ write-off เพิ่มเติมเป็นจำนวน 2,500 ล้านบาทเพื่อลดความเสี่ยงเชิงลบในอนาคต ทำให้กำไรสุทธิ เพียง 1,579 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 7.2 จากไตรมาสก่อน แต่ลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อน 30%
กำไรที่ลดลงฮวบฮาบจะมองแบบโลกสวย ก็ประมาทเกินไป เพราะมีปัจจัยลบ 2 ด้านรออยู่ข้างหน้า คือ 1) การสูญเสียพันธมิตรธุรกิจในผลิตภัณฑ์แบงก์แอสชัวรันซ์จากการที่บริษัท เอฟดับบลิวดี ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ FWD ย้ายค่ายไปทำการศึกษาการเป็นพันธมิตรกับธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB แทน 2) แนวโน้มเศรษฐกิจไตรมาสสองปี 2562 คาดว่าจะขยายตัวในระดับใกล้เคียงกับไตรมาสแรก จากการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวชะลอลงสอดคล้องกับความต้องการซื้อรถที่คาดว่าจะเริ่มลดลง และการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มทรงตัว
ส่วน TBANK ก็มีประวัติเติบโตจากธุรกิจเงินทุนที่ยกระดับเป็นธนาคารพาณิชย์ และเร่งโตทางลัดในลักษณะ “ปลาเล็กกินปลาใหญ่” เทกโอเวอร์กิจการธนาคารเก่าแก่อย่างธนาคารนครหลวงไทย เข้ามาในร่มธงเดียวกัน และที่ผ่านมาก็มีกำไรจากการดำเนินงานที่ล่าช้ามาก ต้องพึ่งพาการ “ขายลูกกิน” สร้างกำไรพิเศษมาเป็นระยะ ๆ
เคยบอกไว้ก่อนหน้านี้มาแล้วว่า ดีลการควบรวมนี้ อาจจะเป็นไปตามสูตร “1+1=3″ หรือ “1+1=1.5″ เป็นไปได้ทั้งนั้น ตอนนี้ก็ยังคงยืนยันเหมือนเดิม
เหตุผลเพราะความใหญ่ ไม่ได้บอกถึงความสามารถทำกำไรเสมอไป