พาราสาวะถี
คำพูดของ อลงกรณ์ พลบุตร ที่บอกว่า “คิดแผลง ๆ กันตลอดเวลา” น่าจะตรงจุดไม่น้อยต่อข้อเสนอของ ไพบูลย์ นิติตะวัน หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป ที่ชงให้ใช้มาตรา 270 จัดประชุมร่วมของสองสภา โดยให้ส.ว.ลากตั้ง 250 เสียงเข้ามาแก้ปัญหาเสียงปริ่มน้ำ ซึ่งนั่นจะทำให้รัฐบาลสืบทอดอำนาจมั่นคงดั่งภูผา อยู่ยาวได้ตามที่ใจต้องการ จะบอกว่าเป็นความคิดแบบเด็ก ๆ คงใช่ที่ คนระดับนี้คงไม่มองอะไรแบบตื้น ๆ
อรชุน
คำพูดของ อลงกรณ์ พลบุตร ที่บอกว่า “คิดแผลง ๆ กันตลอดเวลา” น่าจะตรงจุดไม่น้อยต่อข้อเสนอของ ไพบูลย์ นิติตะวัน หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป ที่ชงให้ใช้มาตรา 270 จัดประชุมร่วมของสองสภา โดยให้ส.ว.ลากตั้ง 250 เสียงเข้ามาแก้ปัญหาเสียงปริ่มน้ำ ซึ่งนั่นจะทำให้รัฐบาลสืบทอดอำนาจมั่นคงดั่งภูผา อยู่ยาวได้ตามที่ใจต้องการ จะบอกว่าเป็นความคิดแบบเด็ก ๆ คงใช่ที่ คนระดับนี้คงไม่มองอะไรแบบตื้น ๆ
แต่พอพิจารณาเสียงทักท้วงรอบด้านแล้ว จึงเข้าใจว่าความคิดนี้ไม่ต่างอะไรจากการประจบเอาใจฝ่ายต้องการสืบทอดอำนาจหรือพูดง่าย ๆ ว่าฝ่ายสนับสนุน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้อยู่ต่อ คงมั่นใจสุด ๆ ไม่ว่าจะพลิกแพลงตะแคงฟ้าอย่างไร คงไม่มีใครกล้าตรวจสอบทักท้วง ทว่ากรณีนี้เป็นเรื่องของกฎหมาย จึงมีหลายคนหลายฝ่าย แม้กระทั่งพวกเดียวกันต้องออกมากระตุกต่อมความฝันของไพบูลย์กันอย่างแรง
เริ่มที่ วิษณุ เครืองาม ที่ย้ำหนักแน่น มีแค่กฎหมายปฏิรูปเท่านั้นที่จะใช้การประชุมรัฐสภาได้ ส่วนข้อกฎหมายอื่น ๆ ไม่สามารถทำได้ โดยเฉพาะร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ แค่เท่านี้ก็หงายเงิบแล้ว กับแนวคิดศรีธนญชัยที่จะให้รัฐบาลสืบทอดอำนาจพ้นภาวะเสียงปริ่มน้ำ และน่าสนใจต่อวลีทองของเนติบริกรประจำรัฐบาล คิดอะไรไม่ออก “ไม่ใช่ว่าต้องไปดึงส.ว.มาร่วมหรืออันธพาลเสียงมากลากไป” ตรงนี้น่าจะใช้แทนเผด็จการรัฐสภาได้
ในฐานะมือกฎหมายคงจะรู้อยู่แก่ใจและมีความละอายอยู่บ้าง ไม่ใช่หลับหูหลับตาสอพลอแต่ผู้มีอำนาจ ขณะที่ พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ฟันธงฉับ การตีความเช่นนี้ก่อให้เกิดผลอันแปลกประหลาด ขัดแย้งต่อเหตุผลของเรื่องหรือ Nature of things ที่ใช้กำกับในการตีความรัฐธรรมนูญด้วย คือ ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา 270 เอง
พูดให้ชัดเจน หากตีความเช่นนี้ต่อไปการตรากฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติจะมาใช้และอ้างอิงมาตรา 270 เพียงมาตราเดียวเท่านั้นอันถือเป็นเรื่องแปลกประหลาดยิ่ง วิธีการเช่นนี้เป็นการขยายอำนาจให้แก่วุฒิสภาในการตรากฎหมายอย่างชัดแจ้ง ส่งผลกระทบต่อการใช้และความสัมพันธ์ในทางอำนาจระหว่างองค์กรทางรัฐธรรมนูญด้วยกันด้วย อันอาจส่งผลกระทบและความเสียหายต่าง ๆ ตามมาอีกมาก
จะว่าไปหากมองอย่างเข้าใจไพบูลย์ คงเป็นเพราะตลอดห้วงระยะเวลาแห่งการปกครองของเผด็จการคสช. เพราะความกลัวเสียของ จึงทำให้ข้อเสนอหลายประการของพวกเดียวกันได้รับการตอบสนอง แต่คงจะลืมไปว่า ณ วันนี้ บริบททางการเมืองเปลี่ยนไป หัวหน้าเผด็จการไม่ใช่มีแค่หัวโขนความเป็นกรรมการคอยควบคุมให้ทุกคนเดินตามกติกาที่ตัวเองขีดเขียนขึ้นมาเท่านั้น หากแต่กลายเป็นผู้เล่นและถือเป็นตัวจักรสำคัญต่อทิศทางเดินของประเทศด้วย
ดังนั้น ประเภทที่เสนออะไรแบบฮาร์ดคอร์ไม่ต้องสนหน้าอินทร์หน้าพรหม จึงต้องทบทวนตัวเองเสียใหม่ ต้องเพลาในการเสนอความคิดที่แหวกแนวระบบรัฐสภาได้แล้ว เพราะสภาที่จะเกิดขึ้นไม่ใช่สภาตรายางเหมือนอย่างที่สนช.เป็นอยู่ตลอดเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ถ้าคิดและทำเหมือนเดิมการเมืองไทยยุคปฏิรูปคงเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ถอยหลังลงเหวอย่างแน่นอน
ไม่เพียงข้อเสนอในลักษณะนี้เท่านั้น แต่ถ้าพิจารณาจากกระบวนการ กลไกที่พยายามใช้เพื่อเอื้อให้ขบวนการสืบทอดอำนาจประสบผลสำเร็จ ทุกวิธีการถือได้ว่าเป็นอันตรายและน่าจะเป็นหนทางที่ทำให้ประชาธิปไตยกลับสู่วงจรอุบาทว์หรืออาจจะเลวร้ายกว่าที่ผ่านมาเสียด้วยซ้ำ ไม่เพียงเท่านั้นได้ฟังคำอธิบายของอดีตกรธ.บางคนเรื่องวิธีการเลือกส.ส.แบบบัตรใบเดียวและผลที่ได้แล้ว ยิ่งทำให้รู้สึกปลงกันเลยทีเดียว
มีความพยายามอธิบายว่า สิ่งที่คิดและทำกันมานั้น ถือเป็นการอ่านเกมขาด แก้ปัญหาความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้น ทั้ง ๆ ที่วิธีการเลือกที่ใช้นั้นเหลือเพียงแค่เมืองเล็ก ๆ ในเยอรมนีเท่านั้นที่ใช้ระบบนี้อยู่ หากไม่สร้างปัญหาจริง ทำไมการคำนวณจำนวนส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์จึงต้องไปเลือกจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ และถ้าเป็นบัตร 2 ใบ ปัญหามันจะเกิดขึ้นแบบไหน ยังมองไม่เห็นเหมือนกัน
ต้องอย่าลืมว่า หากกกต.คิดว่าการคำนวณส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ที่ตีขลุมคลุมไปถึงส.ส.พรรคเล็กได้ส.ส.พรรคละ 1 เสียงคือความถูกต้อง โดยที่ไม่ได้มีเบื้องลึกเบื้องหลังเพื่อช่วยพรรคการเมืองใดให้แก้ปัญหาตั้งรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำได้ การตีความแบบนี้จะต้องถูกนำไปใช้ในการคำนวณส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ตลอดไป ถือเป็นบรรทัดฐานที่จะถูกสร้างขึ้น ไม่รู้ว่ามองบริบททางการเมืองในอนาคตที่จะต้องเปลี่ยน ก้าวพ้นจากร่มเงาของเผด็จการกันบ้างหรือไม่
หรือหากคิดแค่ว่าอย่างไรเสียเผด็จการสืบทอดอำนาจก็อยู่ยาว และสามารถที่จะคุ้มกะลาหัวทุกองค์กรอิสระได้ ก็ต้องคิดต่อไปว่า ถ้าไม่มีมาตรา 44 เป็นยาวิเศษที่จะจัดการทุกเรื่องได้แล้ว จะอยู่กันอย่างไร คงต้องย้ำคำเดิมว่า ทำตัวให้เป็นกรรมการองค์กรอิสระอย่างแท้จริง มองสิ่งรอบข้างและมองอนาคตของประเทศเป็นสำคัญ ถ้าทำดี โปร่งใส ยุติธรรม เที่ยงธรรม ไม่ต้องกลัวว่าชะตากรรมของตัวเองจะเป็นอย่างไร หากไร้ซึ่งข้อกังขาต่อการทำหน้าที่แล้ว ประชาชนสองมือเปล่านี่แหละที่จะเป็นผู้ปกป้องคนทำดีเอง
หรือว่ายุคนี้มันคิดแบบนั้นไม่ได้ เพราะความจริงแล้วก็เป็นยุคของคนดี ยิ่งได้รับการการันตีจากอดีตผู้นำที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งว่าไม่โกง ยกหางกันแบบนี้ยิ่งตีอกชกตัวกันใหญ่ ถ้าคิดแล้วสบายใจและเชื่อว่าประชาชนยอมรับกันได้ ก็ให้เดินกันแบบนั้นต่อไป แต่ถ้ายังเชื่อว่าทุกอย่างต้องยึดระบบที่ถูกต้อง เดินตามกติกาที่เป็นธรรม ต้องเปลี่ยนความคิดและวิธีการกันเสียใหม่
ส่วนกรณีความพยายามแสดงพลังว่าเป็นขั้วที่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้แน่นอนของพรรคสืบทอดอำนาจนั้น วันนี้คนไม่ได้คิดแค่ว่าเพราะกลัวเสียหน้า เสียของที่ต้องพ่ายแพ้ให้กับพรรคนายใหญ่ หากแต่มองกันไปยังปัจจัยเรื่องของ “ทุน” ที่ใช้ในการเลือกตั้ง ไม่ต้องพูดถึงเรื่องกำไรที่จะได้เอาแค่ให้คุ้มทุนไม่เข้าเนื้อก็น่าจะพอใจแล้ว แต่การมีเครื่องหมายรับประกันว่าไม่โกงเดินบนถนนสายประชาธิปไตยที่ไม่ใช่อำนาจเผด็จการไร้การตรวจสอบ คิดจะถอนทุนกันเหมือนในอดีตมันคงไม่ง่ายอย่างแน่นอน