สัญญาณจาก ก.ล.ต.
ปีละครั้งได้อ่านรายงานประจำปีของหน่วยงานหลักกำกับดูแลตลาดทุนไทย ยังมีเรื่องราวน่าสนใจไม่น้อย
พลวัตปี 2019 : วิษณุ โชลิตกุล
ปีละครั้งได้อ่านรายงานประจำปีของหน่วยงานหลักกำกับดูแลตลาดทุนไทย ยังมีเรื่องราวน่าสนใจไม่น้อย
โดยเฉพาะช่วงรอยต่อที่เลขาธิการคนเดิม นายรพี สุจริตกุล หมดวาระ เพื่อส่งต่องานให้เลขาธิการคนใหม่
รายงานประจำปี 2561 ของ ก.ล.ต.ให้ภาพรวมของตลาดทุนไทยในปัจจุบันได้ดีพอสมควร แม้จะมีรายละเอียดของหน่วยงานที่คนภายนอกไม่ใส่ใจมากนัก แต่ก็ถือว่าดีกว่าเก็บเอาไว้ในแดนสนธยาอย่างที่คนเข้าใจกัน
อย่างน้อยที่สุดก็มีสัญญาณบางอย่างที่ชัดเจนให้รับรู้กัน
สัญญาณแรก เริ่มจาก ก.ล.ต.ฉายภาพปัจจุบันของสิ้นงวดเดือนกันยายนปี 2561 ว่า ตลาดทุนไทยมีขนาดใหญ่โตมากขึ้นคิดเป็นวงเงินรวม 22 ล้านล้านบาท [ตลาดสารสารทุน (หรือตลาดหุ้น) 18 ล้านล้านบาท ตลาดตราสารหนี้ 4 ล้านล้านบาท] หรือ 180% ของจีดีพีประเทศ
ในความใหญ่โตนี้ ก.ล.ต. ได้มองเห็น “ส้นเท้าอาคีลีส” อยู่ และกำลังดำเนินการแก้ไข นั่นคือคุณภาพด้านธรรมาภิบาลของบริษัทจดทะเบียนในตลาด อันเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น 1) ความบกพร่องของผู้ปฏิบัติงาน 2) ความบกพร่องของที่ปรึกษาการเงิน 3) การที่ก.ล.ต.ขาดเครื่องมือที่เพียงพอและขาดกลไกตลาดในการบังคับการทำงานของที่ปรึกษาการเงิน 4) ผู้ลงทุนในหลักทรัพย์ขาดความรู้ ความสนใจรักษาสิทธิ์ และไม่อยู่ในฐานะปกป้องสิทธิ์ได้
งานนี้ผู้ร้ายหนีไม่พ้นที่ปรึกษาการเงิน ซึ่งสาเหตุหนึ่งเกิดจากที่ปรึกษาการเงินบางราย เอาอกเอาใจหรือสมคบคิดกับผู้ถือหุ้นใหญ่และผู้บริหารกิจการเน่า ๆ ด้วยการทำตัวเป็น “ป้าชุลี” แต่งตัวให้กลายเป็นสาวงามขึ้นเวทีประกวดเพื่อสร้างราคาหลอกล่อก.ล.ต.จนสามารถระดมทุนในตลาดได้ จากนั้นก็ขายกิจการทิ้งไปแบบ “ตีหัวเข้าวัด”
ส่วนหนึ่งเพราะปัจจุบัน ที่ปรึกษาการเงินทุกราย อยู่นอกเหนือการกำกับดูแลของ ก.ล.ต. ซึ่งมีอำนาจเพียงแค่ให้ใบอนุญาตหรือถอดถอนใบอนุญาตเท่านั้น ด้วยเหตุผลที่ยากจะเข้าใจว่าเหตุใดจึงออกไปอยู่นอกระบบเช่นนี้
ภารกิจในการปรับปรุงและยกระดับธรรมาภิบาลของบริษัทจดทะเบียน จึงเปรียบเสมือน “งานที่ไม่เคยแล้วเสร็จ” ของหน่วยงานนี้
ยอมรับกันตรง ๆ ก็คงว่าอะไรกันต่อไม่ได้ เพราะเสียงบ่นว่า ก.ล.ต.ที่ยินยอมอนุญาตให้บริษัทเน่า ๆ เข้ามาหลอกลวงนักลงทุนในตลาดเกลื่อนกลาดดังที่ปรากฏให้เห็นกันจนน่ารำคาญ
สัญญาณต่อไป มีตัวอย่างน่าสนใจ ซึ่งอยู่ในคำพูดของนายรพีเองคือ ในเรื่องความเสี่ยงของระบบการซื้อขายในปี 2560 ได้เกิดเหตุการณ์เบี้ยวหรือผิดนัดชําระหนี้ของผู้ออกตราสารหนี้ระยะสั้นในรูป ตั๋วแลกเงินหรือ บี/อี ที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของตลาดทุนโดยรวม
ปรากฏว่า หลังจากที่ ก.ล.ต. ได้ปรับปรุงกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องแล้ว พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่ดีในเชิงโครงสร้าง ทำให้ในปี 2561 ตลาดตราสารหนี้มีความราบรื่นดี โดยที่สัดส่วนการระดมทุนด้วยตั๋วแลกเงินลดลงอย่างต่อเนื่องบริษัทจำนวนมาก หันไปออกหุ้นกู้ซึ่งมีกลไกให้ความคุ้มครองผู้ลงทุนมากกว่า
นอกจากนี้ บริษัทมีแนวโน้มที่จะออกหุ้นกู้ระยะยาวเพิ่มขึ้นด้วย
ทำดีอย่างนี้ จะโอ่อวดผลงานกันบ้าง ก็ไม่น่าคลื่นไส้
สัญญาณที่สามก็ยิ่งน่าสนใจ เพราะ ก.ล.ต.เตรียมแนวทางออกกฎเกณฑ์ตอบโจทย์และไม่เป็นภาระเกินจำเป็นเพื่อใช้เป็นแนวทางสําหรับการออกกติกาและกฎเกณฑ์ที่มีประสิทธิภาพและเกิดผลสัมฤทธิ์ตามที่คาดหวัง
แม้จะไม่รู้รายละเอียดแต่ก็เป็นสัญญาณที่ดี อย่างน้อยก็รู้ว่าคิดล่วงหน้าอะไร
สัญญาณสุดท้ายดูเหมือนจะดีสำหรับบริษัทจดทะเบียนและกองทัพทั้งหลาย แต่เป็นสัญญาณร้ายสำหรับสื่อหนังสือพิมพ์และสื่อออนไลน์โดยตรง นั่นคือแนวยุทธศาสตร์ที่จะให้บริษัทจดทะเบียนสามารถสื่อสารกับตลาดหรือนักลงทุนผ่านเครือข่ายสื่อออนไลน์โดยตรง แทนที่จะผูกมัดว่าต้องลงประกาศหรือโฆษณาผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ 3 ฉบับตามกติกาเดิม
แนวทางนี้ คาดว่าดำเนินรอยตามตลาดที่พัฒนาไปไกลแล้วอย่างสหรัฐฯ หรือยุโรป ที่บริษัทสามารถสื่อสารผ่านทางเฟซบุ๊ก หรือ ทวิตเตอร์ได้เลย โดยไม่ต้องลงตีพิมพ์ในสื่อออนไลน์หรือสิ่งพิมพ์อื่น ๆ
แม้จะไม่รู้อีกเช่นกันว่า ปฏิบัติการนี้จะเริ่มมีผลบังคับเมื่อใด แต่เชื่อได้ว่าบังคับใช้เมื่อใด หายนะครั้งใหม่ของสื่อสิ่งพิมพ์หรือออนไลน์ที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุน มาเยือนแน่นอน
จะมากหรือน้อย ก็เป็นข่าวร้ายอยู่ดี