หุ้นกำลังภายใน

คงไม่ต้องสืบสาวราวเรื่องให้มากความว่าใครต้องรับผิดชอบในกรณีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 4/2562 เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม


พลวัตปี 2019 : วิษณุ โชลิตกุล

คงไม่ต้องสืบสาวราวเรื่องให้มากความว่าใครต้องรับผิดชอบในกรณีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 4/2562 เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม

คำสั่งดังกล่าว อ้างเหตุผลข้าง ๆ คู ๆ ว่า สืบเนื่องจากสภาพปัญหาการแข่งขันทางธุรกิจสำหรับกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมในปัจจุบัน ทำให้ชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตไม่ทันกำหนด

เสียงวิพากษ์ถึงความไม่ชอบมาพากลว่าคำสั่งพิลึกข้างต้นเป็นการ “ผสมโรง” เพื่อ “ช่วยเหลือ” ผู้ประกอบการโทรคมนาคม 2 รายที่ประมูลคลื่น 4G ย่าน 900 MHz คือ เอไอเอสและทรู โดยจะให้ผ่อนผันการจ่ายค่าประมูลคลื่นงวดที่ 4 ซึ่งเป็นงวดสุดท้าย จากเดิมที่ต้องจ่ายให้เสร็จในปี 2563 กว่า 6.5 หมื่นล้านบาท เป็นการทยอยจ่ายไปอีก 5 งวดไปจนถึงปี 2567 น่าจะดังขึ้นเรื่อย และเป็นงานยากสำหรับ “ตราบาป” ที่ คสช.และ กสทช.ร่วมสมคบคิดทำขึ้น

เพียงแต่ในมุมของนักลงทุนแล้ว คำสั่งดังกล่าวคือการ “กระชากวิญญาณ” ให้ราคาหุ้น ADVANC และ DTAC ที่ทำท่าจะย่ำแย่ในปีหน้ากลับจากขุมนรก มาขึ้นสรวงสวรรค์อีกครั้ง

บทวิเคราะห์จากฟิทช์ เรทติ้งส์ บอกอะไรได้มากกว่าคำอธิบายอื่น ๆ

ฟิทช์คาดว่าการขยายระยะเวลาการชำระค่าคลื่นความถี่ 900 MHz จะช่วยเพิ่มความสามารถในการรองรับหนี้สินโดยไม่กระทบต่ออันดับเครดิตของ AIS และ DTAC โดยเฉพาะในปีที่บริษัทต้องชำระค่าคลื่นความถี่ในจำนวนที่สูง ซึ่งได้แก่ปี 2563 สำหรับ AIS และปี 2565 สำหรับ DTAC โดยหาก AIS และ DTAC เข้าร่วมมาตรการการขยายระยะเวลาชำระค่าคลื่นดังกล่าว ฟิทช์คาดว่าประมาณการอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO-Adjusted Net Leverage) ของ AIS ในปี 2563 จะลดลง 0.5 เท่าเป็น 1.4 เท่า ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินของ DTAC จะลดลง 0.4 เท่า เป็น 2.3 เท่าในปี 2565 โดยฟิทช์มองว่าระดับอัตราส่วนหนี้สินสำหรับ AIS สูงเกิน 2.0 เท่า และ ของ DTAC สูงเกิน 2.5 เท่า อาจส่งผลทางด้านลบต่ออันดับเครดิต

ภายใต้เงื่อนไขการขยายระยะเวลาการชำระค่าคลื่นความถี่ 900 MHz ค่าคลื่นความถี่ค้างจ่ายของ AIS จำนวน 6.4 หมื่นล้านบาท จะถูกแบ่งชำระเป็นงวด งวดละเท่า ๆ กันจำนวน 1.06 หมื่นล้านบาทต่อปี ในช่วงปี 2563-2568 จากเดิมที่ต้องชำระในปี 2562 จำนวน 4 พันล้านบาท และ 6 หมื่นล้านบาทในปี 2563 ในขณะที่งวดการชำระค่าคลื่นความถี่ของ DTAC จะอยู่ที่งวดละ 3.7 พันล้านบาทต่อปี ในช่วง 2563-2570 เมื่อเปรียบเทียบกับเงื่อนไขการชำระค่าคลื่นความถี่เดิมที่ต้องชำระเงินจำนวน 2 พันล้านบาทต่อปี ในปี 2563-2564 และส่วนที่เหลือจำนวน 2.58 หมื่นล้านในปี 2567

แม้ฟิทช์จะไม่ได้เอ่ยถึง TRUE แต่นักวิเคราะห์หลายสำนักระบุประกาศคำสั่งคสช.ตามมาตรา 44 อุ้มค่ายมือถือด้วยการยืดจ่ายค่าคลื่น 900 MHz งวดที่ 4 นำเงินมาประมูล 5G สมควรแนะนำ “ซื้อ” หุ้น TRUE (รวมทั้ง DIF) โดยให้ราคาเป้าหมายที่ 6.80 บาทจาก Sentiment บวกจากข่าวที่เกิดขึ้นมองว่า TRUE ได้ประโยชน์มากสุด เนื่องจากจะมีกำไรเพิ่มขึ้นจากค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยที่คาดว่าจะลดลง 2 พันล้านบาท/ปี รวมถึงยังลดแรงกดดันต่อประเด็นของการเพิ่มทุน และ Valuation เพิ่มขึ้นจาก Cash outflow ที่ลดลง

บทวิเคราะห์ที่กล่าวมา ลบล้างความชอบธรรมของข้ออ้าง “…จึงต้องปรับปรุงหลักเกณฑ์ ขั้นตอนและกำหนดระยะเวลาในการชำระค่าธรรมเนียม เพื่อให้ประกอบกิจการได้ต่อไปโดยไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชน สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ประกอบการ และเพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการร่วมประมูลคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) และ 2,600 MHz ซึ่งจะก่อให้เกิดการขับเคลื่อนเทคโนโลยี 5G …” อย่างเบ็ดเสร็จ

คำวิจารณ์จากประธาน TDRI ที่ระบุว่า คำสั่งตามมาตรา 44 ขาดความรับผิดชอบในการใช้อำนาจ เพราะออกมาขาดความรับผิดชอบอย่างยิ่ง การที่จู่ ๆ หน่วยงานรัฐจะไปลดเงินที่จะได้รับจากเอกชนอันมาจากการยืดหนี้ คงจะหนีไม่พ้นกับการถูกดำเนินคดีทางอาญา หรือติดคุกได้ถ้าไปยกประโยชน์ให้เอกชนแบบไม่มีเหตุไม่มีผล หนทางที่จะทำให้กสทช. และเลขาธิการ กสทช. รอดพ้นคือใช้ ม.44 เพราะประชาชนไปฟ้องดำเนินคดีไม่ได้

นอกจากนั้นคำอธิบายถึงความไม่ชอบมาพากลในเงื่อนเวลาของคำสั่งที่ว่า การมีคำสั่งเช่นว่าหลังเลือกตั้ง ก็เพื่อไม่ให้พรรคการเมืองอื่นโจมตีพรรคที่สนับสนุน คสช. ว่าสนับสนุนนายทุนการดำเนินการในช่วงสงกรานต์ก็ถือเป็นการใช้จังหวะที่ประชาชนติดตามข่าวสารกันน้อยเพราะเป็นวันหยุดยาว เช่นเดียวกันกับการออกคำสั่งอุ้มผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือและผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลไปพร้อมกัน ยังทำให้สื่อโทรทัศน์หลีกเลี่ยงที่จะตรวจสอบเรื่องดังกล่าวเพราะตนก็ได้รับประโยชน์ ก็มีน้ำหนักมากขึ้น

ที่ร้ายกว่านั้น การให้อำนาจดุลพินิจแก่เลขาธิการ กสทช. มากก็มีความเสี่ยงจะทุจริตคอร์รัปชันมาก ในคำสั่งที่ออกมาตาม ม.44 เขียนว่า กรณีใดที่มีปัญหาวินิจฉัยตามคำสั่งนี้ ให้เลขาธิการ กสทช. มีอำนาจวินิจฉัย และคำวินิจฉัยของเลขาธิการ กสทช. ถือเป็นที่สิ้นสุด ข้อสังเกตที่ไม่ควรลืมคือครั้งนี้ คสช.มอบอำนาจดุลพินิจมหาศาลให้กับบุคคลเดียว ไม่ใช่กสทช.ทั้งคณะ เหมือนให้เช็คเปล่า

การให้อำนาจดังกล่าวอย่างสุดลิ่ม สอดรับกับก่อนหน้านี้ คสช.ยังมีคำสั่งตาม ม.44 ให้ระงับการสรรหา       กรรมการ กสทช. ไว้ เท่ากับว่า กสทช.ชุดนี้สามารถอยู่ได้ตลอดชีวิตหากไม่มีการสรรหาใหม่ อาจมีเรื่องเกษียณที่ล็อกไว้ตามกฎหมาย แต่จะไม่มีการสรรหาใหม่ การใช้อำนาจ ม.44  ครั้งนี้ก็ไม่ได้ยกเลิกคำสั่งดังกล่าว

ถ้าจะเชื่อกันว่า คำสั่งมาตรา 44 เป็นการยกอนาคตของประเทศนี้ให้กับ 3 ค่ายมือถือก็อาจไม่ถูกทั้งหมด แต่ก็ไม่ผิดอะไร

ใครถือหุ้น ADVANC, DTAC, TRUE(DIF) นั่งนอนรอรับปันผลไปยาวได้ เพราะกำลังภายในมหาศาลไร้เทียมทาน

Back to top button