มายาประชารัฐ

ทันทีทันใดที่มีข่าวลบจากวงการธนาคารพาณิชย์ว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาสสองปีนี้จะทรงตัวหรือชะลอตัวลง ตามด้วยข่าวว่ากระทรวงพาณิชย์เผยตัวเลขส่งออกเดือนมีนาคมหดตัว -4.88% ยังผลให้ไตรมาสแรกหดตัว 1.64% ในขณะที่การนำเข้าติดลบมากถึง -7.63% และไตรมาสแรกติดลบ -1.20% ส่งผลให้ตัวเลขเกินดุลการค้า 2 พันล้านดอลลาร์ในเดือนมีนาคมและไตรมาสแรกไร้ความหมาย เก้าอี้ของทีมเศรษฐกิจรัฐบาลก็ร้อนฉ่า


พลวัตปี 2019 : วิษณุ โชลิตกุล

ทันทีทันใดที่มีข่าวลบจากวงการธนาคารพาณิชย์ว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาสสองปีนี้จะทรงตัวหรือชะลอตัวลง ตามด้วยข่าวว่ากระทรวงพาณิชย์เผยตัวเลขส่งออกเดือนมีนาคมหดตัว -4.88% ยังผลให้ไตรมาสแรกหดตัว 1.64% ในขณะที่การนำเข้าติดลบมากถึง -7.63% และไตรมาสแรกติดลบ -1.20% ส่งผลให้ตัวเลขเกินดุลการค้า 2 พันล้านดอลลาร์ในเดือนมีนาคมและไตรมาสแรกไร้ความหมาย เก้าอี้ของทีมเศรษฐกิจรัฐบาลก็ร้อนฉ่า

เดือดร้อนให้นักสร้างภาพการตลาดด้านการเมือง ผู้ชอบแหงนคอดูฟ้า อย่างนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ต้องเคลื่อนไหวออกมาสั่งให้กระทรวงการคลังเร่งออกมาตรการเฉพาะกิจส่งเสริมการท่องเที่ยว ทุ่มงบ 1.5 หมื่นล้านบาท ผุดมาตรการแจกเงินเที่ยวเมืองรองกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชะลอตัวต่อเนื่อง

รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง ระบุว่า กระทรวงการคลังจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบภายใน 2 สัปดาห์ เพื่อให้มีผลทันที หลังจากเศรษฐกิจไตรมาส 1-2 มีสัญญาณชะลอตัว จากเศรษฐกิจโลกผันผวน และปัญหาการเมืองภายในประเทศ กระทบความเชื่อมั่นผู้บริโภคและนักลงทุน

มาตรการเร่งด่วนดังกล่าวไม่ใช่ของใหม่ เพราะใช้กันมาซ้ำซากนับตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมาและรู้กันว่าลอกแบบการกระทำที่เรียกว่า เฮลิคอปเตอร์ มันนี่ อันเป็นรูปแบบนโยบายประชานิยมที่รัฐบาลต่าง ๆ เอามาใช้ยามเข้าตาจนเฉพาะหน้า

ไม่มีใครเก็บสถิติชัดเจนว่า โครงการหว่านเงินแบบประชานิยมที่แปลงชื่อใหม่เป็นประชารัฐของรัฐบาลชุดพลเอกประยุทธ์ เป็นวงเงินเท่าใดกันแน่ และยิ่งหากต้องการหาว่า ประสิทธิผลที่ทำให้เกิดการต่อยอด “ผลิตซ้ำ” ของจีดีพี ก็คงยากกันไปใหญ่

รู้กันแค่ว่า มาตรการ “เฮลิคอปเตอร์ มันนี่” ในนามของขวัญแด่คนจน ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นการแบ่งเศษเนื้อข้างเขียงอย่างถูลู่ถูกังเพื่อให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจออกมาดูดีเฉพาะหน้าเท่านั้น ไม่ได้แก้ปัญหาอะไร หรือขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามแผนยุทธศาสตร์ 20 ปีอันสวยหรูแต่อย่างใด

โดยภาพรวม ภาพชัดเจนของปรากฏการณ์ รวยกระจุก จนกระจาย ยังดำเนินไป ไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดที่ใด

ในโลกยุคร่วมสมัย สมัยรัฐบาลนายคิอิชิ มิยาซาว่า ของญี่ปุ่น เมื่อกว่า 20 ปีก่อน เคยนำนโยบายดังกล่าวมาใช้อย่างเป็นล่ำเป็นสันยากที่เงินฝืดรุนแรงหลังยุคฟองสบู่เศรษฐกิจแตกซึ่งเป็นส่วนผสมของนโยบายการเงินและการคลังมาใช้แล้ว แต่ได้ผลไม่มาก

นโยบายนี้ แรกสุดมีคนไม่ค่อยกล้าใช้ จนกระทั่งหลังวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในสหรัฐฯ หรือ ยุควิกฤติซับไพรม์ นักบริหารนโยบายการเงินที่จนแต้มในเฟดหรือธนาคารกลางสหรัฐ ก็เลิกเหนียมอายที่จะนำมาใช้ เริ่มต้นในยุคของนายเบน เบอร์นันเก้ (จนเขามีฉายาว่าเฮลิคอปเตอร์ เบน)

คำว่า เฮลิคอปเตอร์ มันนี่ เป็นนิยามที่ มิลตัน ฟรีดแมน นักเศรษฐศาสตร์อเมริกันรางวัลโนเบล แห่งสำนักชิคาโก เคยใช้เรียกมาตรการ นิว ดีล ของรัฐบาลอเมริกันยุคแฟรงคลิน ดี. รูสเวลท์ ก่อนสงครามโลกครั้งที่สองว่าเป็นมาตรการทางการคลัง ที่เอางบประมาณรัฐไปจ่ายโดยตรง (ผ่านหลายช่องทาง รวมทั้งการลดหรืองดภาษีบางภาคชั่วขณะ) เป็นจุดที่มีปัญหาโดยตรงเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อชั่วคราว เสมือนเฮลิคอปเตอร์หย่อนถุงยังชีพเป็นจุด ๆ ชั่วขณะไม่ใช่ทางเลือกที่ยั่งยืนเป็นการทั่วไปในการฟื้นเศรษฐกิจ

นักเศรษฐศาสตร์ที่เถรตรง ถือว่านี่เป็นการสูญเปล่า เพราะประชาชนบางกลุ่มเท่านั้นที่ได้รับ “เศษเนื้อข้างเขียง” ปรนเปรอชั่วคราว แต่สำหรับคนในรัฐบาลที่บริหารนโยบายสาธารณะถือว่าเป็น “ยากล่อมประสาทที่จำเป็น” เพื่อบรรเทาเสียงก่นด่าของประชาชน

เฮลิคอปเตอร์ มันนี่ ที่เริ่มใช้จริงจังสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในนามมาตรการ “ไทยเข้มแข็ง” ได้ถูกปัดฝุ่นขึ้นมาใช้ใหม่ในยุครัฐบาลประยุทธ์ในนามโครงการประชารัฐโดยเริ่มนโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ “บัตรคนจน” ตั้งแต่ปลายปี 2560 ถึงปัจจุบันอนุมัติงบประมาณไปแล้วเกิน 1 แสนล้านบาท

ความสำเร็จเฉพาะหน้าทำให้ทีมงานนายสมคิด มั่นใจมากขึ้นในการใช้เฮลิคอปเตอร์ มันนี่ เพื่อหวังผลทางการเมืองในกลุ่มคนเป้าหมายเป็นระยะ ๆ รวมทั้งแจกอินเทอร์เน็ตทางโทรศัพท์มือถือให้ผู้ถือบัตรคนจนทั่วประเทศอีกคนละ 50 บาท/เดือน

โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ “บัตรคนจน” เป็นนโยบายที่ริเริ่มในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือน ต.ค. 2560 เป็นต้นมา โดยในเฟสแรกมีผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศผ่านเกณฑ์ได้บัตรคนจนทั้งสิ้น 11.67 ล้านคน  สำหรับในเฟสแรก สวัสดิการที่ผู้ถือบัตรจะได้รับก็คือ วงเงินสำหรับซื้อสินค้าจำเป็น 200-300 บาท/คน/เดือน โดยจะได้วงเงินเท่าใดขึ้นอยู่กับรายได้ หากรายได้น้อยกว่า 30,000 บาท/ปี จะได้วงเงินทั้งสิ้น 300 บาท/เดือน แต่ถ้ารายได้เกิน 30,000 บาท แต่ไม่ถึง 100,000 บาท/ปี จะได้วงเงินสำหรับซื้อสินค้าทั้งสิ้น 200 บาท/เดือน (รวมทั้งการให้ส่วนลดค่าก๊าซหุงต้ม 45 บาท/3 เดือน และค่าเดินทางขนส่งสาธารณะต่าง ๆ) โดยรวมแล้ว เฟสแรกของโครงการบัตรคนจน ใช้งบประมาณไปทั้งสิ้น 41,940 ล้านบาท

ในเฟสที่สอง ซึ่งมีโครงการย่อยทั้งสิ้น 34 โครงการใน 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการมีงานทำ ด้านการอบรมและการศึกษา ด้านการเข้าถึงแหล่งทุนในระบบ และด้านการเข้าถึงสิ่งจำเป็นพื้นฐาน โดยมีมาตรการสำคัญคือการเพิ่มวงเงินซื้อสินค้าในบัตรคนจนอีก 100-200 บาท/คน/เดือน ขึ้นอยู่กับระดับรายได้  โครงการในเฟส 2 นี้ใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้นอีก 35,679 ล้านบาท

เฟสที่สาม ปลายปี 2561 มีการอนุมัติเงินงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐโดยใช้วงเงินอีกกว่า 38,730 ล้านบาทเพื่ออุดหนุนผู้ถือบัตรทั่วประเทศที่เพิ่มขึ้นเป็น 14.5 ล้านคน  โดยจะอุดหนุนค่าน้ำประปาและค่าไฟฟ้าให้ผู้ถือบัตรไปอีก 10 เดือน อีกทั้งยังมอบของขวัญปีใหม่เป็นเงินสด 500 บาท ซึ่งผู้ถือบัตรสวัสดิการสามารถเบิกเป็นเงินสดออกมาจากบัตรได้

เฟสสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งมีการหว่านเฮลิคอปเตอร์ มันนี่ ด้วยการทุ่มงบประมาณรวมกว่า 1 แสนล้านบาท เพิ่มมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจน ทั้งค่าน้ำ ค่าไฟ เติมเงินเพิ่มให้ผู้ถือบัตร สนับสนุนค่าเช่าบ้าน-ค่าเดินทางไปโรงพยาบาลของผู้สูงอายุ เติมเงินข้าราชการเกษียณ และปล่อยกู้บ้านด้วยความหวังว่าจะทำให้พรรคร่างทรงรัฐบาลชนะการเลือกตั้งสารพัด โดยเพิกเฉยต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการใช้งบประมาณหาเสียงล่วงหน้า แต่อ้างว่าต้องการให้เป็นของขวัญปีใหม่

มาตรการเฮลิคอปเตอร์ มันนี่ ในหลายรูปแบบนี้ แม้ในทางเศรษฐศาสตร์จะถือว่าไม่ได้ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโต แถมยังสร้างปัญหาที่กลไกรัฐเข้าไปเบียดเบียนการลงทุนภาคเอกชนในระยะยาว แต่เมื่อมีคนเริ่มเสพติดมาตรการนี้เสียแล้ว ผลเสียหายคงจะถูกกลบเกลื่อนในระยะเฉพาะหน้า จนกว่าเมื่อฐานะการคลังของรัฐบาลเสื่อมทรุดลงไป

การเสพติดเฮลิคอปเตอร์ มันนี่ จึงเป็นมายาที่เข้าใจได้ แต่ต้องระวังให้ดีเพราะเปรียบเสมือนการฆ่าตัวตายแบบผ่อนส่ง

Back to top button