คดีโฮปเวลล์

คดีพิพาทระหว่างบริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด กับกระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย (“รฟท.”) มีประเด็นน่าสนใจหลายประการ


Cap & Corp Forum

คดีพิพาทระหว่างบริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด กับกระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย (“รฟท.”) ที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลปกครองกลางให้บังคับคดีตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ และมีผลให้ฝ่ายเอกชนชนะคดีหน่วยงานรัฐและรัฐต้องชดใช้เงินจำนวนกว่า 12,000  ล้านบาท มีประเด็นน่าสนใจหลายประการโดยเฉพาะการปรับบทกฎหมายที่แตกต่างกันระหว่างศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุดในประเด็นอายุความการใช้สิทธิตามกฎหมายซึ่งถือเป็นประเด็นแห่งการแพ้ชนะคดีกันเลยทีเดียว

เกี่ยวกับเรื่องอายุความ มีหลักการสำคัญ 4 ประการที่เป็นข้อกฎหมายสำคัญในคดีนี้ กล่าวคือ

  1. ศาลไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบหรือแก้ไขคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการได้เว้นแต่ต้องด้วยกรณีตามที่กฎหมายบัญญัติเท่านั้น ซึ่งไม่ว่าจะเป็นพ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 หรือ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 ที่ใช้บังคับอยู่ในช่วงของกระบวนพิจารณาในชั้นอนุญาโตตุลาการต่างกำหนดให้ศาลมีอำนาจเพิกถอนหรือไม่บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการได้หากการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
  2. อายุความเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
  3. ข้อพิพาทใดที่อาจเสนอเป็นคดีต่อศาลได้ภายในอายุความการฟ้องคดี ข้อพิพาทนั้นก็สามารถเสนอต่ออนุญาโตตุลาการได้ภายในกำหนดระยะเวลาเดียวกัน
  4. การนับอายุความต้องนับอายุความตามบทบัญญัติที่ใช้บังคับในขณะที่ศาลทำการพิจารณาคดีและอายุความใหม่ใช้ย้อนหลังได้ ซึ่งอาจมีผลเป็นการย่นหรือขยายอายุความเดิม

ในการพิจารณาคดีของศาลปกครองกลางนั้น ศาลปกครองกลางพิจารณาเห็นว่าการที่โฮปเวลล์ยื่นเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการเพื่อพิจารณาในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2547 นั้น เป็นการยื่นเสนอข้อพิพาทเมื่อพ้นกำหนดอายุความ 5 ปี ตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2551 ซึ่งกำหนดว่าการฟ้องคดีเกี่ยวกับข้อพิพาทตามสัญญาทางปกครอง ให้ยื่นฟ้องภายใน 5 ปีนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี และประเด็นอายุความการใช้สิทธิ ศาลเห็นว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เมื่อโฮปเวลล์ใช้สิทธิเมื่อพ้นกำหนดอายุความ ศาลจึงไม่สามารบังคับตามคำชี้ขาดหรือให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการได้

ในประเด็นนี้ ท่านผู้อ่านต้องเข้าใจก่อนว่าการจัดตั้งศาลปกครองและการมีกฎหมายวิธีพิจารณาคดีปกครองเป็นเรื่องใหม่ ณ ขณะที่คู่สัญญาลงนามในสัญญาสัมปทานเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2533 นั้น กฎหมายที่ใช้บังคับกับสัญญาคือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (“ป.พ.พ.”) เท่านั้น โดยมาตรา 193/30 ของป.พ.พ.กำหนดอายุความในการใช้สิทธิไว้ 10 ปี ซึ่งยาวกว่าที่พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ กำหนดไว้เพียง 1 ปี และต่อมาได้แก้ไขเป็น 5 ปี

ต่อมาอายุความ 5 ปีตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551 แต่ว่าคดีนี้โฮปเวลล์ได้เสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการตั้งแต่เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2547 ซึ่งขณะที่คณะอนุญาโตตุลาการพิจารณาข้อพิพาท พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ กำหนดอายุความไว้เพียง 1 ปี แต่ในการพิจารณาคดีของศาล ศาลปกครองกลางใช้กำหนดอายุความย้อนหลังให้ โดยขณะที่ฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลางอายุความใช้สิทธิที่กฎหมายกำหนดไว้คือ ใช้สิทธิโดยกระบวนการอนุญาโตตุลาการก็ต้องใช้อายุความ 5 ปี เช่นกัน ศาลจึงพิจารณาว่า ณ วันที่ 24 พฤศจิกายน 2547 นั้นยังอยู่ภายในระยะเวลา 5 ปีหรือไม่นับจากวันที่เกิดข้อพิพาทระหว่างโฮปเวลล์และร.ฟ.ท.

ตามข้อเท็จจริงในคดี ศาลปกครองกลางเห็นว่า วันที่ถือได้ว่าเป็นเหตุแห่งการโต้แย้งสิทธิและให้สิทธิแก่โฮปเวลล์ในการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการคือวันที่ 30 มกราคม 2541 อันเป็นวันที่โฮปเวลล์ได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาสัมปทานจากร.ฟ.ท. ซึ่งจะครบกำหนด 5 ปี ในวันที่ 30 มกราคม 2546 ดังนั้น เมื่อโฮปเวลล์เสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2547 คดีจึงเป็นอันขาดอายุความใช้สิทธิแล้ว

แต่ในขณะที่ศาลปกครองสูงสุดมีความเห็นต่างในประเด็นของการเริ่มนับระยะเวลา 5 ปี เนื่องจากศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า ระยะเวลานั้นควรเริ่มนับในวันที่ศาลปกครองกลางเปิดดำเนินการแล้วเพราะเป็นวันที่คู่กรณีสามารถใช้สิทธิได้อย่างแท้จริง แม้ว่ากรณีนี้คู่กรณีจะไม่ได้ใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลทันทีก็ตาม ดังนั้น เมื่อศาลปกครองกลางเปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2544 อายุความใช้สิทธิจึงต้องเริ่มนับจากวันที่ 9 มีนาคม 2544 มิใช่วันที่ 30 มกราคม 2541 ตามที่ศาลปกครองกลางวินิจฉัย เมื่อโฮปเวลล์เสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2547 คดีจึงยังไม่ขาดอายุความ

เมื่อศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยแล้วว่าไม่มีเหตุเพิกถอนคำชี้ขาดอันเนื่องมาจากปัญหาอายุความ จากนั้นศาลจึงได้เข้าไปวินิจฉัยในประเด็นแห่งเนื้อหาที่แท้จริงว่าคณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดโดยไม่ชอบหรือฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายในประเด็นอื่น ๆ หรือไม่ ซึ่งในส่วนนี้ศาลปกครองกลางยังไม่ได้วินิจฉัย และเมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าการดำเนินการในชั้นอนุญาโตตุลาการชอบด้วยกฎหมายแล้วและไม่ปรากฏประเด็นอื่นที่จะทำให้คำชี้ขาดไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลจึงได้มีคำพิพากษาให้กลับคำพิพากษาของศาลปกครองกลางและให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการและให้คู่สัญญาฝ่ายรัฐปฏิบัติตามคำพิพากษาภายใน 180 วัน.

Back to top button