จาก ‘รพี’ ถึง ‘รื่นวดี’

วันนี้ (2 พ.ค.) เลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. คนใหม่จะเริ่มทำหน้าที่เป็นทางการ


ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร

วันนี้ (2 พ.ค.) เลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. คนใหม่จะเริ่มทำหน้าที่เป็นทางการ

นั่นคือ “รื่นวดี สุวรรณมงคล” อดีตอธิบดีกรมบังคับคดี

ก่อนหน้านี้ “รื่นวดี” ก็เคยทำงานกับ ก.ล.ต.มาแล้วพักใหญ่

ก่อนที่จะลาออกไป อยู่กับหลายหน่วยงาน

และเชื่อว่า หลาย ๆ คนในวงการตลาดทุนต่างเฝ้าจับตาการเข้ามาของ เลขาฯ ก.ล.ต. คนใหม่พอสมควร

และอาจจะมีการไปเปรียบเทียบกับคนเก่าอย่าง พี่ตุ้ย “รพี สุจริตกุล”

แน่นอนว่า ในช่วงที่ “รพี” รั้งตำแหน่ง เลขาฯ ก.ล.ต.อยู่

มีทั้งสร้างความพอใจ และไม่พอใจให้กับคนหลายคนพอสมควร ทั้งด้านนโยบายต่าง ๆ การเปลี่ยนแปลงแก้ไข พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ รวมถึงการแก้ไขหลักเกณฑ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุน

ทั้งข้อบังคับที่ใช้กับธุรกิจบริษัทหลักทรัพย์

รวมถึงธุรกิจจัดการกองทุน หลักเกณฑ์การออกกองทุนต่าง ๆ ที่มีการปรับเปลี่ยนแก้ไขค่อนข้างมาก

ทว่า ยังมีประเด็นที่ดูเหมือนสร้างความฮือฮามากพอสมควร

นั่นคือ Enforcement  หรือการนำผู้กระทำผิดมาลงโทษได้รวดเร็วขึ้น ไม่ต้องรอหลายขั้นตอน หรือใช้เวลานานมาก กว่าจะ

ลงโทษกันได้

ในช่วงที่ “รพี” บริหาร ต้องยอมรับว่า มีคนดังในวงการตลาดหุ้นถูกกล่าวโทษ และลงโทษจำนวนมาก

ทั้งผู้บริหารระดับสูงตั้งแต่ประธานกรรมการของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) หลายแห่ง

และลงมาถึงกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน

หรือแม้กระทั่งผู้ถือหุ้น กลุ่ม ก๊วนต่าง ๆ

หาก ก.ล.ต.ตรวจสอบแล้วพบความผิด ถูกเชือดทุกรายครับ แทบไม่มีใครรอด

รพี เคยกล่าวเปิดใจกับ สื่อมวลชน ในวันเลี้ยงอำลาตำแหน่งครับ

เขาบอกว่า วันแรก ๆ ที่เข้ามาทำงาน ได้เดินสายพบพนักงานทุก ๆ ชั้น

เป้าหมายเพื่อบอกให้พวกเขาเข้าใจ พยายามใส่ไปใน DNA ของคน ก.ล.ต. คือ “เปิดใจ รู้จริง ร่วมมือ และซื่อตรง”

ทว่า ตัวเขาเอง ก็ยอมรับว่า บุคลากรใน “สายงานกำกับ” นั้น ต่างไม่เคยอยู่ในภาคธุรกิจจริง

และนั่นจึงเป็น “จุดอ่อน” ตรงที่ไม่รู้ว่ากฎเกณฑ์ที่ออกมาเป็น “อุปสรรค” ต่อผู้ใช้งานหรือไม่

และเกณฑ์เมื่อออกไปปฏิบัติไม่ได้ ก็ไม่เกิดผล ดังนั้นในการดำเนินการใด ๆ จะต้องมีโจทย์ที่ชัดเจน ผลลัพธ์ที่ออกมาก็จะถูกต้อง

“รพี” เคยเปรียบเทียบให้เห็นภาพว่าเหมือนกับ รปภ.ที่ขับรถไม่เป็น

แต่ต้องมาโบกรถในที่จอด แทนที่จะอำนวยความสะดวก

กลับกลายเป็นว่าคนจอด จอดได้ยากกว่าเดิม เพราะ รปภ.มายืนขวางทาง

ดังนั้นการ “เปิดใจ” ของคน ก.ล.ต. จึงมีความสำคัญ

“สิ่งที่คนภายนอกอาจไม่ได้เห็นคือการจัด Life Coach อย่างเข้มข้น เพื่อให้พนักงาน ก.ล.ต. มีความเข้าใจตน เพื่อทำหน้าที่ในการกำกับดูแลผู้อื่นด้วยความเข้าใจ เปิดใจกว้างยอมรับในความเป็นจริงของอีกฝั่ง”

หลังการหมดวาระการดำรงตำแหน่ง “รพี” บอกว่า เขาไม่สามารถทำงานในวงการตลาดทุนได้จนกว่าจะเลย 2 ปี

ส่วนจะไปทำอะไรต่อนั้น ไม่ได้มีการแจ้งไว้

อาจพักผ่อนสักระยะ แล้วค่อยมองหาอะไรทำต่อไป

สำหรับ “รื่นวดี” นั้น ขอนำประวัติมาลงอีกครั้ง โดยเกิดวันที่ 4 พฤศจิกายน 2507 จบการศึกษาเนติบัณฑิตไทย (นบ.ท.) สำนักอบรมกฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา, นิติศาสตรมหาบัณฑิต (LL.M.) Harvard Law School, the United States of America ,  บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต (M.B.A.) Walter A. Haas School of Business, University of California ,Berkeley, the United States of America และนิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เคยทำงานอยู่กับสำนักงาน ก.ล.ต., เคยเป็นอธิบดีกรมคุมประพฤติ, ผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม

รองผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม, ช่วยปฏิบัติราชการทางศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.), รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม

และตำแหน่งสุดท้ายก่อนที่จะ(กลับ)มา ก.ล.ต. คือ อดีตอธิบดีกรมบังคับคดี

Back to top button