ไฮสปีดเทรน 2 มาตรฐาน
เรื่องการเมือง ก็เข้าใจได้ว่า ในที่สุดก็จะผ่านไปได้ โดยมีหมุดหมายสำคัญอยู่ที่วันที่ 9 พ.ค.62 ซึ่งกกต.ต้องประกาศรับรองรายชื่อส.ส.และจำนวนที่นั่งส.ส.
ขี่พายุทะลุฟ้า : ชาญชัย สงวนวงศ์
เรื่องการเมือง ก็เข้าใจได้ว่า ในที่สุดก็จะผ่านไปได้ โดยมีหมุดหมายสำคัญอยู่ที่วันที่ 9 พ.ค.62 ซึ่งกกต.ต้องประกาศรับรองรายชื่อส.ส.และจำนวนที่นั่งส.ส.
ส่วนเรื่องจะผ่านกันไปได้อย่างไรนั้นก็เป็นเรื่องน่าติดตามดู โดยเฉพาะเรื่องกกต.จะ “ฝ่าไฟแดง” เอาความคลุมเครือของพ.ร.ป.ส.ส.มาตรา 128 ซึ่งเป็นกฎหมายลูก มาขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญมาตรา 91 ซึ่งเป็นกฎหมายแม่สูงสุด..
บัญญัติไว้ชัดแจ้ง ให้ส.ส.พึงมี 1 คน ต้องผ่านเกณฑ์เฉลี่ยประมาณ 7.1 หมื่นคนเศษเท่านั้น ไม่ใช่ “รวมดาวกระจุย” ที่เอาพรรคเล็กพรรคน้อย ได้คะแนนต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย มารับส่วนบุญโดยทั่วถึงไปหมด
“เกมสืบทอดอำนาจ” เช่นนี้หฤโหดนัก ไม่ได้ด้วยเล่ห์ ก็เอาด้วยกล ไม่ได้ด้วยเวทมนตร์ ก็เอาด้วยคาถา อันไม่เหมาะยิ่งจะเป็นผู้เล่น สู้เสมอนอกเป็นคนดู แล้วให้เหตุการณ์มันผ่านเลยไปจะดีกว่า
เรื่องรถไฟความเร็วสูงหรือไฮสปีด เทรน เส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย ที่รัฐบาลไทยเลือกบริษัทจีนมาก่อสร้าง นัยว่าเพื่อประโยชน์ทางการทูตในการเอาจีนมาถ่วงดุลตะวันตก และเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน นี่ก็ดูไปดูมา ชักน่าเป็นห่วงผลประโยชน์ชาติไทยมากขึ้นทุกที
โดยเฉพาะเมื่อมีกรณีเทียบเคียงกับรถไฟฟ้าความเร็วสูงของมาเลเซีย เส้นทางติดชายแดนไทย-กัวลาลัมเปอร์ ระยะทาง 640 กิโลเมตร ซึ่งก็ก่อสร้างโดยบริษัทจีนและภายใต้ความร่วมมือกับรัฐบาลจีนเช่นเดียวกับไทยเหมือนกัน
แรกเริ่มเดิมที ดร.มหาเธร์ภายหลังได้รับเลือกตั้ง ก็ได้ประกาศไว้ชัดเจนเป็นนโยบาย จะล้มเลิกโครงการขนาดใหญ่ที่ริเริ่มไว้สมัยอดีตนายกรัฐมนตรีนายนาจิบ ราซัก เนื่องจากคำนึงถึงฐานะทางการเงินของประเทศ
แต่ภายหลังมหาเธร์ก็กลับใจ กลับใจเพราะอะไรยังไม่แน่ชัด แต่ก็มีรายงานข่าวไม่เป็นทางการว่า หากเลิกโครงการจะต้องเสียค่าปรับให้จีนในราว 21,780 ล้านริงกิต คิดเป็นเงินไทย เอาอัตราแลกเปลี่ยน 7.70 บาทคูณเข้าไป ก็ตกในราว 167,700 ล้านบาท
มหาเธร์คงคิดสะระตะแล้ว หากเลิกโครงการ คงมีแต่เสียกับเสีย เงินค่าปรับก็ต้องเสีย และความสัมพันธ์กับจีนก็คงไม่ดีนัก ก็อย่ากระนั้นเลย กลับมาสู่โต๊ะเจรจากันใหม่ คงจะดีกว่า
จากมูลค่าโครงการประมาณ 62,850 ล้านริงกิต มหาเธร์เจรจาลดราคาลงมา 30% เหลือต้นทุนมาอยู่ที่ 44,000 ล้านริงกิต ก็ในราว 338,800 ล้านบาท
บนพื้นฐานการลงทุนร่วม 50:50 และฝ่ายจีนเป็นผู้จัดหาเงินกู้พิเศษให้ซะด้วย!
ส่วนของไทยเราหรือครับ โครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะทาง 608 กิโลเมตร ก็สร้างคุณูปการให้กับจีน โดยเป็นติ่งของ “วันเบลต์ วันโรด” เพื่อจะรับกับเส้นที่ต่อออกจากจีนทางคุนหมิงมาเวียงจันทน์ ผ่านกรุงเทพฯลงใต้ไปมาเลเซียและออกที่สิงคโปร์
แต่ไทยเป็นฝ่ายลงทุนเองหมด และไม่มีเงื่อนไขให้จีนหาแหล่งเงินกู้ผ่อนปรนให้ด้วย
ราคาค่าก่อสร้างเฟสแรก ช่วงนครราชสีมา-กทม.ระยะทาง 253 กิโลเมตร มีกรอบวงเงินลงทุนอยู่ที่ 179,421 ล้านบาท แต่จำนวนจริงอาจจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก เพราะมีการซอยการประมูล 12 สัญญา และฝ่ายไทย ไม่มีวิศวกรที่ปรึกษาที่จะกำหนดราคากลางอย่างเป็นเรื่องเป็นราว
การก่อสร้างเฟส 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทางรวม 355 กิโลเมตร ยังไม่มีกรอบวงเงินลงทุนออกมา เพราะโครงการรถไฟความเร็วสูงสายนี้ ไม่มีการออกแบบและคำนวณค่าก่อสร้างในภาพรวมทั้งเส้นทาง โดยว่ากันไปในแต่ละเฟส
แต่ถ้าหากคิดตามบัญญัติไตรยางค์ชั้นเดียว ที่ระยะทางเพิ่มขึ้นร้อยละ 40 ต้นทุนก่อสร้างก็ขยับตามร้อยละ 40 ด้วยเช่นกัน ค่าก่อสร้างในเฟส 2 อาจขยับมาที่ประมาณ 251,000 ล้านบาท
ฉะนั้นเฟส 1+เฟส 2 ของไฮสปีด เทรน กรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะทาง 608 กม.ซึ่งสั้นกว่าไฮสปีดฯกัวลาฯ ก็อาจจะใช้เงินลงทุนปาเข้าไปถึง 4.3 แสนล้านบาท
ส่วนเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อมชายฝั่งตะวันออกของมาเลเซีย มีระยะทาง 640 กม. กลับใช้มูลค่าลงทุนแค่ 3.38 แสนล้านบาทเท่านั้น แถมเป็นโครงการร่วมทุนและจีนช่วยจัดหาซอฟต์โลนอีกด้วย
รัฐบาลเจ้าบุญทุ่มจอมแจกช่วยไตร่ตรองผลประโยชน์ชาติไทยให้ดี