เฟดกับนักลงทุนโลกสวย

ตลาดเก็งกำไรทั่วโลกจากนี้ไปเป็นตลาดที่มีพฤติกรรมไม่สมเหตุสมผลจากพลังขับเคลื่อนที่ประหลาดนอกเหนือกลไกอุปสงค์-อุปทานตามปกติ


พลวัตปี 2019 : วิษณุ โชลิตกุล

ตลาดเก็งกำไรทั่วโลกจากนี้ไปเป็นตลาดที่มีพฤติกรรมไม่สมเหตุสมผลจากพลังขับเคลื่อนที่ประหลาดนอกเหนือกลไกอุปสงค์-อุปทานตามปกติ

ตัวแปรที่น่าสนใจมีสองเรื่องด้วยกัน 1) การเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของนักลงทุนในตลาดในเรื่องทิศทางอัตราดอกเบี้ยโลกนำโดยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) 2) ราคาน้ำมันดิบของโลก

กรณีแรกกระบวนทัศน์และความเชื่อเมื่อต้นปีของนักลงทุนในตลาดเก็งกำไรเน้นที่ทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นที่จะกระทบต้นทุนการเงินแต่ยามนี้เปลี่ยนเป็นทิศทางตรงกันข้ามมองถึงความเป็นไปได้ที่จะไม่มีการลดอัตราดอกเบี้ย

แรงกดดันให้อัตราดอกเบี้ยของเฟดนอกจากปัจจัยของเหตุผลทางเทคนิคที่เกิดจากสัญญาณบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของโลกเติบโตต่อเนื่องแค่ไหนแล้วยังมีแรงกดดันจากทีมงานของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ถึง 2 ด้านพร้อมกัน

แรงกดดันกระทำ 2 ทางพร้อมกันด้านหนึ่งบีบคั้นให้เฟดลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง (แม้จะพยายามออกตัวว่าเคารพในความเป็นอิสระของเฟด) แต่อีกด้านหนึ่งผลักดันภายในให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยเล็งแต่งตั้งคนที่สนับสนุนตนเข้าไปนั่งในเฟดปูทางสำหรับการลดดอกเบี้ย

แรงกดดันดังกล่าวทำให้เกิดคำถามว่า การที่นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด กล่าวเสมอมาว่าเฟดเป็นอิสระไม่มีใครแทรกแซงได้ การตัดสินใจทุกอย่างขึ้นอยู่กับข้อมูลเศรษฐกิจเป็นสำคัญน่ารับฟังมากน้อยแค่ไหน

สถานการณ์ที่สร้างคำถามนี้เกิดขึ้นท่ามกลางมุมมองว่าเฟดกำลังยืนอยู่บนทางสามแพร่งว่าจะต้องเลือกเอาการขึ้นดอกเบี้ยหรือลดดอกเบี้ยหรือคงดอกเบี้ยไว้ที่เดิมในปัจจุบัน

ล่าสุดบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ดีดตัวหลังประธานเฟดส่งสัญญาณชัดเจนไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเร็ว ๆ นี้เพราะมีตัวเลขย้อนแย้งของกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เมื่อวันศุกร์ที่รายงานว่าตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรพุ่งขึ้น 263,000 ตำแหน่งในเดือน เม.ย. โดยสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดและสูงกว่าระดับในเดือน มี.ค. ส่งผลให้อัตราการว่างงานลดลงสู่ระดับ 3.6% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2512 ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่าอัตราการว่างงานจะทรงตัวที่ระดับ 3.8% (ตามมาตรฐานในสหรัฐฯ นั้น ตัวเลขการว่างงาน 5.4% ถือว่าเป็นตัวเลขจ้างงานเต็มที่และว่างงานโดยสมัครใจ) แม้ประธานเฟดอาจยังคงย้ำจุดยืนด้านนโยบายของเฟดเรื่องไม่ยอมลดอัตราดอกเบี้ยแต่ตลาดเริ่มเชื่อกันเสียแล้วว่าแรงกดดันจากทีมงานประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ต้องการให้เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลให้เฟดขึ้นดอกเบี้ยยากมากไม่ว่าเฟดจะอ้างว่าแรงกดดันด้านราคาที่ปรับตัวลงเมื่อเร็ว ๆ นี้อาจเกิดจาก “ปัจจัยชั่วคราว” และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะดีดตัวสู่เป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2% ในอนาคต

นักวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ของวาณิชธนกิจใหญ่คล้อยตามความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์บางคนที่ยอมรับว่าความเป็นไปได้ที่ต่อไปเฟดจะต้องลดดอกเบี้ยแน่นอนมีสูงเพราะในการที่เฟดตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยครั้งล่าสุดเมื่อปลายปีที่แล้วได้มีสุ้มเสียงที่มองเห็นแล้วว่าอนาคตเศรษฐกิจสหรัฐฯ ภายใต้การบริหารของทรัมป์คงไม่สดใสแน่นอนจึงขึ้นดอกเบี้ยดักหน้าเพื่อให้มีโอกาสถอยในอนาคตถ้าปี 2020 เศรษฐกิจสหรัฐฯ เกิดภาวะถดถอยขึ้นมาจริง ๆ เฟดจะได้มีเครื่องมือการเงินด้วยการลดดอกเบี้ยลงมาเพื่อประคองเศรษฐกิจ

เหตุผลเบื้องหลังความจำเป็นต้องลดดอกเบี้ยอยู่ที่ว่าฐานะการคลังสหรัฐฯ ยุคประธานาธิบดีทรัมป์หนี้ท่วมถึงคอหอยแล้ว

ตัวเลขหนี้ล่าสุดเมื่อเดือนตุลาคมยอดหนี้รัฐบาลสหรัฐฯ พุ่งขึ้นไปถึง 21.6 ล้านล้านดอลลาร์ คิดเป็น 77% ของจีดีพี  คาดว่าสิ้นปีนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 78% ของจีดีพีและยอดหนี้รวมในสหรัฐฯ ก็พุ่งขึ้นไปถึง 71.845 ล้านล้านดอลลาร์ เฉลี่ยหนี้ต่อหัวคนอเมริกัน 218,223 ดอลลาร์ เฉลี่ยหนี้ต่อครอบครัว 853,852 ดอลลาร์ ในอนาคตคาดกันว่าฐานะการคลังของสหรัฐฯ จะแย่ลงกว่านี้เพราะเก็บภาษีได้น้อยลงจากการลดภาษีครั้งใหญ่ของทรัมป์

นักลงทุนในตลาดฟิวเจอร์สพากันเชื่อว่าเฟดจะถูกบังคับให้ลดดอกเบี้ยอย่างน้อยหนึ่งครั้งในรอบ 9 เดือนข้างหน้าโดยมีความเป็นไปได้ 20% ว่าต้องลดดอกเบี้ยเร็วสุดในเดือน มิ.ย. เพราะเหตุผลที่ว่าเบื้องหน้าตัวเลขที่สวยงามของตัวเลขการจ้างงานและอัตราเติบโตของจีดีพีสหรัฐฯ ยังแข็งแกร่งแบบไตรมาสแรกเป็นประวัติการณ์ 3.2% ระหว่างไตรมาส ม.ค.-มี.ค. ซ่อนสัญญาณความอ่อนแอบางอย่างเอาไว้ เช่น การนำเข้าลด การบริโภคซบ สินค้าคงเหลือเพิ่ม และการลงทุนของภาคธุรกิจอ่อนแรงถือเป็นการปกปิดสัญญาณอันตรายเบื้องลึกที่เกิดขึ้นในช่วงที่เงินเฟ้ออ่อนแรงต่อเนื่อง

อัตราเงินเฟ้อผู้บริโภคในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาอันเป็นมาตรวัดที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดแตะระดับต่ำสุดในรอบ 13 เดือน และดัชนีราคาด้านการบริโภคส่วนบุคคล (พีซีอี) มาตรวัดสำคัญของเฟดก็ไม่เคยเกินเป้า 2% เลยในรอบ 7 ปี

เมื่อเงินเฟ้อเริ่มลดต่ำทั้ง ๆ ที่เศรษฐกิจแกร่งขึ้นแบบสวนทางกันแสดงว่าต้องมีบางอย่างผิดปกติแม้อัตราว่างงานต่ำและค่าจ้างเพิ่มแรงกดดันราคาไม่ตอบสนองทำให้เฟดพอมีแรงกระตุ้นลดดอกเบี้ยขึ้นมาบ้าง

ความเชื่อที่เริ่มแพร่ระบาดกลายเป็นกระแสใหม่ที่ทำให้เกิดมุมมองโลกสวยว่าดัชนีดาวโจนส์จะเดินหน้าบวกต่อไปสู่จุดสูงสุดใหม่เหนือ 26,000 จุดได้หากการลดดอกเบี้ยเกิดขึ้นตามคาด

กรณีหลังราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสและเบรนต์ปรับตัวลดลงร้อยละ 3  สัปดาห์ที่ผ่านมาหลังประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ อ้างว่าได้เจรจากับผู้ผลิตกลุ่มโอเปกในการที่จะให้กลุ่มโอเปกปรับเพิ่มปริมาณการผลิตเพื่อให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง

นอกจากนี้  ข่าวลือที่ว่าสหรัฐฯ อาจผ่อนผันให้จีนยังสามารถนำเข้าน้ำมันจากอิหร่านได้หลังครบกำหนดการผ่อนผันในวันที่ 2 พ.ค. 2562 ส่งผลให้อุปทานอาจจะไม่ตึงตัวเท่าที่คาดการณ์ เป็นเหตุให้ผู้เล่นในตลาดต่างเทขายทำกำไรแม้ว่ายังได้รับแรงหนุนจากปริมาณแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลดลงมากที่สุดในรอบสามเดือนโดย Baker Hughes รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบของสหรัฐฯ สัปดาห์ที่ผ่านมา  ปรับตัวลดลง 20 แท่นมาอยู่ที่ 805 แท่น ราคาน้ำมันดิบที่แกว่งไกวด้วยปัจจัยนอกเหนือกลไกตลาดก็ช่วยให้มุมมองของพวกลงทุนแบบโลกสวยเชื่อกันว่าดัชนีตลาดหุ้นน่าจะยังมีโอกาสเป็นขาขึ้นแบบไซด์เวย์ได้

มุมมองแบบนี้แม้จะหาความสมเหตุสมผลไม่ได้แต่ก็ช่วยให้ตลาดเก็งกำไรปีนี้ดูไม่เลวร้ายเกินไป เว้นเสียแต่ข่าวร้ายจากทรัมป์เรื่องสงครามการค้าจะเกิดขึ้นมาซ้ำแล้วซ้ำอีก

Back to top button