ตามรอยวิบากกรรมโอดิสซุส

เช้านี้ผลการลงประชามติของกรีซ คงเป็นที่ทราบกันแล้ว แต่ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่ฝ่ายไหนจะชนะ แต่อยู่ที่ว่าความเสียหายที่จะเกิดกับเศรษฐกิจของกรีซในอนาคตจะสามารถจำกัดควบคุมได้หรือมากจนควบคุมไม่ได้


เช้านี้ผลการลงประชามติของกรีซ คงเป็นที่ทราบกันแล้ว แต่ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่ฝ่ายไหนจะชนะ แต่อยู่ที่ว่าความเสียหายที่จะเกิดกับเศรษฐกิจของกรีซในอนาคตจะสามารถจำกัดควบคุมได้หรือมากจนควบคุมไม่ได้

ข้อเท็จจริงสำหรับประเทศที่ล้มละลายทางการคลังอย่างกรีซอยู่ที่ว่า ต้นทุนของการฟื้นตัวกลับมาสู่ความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ จนเข้าสู่ภาวะปกติสูงมาก เพราะต้องพึ่งพาความสามารถทั้งจากประชาคมโลกและความสามารถในการบริหารนโยบายการคลังและการเงินสาธารณะของรัฐบาลกรีซชุดปัจจุบันและอนาคต

ปัญหาที่สาหัสของกรีซในปัจจุบันอยู่ที่ว่าฐานะคนป่วยระดับโคม่าของกรีซนั้น มาจากความล้มเหลวของรัฐบาลกรีซในอดีตต่อเนื่อง โดยเฉพาะรัฐบาลพรรคสังคมนิยมที่ครองอำนาจมานานกว่า 40 ปี และออกแบบโครงสร้างเศรษฐศาสตร์การเมืองในกรีซไว้จนกระทั่งยากที่จะก้าวข้ามเป็นชาติทุนนิยมในแบบที่ยุโรปตะวันตกมุ่งหน้าไป

ความไม่พร้อมของกรีซนับแต่เข้าเป็นสมาชิกยูโรโซน มีคนเปรียบได้กับการเดินทางสู่สงครามกรุงทรอยของโอดิสซุส ในตำนานกรีกโบราณ เพราะเงื่อนไขของสมาชิกยูโรโซนนั้น อยู่ที่การทำให้งบประมาณของแต่ละปีสมดุลหรือขาดดุลไม่เกินปีละ 3% และรักษาอัตราหนี้สาธารณะไว้ที่ต่ำกว่า 100%

นับแต่ก่อตั้งยูโรโซนเป็นต้นมา กรีซไม่เคยทำตามเงื่อนไขดังกล่าวได้เลย ที่ร้ายไปกว่านั้น ฐานะการคลังของรัฐบาลกรีซถูกเร่งให้เลวร้ายหนักยิ่งขึ้นหลังจากก่อหนี้มหาศาลเพื่อทุ่มงบประมาณเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูร้อน ครบรอบ 100 ปี แล้วล้มเหลวในการหมุนเงิน จนหนี้สาธารณะพอกพูนเกินกว่าจะชำระได้ทัน

กรีซมอบตัวยอมรับเงื่อนไขการกู้เงิน 2.7 แสนล้านยูโร จากกลุ่มเจ้าหนี้ที่เรียกว่า ทรอยก้า (กองทุนการเงินระหว่างประเทศ สหภาพยุโรป และธนาคารกลางยุโรป) พร้อมกับเงื่อนไขสารพัดที่เรียกว่าสัญญาทาสซึ่งเป็นสูตรเดียวกับที่ชาติอย่าง ไอร์แลนด์ สเปน โปรตุเกส และไซปรัส เคยรับสภาพมาก่อน

เงื่อนไขดังกล่าว ไอร์แลนด์ สเปน โปรตุเกส และไซปรัส สามารถทำได้ผ่านความเจ็บปวดของผู้เสียภาษี จนฟื้นตัวกลับมาแข็งแรงได้ในเวลาไม่กี่ปี 

4 ปีที่ผ่านมา กรีซไม่เคยทำตามเงื่อนไขได้เลย จนกระทั่งถึงกำหนดครบรอบต้องชำระเงินงวดแรกเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ปรากฏว่า กรีซใช้วิศวกรรมการเงิน ไปขุดเอาทุนสำรองเงินตราที่เหลือไม่มากนัก มาจ่ายให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ทำให้มีคำถามว่างวดที่ต้องชำระที่ 2-5 ในเดือนมิถุนายนนี้กรีซจะทำได้หรือไม่ ซึ่งไม่ต้องคาดเดาคือไม่ได้ เว้นแต่จะมีหนี้ใหม่จากทรอยก้ามาหมุนเอาไปใช้หนี้เก่า

การเจรจาผ่านมา 5 เดือน นับแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์เพื่อขอรับเงินกู้หนี้ใหม่ 1.7 พันล้านยูโรไม่เคยคืบหน้า รัฐบาลกรีซแสดงออกซึ่งบทบาทเด็กเลี้ยงแกะอย่างสุดฤทธิ์จนทรอยก้าเอือมระอาก่อนจะตัดสิน “ลอยแพ” ในที่สุดเป็นที่มาของการลงประชามติเมื่อวานนี้

วิบากกรรมของกรีซดังกล่าว มีสื่อและนักคิดตะวันตกเปรียบเทียบว่าไม่ต่างอะไรเลยกับการผจญภัยของโอดิสซุสในตำนานโบราณเลย แตกต่างแค่รายละเอียดเท่านั้น

ในอดีตเมื่อเกิดสงครามกรุงทรอยเพื่อแย่งชิงเฮเลน ภรรยาของเมเนลุส ราชาแห่งสปาร์ตา ที่ถูกปารีสลักพาตัวไปยังเมืองทรอย เจ้านครรัฐกรีซทั้งหลายมีภารกิจจะต้องส่งกองทหารออกร่วมรบตามข้อตกลงของสมาพันธ์ 

ตอนเริ่มสงครามโอดิสซุส ไม่อยากเข้าร่วมรบแสร้งทำเป็นบ้า แต่งตัวประหลาด แล้วทำเรื่องแผลงๆ เพื่อให้คนเข้าใจเช่นนั้น เช่น หว่านไถนาที่ไม่มีวันปลูกพืชผลได้ จนชาวสมาพันธ์ต้องทดสอบด้วยการเอาเทเลมาคัสลูกชายทารกที่ยังแบเบาะ มาวางตรงหน้าทางคันไถผ่าน ยูลิซิสเบี่ยงไถไม่ให้โดนลูก จึงจับผิดยูลิซิสได้ว่าไม่ได้บ้าจริง ต้องจำใจเข้ารบ

สงครามเมืองทรอยรบกันนาน 10 ปี ไม่รู้ผลแพ้ชนะ โดยที่โอดิสซุสไม่มีบทบาทอะไรมากนัก จนกระทั่งวันหนึ่งโอดิสซุสนำเสนอแนวคิดใหม่ 2 เรื่องพร้อมกัน คือ การขโมยขวัญเมือง (palladium) ที่กำแพงเมือง เพื่อทำลายขวัญชาวทรอย แล้วก็คิดกลศึกม้าไม้เมืองทรอยขึ้นมา

ทั้งสองข้อเสนอนี้ทำให้บทบาทของโอดิสซุส มีความสำคัญที่ชี้ขาดสงครามในที่สุดเพราะกรุงทรอยแตกยับ

หลังกรุงทรอยแตก โอดิสซุสและแม่ทัพกรีกภูมิใจกับชัยชนะจนลืมบวงสรวงขอบคุณเทพเจ้า ทำให้เมื่อเดินทางกลับนครรัฐกรีก ชะตากรรมของแม่ทัพทั้งหลาย จึงพินาศต่างกันไปนับแต่อะกาเมนอนแม่ทัพใหญ่

สำหรับโอดีสซุส ชะตากรรมของเขาตื่นเต้นกว่าใครเพราะต้องใช้เวลานานถึง 10 ปีต่อมาในการท่องไปทั่วท้องทะเล ตามคำสาปของเทพโพไซดอนที่ว่าเขาจะไม่มีวันได้ตายบนบก

โอดิสซุสก็ล่องเรือจำนวน 12 ลำ ออกจากทรอย เพื่อกลับบ้าน แรกเริ่มคือผ่านดินแดนของพวกซีคอนิส ซึ่งเป็นพันธมิตรกับทรอย จึงถือว่าโอดิสซุสเป็นศัตรูของตน แต่โอดิสซีอุสกับพรรคพวกก็ฝ่าฟันหลุดพ้นมาได้ โดยเรือจมไปหลายลำ 

ถัดมา โอดิสซุสถูกนางอัปสรคาลิปโซ่กักตัวเอาไว้บำเรอกามนานถึง 7 ปีก่อนจะปล่อยออกมาตามคำขอร้องของเทวีเอเธน่า แต่ต้องผจญวิบากกรรมสารพัดต่อมา นับแต่ผ่านแดนมนุษย์กินบัว ผจญภัยกับอสูรตาเดียว ไซคล้อปส์บนเกาะใหญ่ ต่อจากนั้นไปต้องมนต์ของแม่มดคนสวยนามว่า เซอร์ซี ซึ่งแปลงร่างพรรคพวกนักรบของเขาให้กลายเป็นสัตว์เดรัจฉานต่างๆ แล้วก็ไปผจญภัยกับเหล่านางพรายไซเรน ที่ชาวทะเลกลัวนักหนา พอพ้นไปได้ก็พบอสูรกายร้ายกาจที่สุดคือ นางอสูรซิลลา ซึ่งกินลูกเรือของเขาไปหลายคน

หลังจากนั้นกองเรือที่เหลือน้อยของโอดิสซุสต้องเผชิญกับ วังนํ้าวน คาริบดีส ซึ่งดูดทุกอย่าง แม้แต่ไม้ที่เขาเกาะพยุงตัว พอรอดจากคาริบดีส ก็ไปพบกับชาวเฟอีเซียส์ซึ่งต่อเรือเก่งที่สุดในโลก และด้วยเรือที่คนเผ่านี้ต่อ ให้แหละครับ เขาก็สามารถกลับคืนไปพบกับความยุ่งเหยิงในนครอิธาคาของเขาเอง

ที่อิทธาคา โอดิสซุสพบว่าภรรยาของเขาเพเนโลพีกำลังถูกบีบบังคับให้แต่งงานใหม่กับเจ้านครกรีกที่เสนอตัวเข้ามา จนกระทั่งเขาสามารถทำลายเจ้านครเหล่านั้นได้เกือบหมดแล้วก็ต้องคำสาปต่อไปอีกให้ต้องเร่ร่อนต่อไปในท้องทะเลจนจบชีวิตลงจากการที่ถูกลูกชายเขาเองที่เกิดกับนางแม่มดเซอร์ซีฆ่าตายด้วยความเข้าใจผิด จบคำสาปลงอย่างอนาถ

เส้นทางของโอดิสซุสอาจจะไม่ใช่โมเดลต้นแบบของกรีซปัจจุบัน แต่เมื่อพิจารณาจากความซับซ้อนของปัญหาทางการคลังและเศรษฐกิจที่กรีซเผชิญอยู่ เส้นทางของกรีซคงจะเผชิญวิบากไม่น้อยไปกว่าการเผชิญภัยของโอดิสซุสกี่มากน้อย

โดยพฤตินัยหากชาวกรีกลงประชามติยอมรับเงื่อนไขของเจ้าหนี้คือทรอยก้า รัฐบาลพรรคไซรีซ่าก็คงหมดจากอำนาจและมีรัฐบาลใหม่ พร้อมกับการเจรจารับสภาพหนี้จากทรอยก้าที่จะผ่อนคลายลง แต่ก็จะเข้มงวดมากกว่า 4 ปีที่ผ่านมาแน่นอน

ในทางตรงข้ามหากคนกรีกลงประชามติไม่ยอมรับเงื่อนไขเจ้าหนี้ หายนะที่ควบคุมไม่ได้ของกรีซจะบานปลายจนยากคาดเดา

สำหรับประชาคมโลกทุกคนคาดหวังให้เป็นอย่างแรก แต่ถ้าชาวกรีกเลือกชะตากรรมของตนเองด้วยทางเลือกหลังก็เป็นสิ่งที่ต้องยอมรับว่าเป็นทางเลือกของเขาเอง ต้องเคารพด้วยเช่นกัน 

แม้ว่านั่นจะหมายถึงโศกนาฏกรรมแบบที่โอดิสซุสเคยต้องคำสาปมาแล้ว

 

Back to top button