พาราสาวะถี

ปลดล็อกหรือเปล่าไม่ทราบ แต่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต่อคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินว่า มาตรา 128 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 91 บางฝ่ายมองว่าเป็นแนวทางที่จะให้กกต.ได้ดำเนินการคำนวณส.ส.แบบบัญชีรายชื่อได้อย่างมั่นใจและสบายใจขึ้น แต่ก็มีเสียงเตือนดัง ๆ มาจากหลายด้าน โดยเฉพาะจาก สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกกต.ที่บอกว่าระวังถ้าตีความผิด มีพรรคจองกฐินเล่นงานกกต.อีกเพียบ


อรชุน

ปลดล็อกหรือเปล่าไม่ทราบ แต่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต่อคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินว่า มาตรา 128 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 91 บางฝ่ายมองว่าเป็นแนวทางที่จะให้กกต.ได้ดำเนินการคำนวณส.ส.แบบบัญชีรายชื่อได้อย่างมั่นใจและสบายใจขึ้น แต่ก็มีเสียงเตือนดัง ๆ มาจากหลายด้าน โดยเฉพาะจาก สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกกต.ที่บอกว่าระวังถ้าตีความผิด มีพรรคจองกฐินเล่นงานกกต.อีกเพียบ

เหตุผลคงเป็นเพราะ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญระบุเพียงแค่ว่า มาตรา 128 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.มิได้มีเนื้อความขัดหรือแย้งต่อมาตรา 91 ของรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเป็นเพียงการขยายความขั้นตอนวิธีการคำนวณ แต่ไม่ใช่คำตอบว่าสูตรของกรธ.ที่กกต.ตั้งใจใช้จะถูกรัฐธรรมนูญด้วย เท่ากับว่าคำวินิจฉัยจึงมีประโยชน์เป็นศูนย์สำหรับกกต. มิได้มีส่วนสนับสนุนหรือเป็นตัวช่วยใด ๆ ให้กกต.เลือกใช้สูตรที่อาจมีคนแย้งว่าเป็นสูตรที่ขัดรัฐธรรมนูญแล้วจะพ้นผิด

แต่ดูเหมือนว่าเสียงทักท้วงที่ดังมาจากทั่วสารทิศไม่ได้ทำให้กกต.หวั่นไหวกับสูตรที่มีอยู่แล้วในใจ ดังนั้น หลังจากเลื่อนการแถลงข่าวนานกว่า 3 ชั่วโมง ค่ำวันวานจึงได้มีการประกาศส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์จำนวน 149 คน มี 26 พรรคการเมืองได้ส.ส. ก็ต้องดูกันต่อตามที่สมชัยทักท้วงไว้ พรรคที่ส.ส.หายไปโดยเฉพาะอนาคตใหม่จะดำเนินคดีกับกกต.กันอย่างไร และจะมีอะไรให้เป็นประเด็นปัญหาอีกหรือไม่

เห็นโฉมหน้า 15 รัฐมนตรีที่ลาออกไปรับเก้าอี้ส.ว.กันแล้ว หันไปมองรัฐมนตรีที่เหลืออยู่ทำหน้าที่รอเวลาแตะมือกับรัฐนาวาใหม่ คนที่จะได้ไปต่อพร้อม พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา น่าจะมีแค่ระนาบรองนายกรัฐมนตรีอันได้แก่ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ วิษณุ เครืองาม และ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ส่วนระดับรัฐมนตรีพี่รองอย่าง พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา คงไม่ตกขบวนอย่างแน่นอน

ต้องเข้าใจรัฐบาลผสมหลายพรรคการเมือง สัดส่วนเสนาบดีต้องหดหายไปเกลี่ยให้กับนักการเมืองผู้จะเข้ามาทำงานร่วมสืบทอดอำนาจกับหัวหน้าเผด็จการ ที่ต้องจับตามองกันคือในส่วนหัวขบวนของพรรคพลังประชารัฐไม่นับรวม 4 รัฐมนตรี เก้าอี้ที่จับจองกันไว้ตั้งแต่ตอนหาเสียงเลือกตั้ง จะได้รับการจัดสรรตามที่ต้องการหรือไม่ อย่าลืมเป็นอันขาดว่า เก้าอี้ใหญ่ที่หมายปองหากเป็นพรรคเดียวเบ็ดเสร็จมันล็อกกันได้ แต่เมื่อต้องยืมจมูกพรรคอื่นหายใจ ขอมาอย่างไรไม่อยากให้ก็ต้องจำใจประเคน

วันนี้ ตำแหน่งรัฐมนตรีประชาชนให้ความสนใจเป็นลำดับรอง เพราะกำลังจับจ้องไปที่เก้าอี้ 250 ส.ว.ลากตั้งเห็นโฉมหน้ากันแล้ว พวกหน้าเดิมแทบทั้งนั้น บางรายได้รับการปูนบำเหน็จจากปลายกระบอกปืนมาตั้งแต่รัฐประหาร 2549 ก็ยังได้ไปต่อ พอเข้าใจได้ผลงานเข้าตา สามารถใช้วาทกรรมโอบอุ้ม ช่วยสร้างความชอบธรรมให้กับผู้นำเผด็จการและคณะได้อย่างยอดเยี่ยม มิหนำซ้ำ ยังรู้ช่องทางการป้อนกระสุนเป็นอย่างดี มีหรือจะหลุดโผ เรียกได้ว่าอยู่กันรากงอกถ้าส่งต่อให้ทายาทได้คงจะอยู่ยาวชั่วกัปชั่วกัลป์ทีเดียว

ที่น่าติดตามอีกประการคือรายของน้องชายสุดที่รักของผู้นำเผด็จการนามว่า พลเอกปรีชา จันทร์โอชา ยืดอกยอมรับพร้อมกับไขก๊อกพ้นเก้าอี้สนช.ทันทีหลังจากที่มีชื่อเป็นส.ว.ลากตั้ง ภาพจำที่คอการเมืองติดตา คงเป็นสถิติเรื่องการลาประชุมสมัยเป็นสนช.เพราะมีเวลาทำงาน 400 วัน พี่ท่านลาไปเสีย 394 วัน เข้าใจว่างานชุกในเก้าอี้ปลัดกระทรวงกลาโหม แต่ถ้าจะอาสามาเป็นผู้แทนของประชาชนแม้คนส่วนใหญ่จะไม่ได้เลือกเข้าไปก็ตาม ควรจะทำให้คุ้มกับเงินภาษีที่แปรเป็นเงินเดือนหน่อยน่าจะดี

ในวันที่มีรัฐบาลจากรัฐประหารท่านจะทำอะไรเชิญตามสบาย ไม่ต้องมานั่งเกรงอกเกรงใจประชาชน แต่เมื่อเปลี่ยนโหมดเป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้งแล้ว รวมทั้งหัวโขนในตำแหน่งทางราชการก็ไม่มี หวังว่าท่านผู้ยิ่งใหญ่รายนี้จะปรับตัวเปลี่ยนแปลงไปพร้อม ๆ กับการปฏิรูปที่พี่ชายของตัวเองย้ำนักย้ำหนา นี่คือการพาประเทศเดินไปข้างหน้า ทุกคนจะต้องช่วยกัน แต่ดูเหมือนว่าควรจะไปสะกิดคนใกล้ตัวท่านทั้งหลายก่อนว่าอย่าทำอะไรที่มันดูเหมือนจะไม่สนใจเสียงครหาอีกเด็ดขาด

ต้องเหมือนคนคนนี้ อุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม ส.ส.ลพบุรีพรรคเพื่อไทย ทันทีที่ได้รับการรับรองจากกกต. วันรุ่งขึ้นตื่นมาสภาตั้งแต่ไก่โห่ เข้ารายงานตัวเป็นคนแรกในเวลา 8 โมง 9 นาที เจ้าตัวยันไม่ได้ถือฤกษ์ถือยามอะไรเป็นพิเศษ แต่เมื่ออาสามาเป็นตัวแทนประชาชนแล้ว ต้องเริ่มทำงานทันที นี่แหละ ข้อแตกต่างระหว่างนักการเมืองอาชีพกับพวก (ข้าราชการ) ที่ต้องการจะเปลี่ยนอาชีพเป็นนักการเมืองแต่ยังติดนิสัยแบบเดิม ๆ คือถือยศถืออย่าง ไม่เกรงอกเกรงใจประชาชน

ดีที่ว่าหลังจากประกาศตัวเป็นนักการเมืองแล้ว ผู้นำเผด็จการไม่เคยด่าว่านักการเมืองชั่วนักการเมืองเลวอีกเลย กรณีของอุบลศักดิ์ถือเป็นตัวอย่างของจิตสำนึกผู้แทนราษฎร ที่ต้องตั้งใจทำงาน ส่วนจะได้ไปเป็นฝ่ายค้านหรือรัฐบาลนั่นก็อีกเรื่อง เพราะถ้าได้เข้าสภาแล้ว ไม่ว่าอยู่ฝ่ายไหนก็สามารถที่จะทำตัวให้เป็นประโยชน์ เนื่องจากมีเวทีให้สะท้อนปัญหาอันได้รับจากประชาชนให้ฝ่ายบริหารได้นำไปแก้ไข ช่วยเหลือ ไม่เหมือนพวกสภาลากตั้งในระบอบเผด็จการ

คนเหล่านั้นถนัดแต่เชลียร์ ขนาดพิจารณาร่างกฎหมายงบประมาณ ซึ่งถือเป็นกฎหมายสำคัญ ยังไร้เสียงทักท้วง มีแต่สรรเสริญ เยินยอ ในภาวะที่คนทั้งประเทศเดือดร้อน เศรษฐกิจตกต่ำ คนหาเช้ากินค่ำแทบจะไม่มีกิน สภาลากตั้งไม่เคยแยแส ไม่สะท้อนภาพความเดือดร้อนใด ๆ ไม่เร่งรัดหรือคอยจี้ให้รัฐบาลช่วยแก้ไข หรือเห็นว่ารัฐบาลเผด็จการคณะนี้แจกสะบัดอยู่แล้วไม่จำเป็นต้องไปบอกอะไร ถ้าคิดแบบนั้นก็ควรที่จะไปเลี้ยงหลานอยู่บ้านเสียดีกว่ามานั่งตากแอร์เย็น ๆ ในสภาหินอ่อนให้เปลืองงบประมาณ

แต่ลืมไป ประโยชน์ยังมีคือคอยมายกมือผ่านร่างกฎหมายที่ผู้มีอำนาจต้องการ รวมทั้งมาจัดการกับกฎหมายที่จะเอื้อต่อการสืบทอดอำนาจ ที่น่าละเหี่ยใจกันสุด ๆ คงเป็นพฤติกรรมที่ไม่ต่างจากนักการเมือง เคยแสดงข้อรังเกียจสภาผัวเมีย แต่พอตัวเองมีตำแหน่งแห่งหนเท่านั้น พาญาติโกโหติกามารับเก้าอี้กันเป็นแถว พอถูกตรวจสอบ ก็หัวหมอสลับฟันปลากันให้วุ่น นี่คือตัวอย่างหนึ่งของพฤติกรรมว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง ที่ท่านผู้นำมองเป็นเรื่องกระพี้แต่คนทั่วไปไม่ได้คิดเช่นนั้น

Back to top button