รัฐบาลเบี้ยหัวแตก

ไม่ผิดจากความคาดหมายว่าท้ายสุดแล้วโรดแมปของการสืบทอดอำนาจคสช. จะต้องเกิดขึ้นภายใต้นายกรัฐมนตรีคนเดิมพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งทำให้คำมั่นสัญญาหลังการรัฐประหารที่ว่า “ขอเวลาไม่นาน” ถูกเลื่อนยาวไม่มีกำหนดและหากเป็นได้น่าจะตั้งเป้าอยู่ยาวให้ครบ 20 ปี


พลวัตปี 2019 : วิษณุ โชลิตกุล

ไม่ผิดจากความคาดหมายว่าท้ายสุดแล้วโรดแมปของการสืบทอดอำนาจคสช. จะต้องเกิดขึ้นภายใต้นายกรัฐมนตรีคนเดิมพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งทำให้คำมั่นสัญญาหลังการรัฐประหารที่ว่า “ขอเวลาไม่นาน” ถูกเลื่อนยาวไม่มีกำหนดและหากเป็นได้น่าจะตั้งเป้าอยู่ยาวให้ครบ 20 ปี

ที่บอกว่าโรดแมปสืบทอดอำนาจเกิดขึ้นเพราะมีการออกแบบให้เป็นไปอย่างสอดรับกันนับตั้งแต่ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าพ.ร.ป.เลือกตั้งมาตรา 128 ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 91 ซึ่งรับรองความชอบธรรมให้กับกกต.สามารถเลือกตีความพ.ร.ป.เลือกตั้งมาตรา 128  และคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ (สูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์) ในแบบที่ตัวเองก็คิดว่าขัดกับรัฐธรรมนูญ (จนในที่สุดตัดสินใจส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความซึ่งครั้งนั้นศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่รับตีความ)

การตีความครั้งนี้ของศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ชี้ชัดว่าวิธีที่ กกต.พยายามนำมาใช้ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญหรือไม่เลยก็ตาม  แต่ในทางการเมืองคำตัดสินนี้เพียงพอทำให้ กกต. ตัดสินใจเดินหน้าประกาศผลในแนวที่ตั้งธงเอาไว้แต่แรก (ว่ามีไม่น้อยกว่า 25 พรรคที่ได้ส.ส.บัญชีรายชื่อ)

อีกทางหนึ่งเงินงบประมาณกว่า 1,300 ล้านบาทที่ใช้เลือกหรือสรรหาส.ว. ก็ออกผลลัพธ์ชัดเจนมาแล้วว่าเป็นการล้างผลาญที่สิ้นเปลืองไม่เห็นหัวประชาชนเพราะคนที่ถูกคัดสรรมาล้วนแล้วแต่เป็นกลุ่มคนที่พร้อมรับใช้เจตนาของคสช.ตามคาด

เส้นทางสู่การตั้งรัฐบาลใหม่ที่ปูทางสะดวกให้พลเอกประยุทธ์จึงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่ก็ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์กันตามมาในทางลบมากกว่าบวก นักวิชาการบางคนถึงขนาดออกมาฟันธงล่วงหน้าว่ารัฐบาลหลังเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นเป็น จุดเริ่มต้นของจุดจบ เพราะสูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์จะทำให้เกิดภาพรัฐบาลเบี้ยหัวแตกเปิดโอกาสที่สภาผู้แทนราษฎรจะเกิดทางตันเป็นไปได้สูงโดยเฉพาะการผ่านกฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติ การผ่านงบประมาณรายจ่ายก็ต้องผ่านทีละสภาเหมือนเดิม ถือเป็นการถอยหลังเพราะทำให้รัฐบาลมีนโยบายไม่ต่อเนื่อง นับถอยหลังได้เลยเปรียบเป็นรัฐบาลเป็ดง่อยไปเหมือนสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร ในอดีตที่รัฐประหารตัวเองหน้าตาไม่ต่างกันเลย

แม้นักวิชาการจะระบุว่าพลเอกประยุทธ์คงตั้งรัฐบาลได้ แต่จะมี 3 ปรากฏการณ์ คือ 1) เหมือนสมัย จอมพลถนอม กิตติขจร ที่มีการเรียกร้องผลประโยชน์ของส.ส.ในสภาก่อนประชุมสภาต้องแจกซอง (เหมือนยุคนายบรรหารที่เหมือนเป็นเอทีเอ็ม) 2) เหมือนสมัยรัฐบาล พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ มีการต่อรองกันขอผลัดเปลี่ยนเป็นรัฐมนตรีคนละ 1-3 เดือน ทำให้สภาผู้แทนฯไม่มั่นคง ส.ว.ก็มาจากการค้ำจุนรัฐบาล ตอนหลังเกิดการแตกขั้วแตกหัวในส.ว. มีการเปลี่ยนใจเมื่อเกรียงศักดิ์เริ่มคุมสภาไม่ได้ 3) เหมือนสมัยรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นรัฐบาลร้อยพ่อพันแม่

คำวิจารณ์เหล่านี้อาจจะเร็วเกินไปแต่ข้อเท็จจริงที่ไม่อาจเลี่ยงได้ของรัฐบาลชุดใหม่คือการเผชิญหน้ากับภัยของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังดำเนินอยู่ จนคาดกันว่าปีนี้อัตราเติบโตของไทยน่าจะต่ำสุดในอาเซียนหรืออาจจะต่ำสุดในเอเชียด้วยซ้ำ

ที่ผ่านมาแม้ว่าเจ้าหน้าที่เก็บภาษีของกระทรวงการคลังจะเห็นภัยของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศและพยายามผลักดันการส่งออกและการลงทุนแต่ไม่ได้รับการตอบสนองในเรื่องนโยบายการเงินจากธนาคารแห่งประเทศไทยที่ยังคงยึดมั่นใน ความเป็นอิสระของธนาคารกลาง รักษาอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยตลาดโลก เป็นเหตุให้มีเงินร้อนหรือ hot money ไหลเข้าเพื่อหากำไรจากส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ย

ผลพวงจากการที่เงินดอลลาร์ไหลเข้าประเทศโดยธนาคารแห่งประเทศไทยก็ไม่สามารถซื้อเงินดอลลาร์ได้ทั้งหมดเพราะเมื่อซื้อคืนแล้วก็ต้องจัดการออกพันธบัตรหรือดูดซับสภาพคล่องกลับไปซื้อ จะทำให้เกิดการขาดทุนในบัญชีของธนาคารธนาคาร จึงไม่สู้จะเต็มใจที่จะเข้าแทรกแซงเพื่อรักษาอัตราแลกเปลี่ยนให้มีเสถียรภาพไม่ขึ้นลงอย่างรุนแรง

ค่าเงินบาทแข็งตัวขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลต่าง ๆ ทั่วโลกจนเกือบเป็นที่หนึ่งของโลก กลายเป็นอุปสรรคอย่างใหญ่หลวงของการขยายตัวของการส่งออกและอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ตัวเลขการคาดการณ์สภาพเศรษฐกิจของทางการจึงต้องทบทวนลดลงจากที่เคยคาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของปี 2562 จะเป็นร้อยละ 4 ก็ลดการคาดการณ์ลงเป็นร้อยละ 3.80

ในทางกลับกันรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ที่ถลำลึกเพราะเชื่อในทีมงานเศรษฐกิจว่าจะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยมาตรการสร้างอุปสงค์เทียมผ่านมาตรการ “เฮลิคอปเตอร์มันนี่” ที่เน้นการกระตุ้นการใช้จ่ายที่เปล่าประโยชน์ก่อนหน้านี้ก็คงไม่มีทางเลือกมากนักในรัฐบาลใหม่ นอกจากต้องใช้มาตรการดังกล่าวต่อไปเพราะพรรคที่เป็นนั่งร้านให้คสช. หาเสียงเอาไว้มากมาย

ข้อเท็จจริงที่ว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/2562 ขยายตัวต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ที่ 3.4% และชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลมาจากการส่งออกหดตัวในหลายหมวดสินค้าจากอุปสงค์ในตลาดโลกที่ชะลอตัวลงโดยการส่งออกขยายตัว -3.6% และมีแนวโน้มที่การส่งออกในไตรมาส 2/2562 จะขยายตัวติดลบต่อเนื่องแต่จะปรับตัวดีขึ้นทำให้การขยายตัวเศรษฐกิจทั้งปีมีแนวโน้มจะไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ 3.8% ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะพิจารณาตัวเลขอีกครั้ง เป็นตัวเร่งของความเสี่ยงที่รัฐบาลเบี้ยหัวแตกต้องรับมือให้ได้

คำถามมีอยู่ว่า รัฐบาลที่คุ้นเคยกับการเสพติดเฮลิคอปเตอร์มันนี่ซึ่งถือว่าเป็น ยากล่อมประสาทที่จำเป็น เพื่อบรรเทาเสียงก่นด่าของประชาชน ทั้งที่แท้จริงแล้วเปรียบเสมือนการฆ่าตัวตายแบบผ่อนส่งจะก้าวข้ามข้อเท็จจริงนี้ได้หรือไม่

2 ปีที่ผ่านมารัฐบาลประยุทธ์ได้นำเอามาตรการเฮลิคอปเตอร์มันนี่ที่เริ่มใช้จริงจังสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในนามมาตรการ ไทยเข้มแข็ง มาทำการปัดฝุ่นขึ้นมาใช้ใหม่ในนามโครงการประชารัฐ โดยเริ่มนโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือ บัตรคนจน ตั้งแต่ปลายปี 2560 จนถึงปัจจุบันทำไปแล้ว 4 เฟส อนุมัติงบประมาณไปแล้วเกิน 1 แสนล้านบาทเพื่อหวังผลทางการเมืองในกลุ่มคนเป้าหมายเป็นระยะ ๆ

มาตรการเฮลิคอปเตอร์มันนี่ในหลายรูปแบบผสมกับรัฐบาลเบี้ยหัวแตกคือปรากฏการณ์จริงที่คนไทยจำต้องทำความคุ้นเคยแม้ในทางเศรษฐศาสตร์จะถือว่าไม่ได้ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโต แถมยังสร้างปัญหาที่กลไกรัฐเข้าไปเบียดเบียนการลงทุนภาคเอกชนในระยะยาว

พร้อมกันนั้นคงต้องหาทางเข้าวัดเพื่อสวดภาวนาว่าประเทศไทยคงไม่ตามรอยเวเนซุเอลา หรือถ้าบังเอิญจะเป็นบ้างก็ขอให้เป็นช้าลง

Back to top button