พาราสาวะถี
โจทย์ยากขึ้นไปเรื่อยๆสำหรับพรรคสืบทอดอำนาจ ในการประสานพรรคการเมืองจับมือตั้งรัฐบาล เคลียร์ปมไม่เอา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จบก็ต่อด้วยเรื่องเก้าอี้กระทรวงเกรดเอ โดยเฉพาะกระทรวงเศรษฐกิจ จากเดิมทีแข็งขันไม่ยอมยกให้ใคร ขอเก็บไว้ดูแลทั้งหมด เหตุผลสำคัญคงอยู่ที่ถ้ายกให้พรรคอื่นก็แสดงให้เห็นว่าตลอดเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลคสช.บ่มีไก๊ แต่สุดท้ายก็ยอมถอยพร้อมที่จะทำตามข้อเสนอ
อรชุน
โจทย์ยากขึ้นไปเรื่อยๆสำหรับพรรคสืบทอดอำนาจ ในการประสานพรรคการเมืองจับมือตั้งรัฐบาล เคลียร์ปมไม่เอา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จบก็ต่อด้วยเรื่องเก้าอี้กระทรวงเกรดเอ โดยเฉพาะกระทรวงเศรษฐกิจ จากเดิมทีแข็งขันไม่ยอมยกให้ใคร ขอเก็บไว้ดูแลทั้งหมด เหตุผลสำคัญคงอยู่ที่ถ้ายกให้พรรคอื่นก็แสดงให้เห็นว่าตลอดเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลคสช.บ่มีไก๊ แต่สุดท้ายก็ยอมถอยพร้อมที่จะทำตามข้อเสนอ
อย่างไรก็ตาม กลับมีเงื่อนไขใหม่ถ้าจะไปต่อด้วยกันพรรคตัวแปรทั้งประชาธิปัตย์และภูมิใจไทย ที่วันนี้พ่วงเอาชาติไทยพัฒนามาร่วมสร้างพลังต่อรองด้วย บอกดังๆขอไม่ร่วมรัฐบาลกับพี่ใหญ่และพี่รองบูรพาพยัคฆ์ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ กับ พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รวมทั้งนายทหารสายคสช. เพราะไม่ต้องการถูกสังคมตราหน้าว่าสนับสนุนขบวนการสืบทอดอำนาจ หมายความว่าถ้าเป็นผู้นำเผด็จการแค่คนเดียวยังพอรับกันได้
ทำให้แกนนำระดับเจรจาอย่าง อุตตม สาวนายน และ สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ต้องกุมขมับกันอีกกระทอก นาทีนี้ไม่รู้ว่าจะออกหัวออกก้อยกับรัฐนาวาสืบทอดอำนาจ 1 ยิ่งการปรากฎชื่อของ เนวิน ชิดชอบ เข้ามามีบทบาทในซีกส่วนของภูมิใจไทย ยิ่งจะทำให้การยื่นหมูยื่นแมวยุ่งยากและพรรคสืบทอดอำนาจจะต้องเป็นฝ่ายเสียเปรียบหนักข้อเข้าไปอีก มีตัวอย่างให้เห็นแล้วจากรัฐบาลในค่ายทหารของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ว่ากันว่าครั้งนั้น งูเห่า 2 สวาปามกันไปเต็มคราบ
ความไม่นิ่งแม้จะชิงความได้เปรียบจากการประกาศส.ส.บัญชีรายชื่อของกกต. คงเป็นผลสืบเนื่องมาจากตัวแปรอันเป็นผลพวงของการรัฐประหาร ที่ทำให้พรรคการเมืองอย่างประชาธิปัตย์และภูมิใจไทยตัดสินใจยากไม่ใช่น้อย ลำพังการสืบทอดอำนาจนั่นก็ต้องอธิบายกันหนัก ไหนจะมีส.ว.ลากตั้งที่หากเป็นพรรคการเมืองที่จะเดินหน้าไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย ก็ไม่ควรที่จะเป็นส่วนหนึ่งของทฤษฎีสมคบคิดของเผด็จการในการสืบทอดอำนาจเป็นอันขาด
ไม่ว่าจะมองในมุมไหนหาได้มีความสง่างามแม้แต่น้อย โดยเฉพาะกระบวนการสรรหาที่มีคณะกรรมการคัดเลือก แต่กลายเป็นว่าทำงานกันแบบลับๆล่อๆ ปกปิดซ่อนเร้น อ้างว่าป้องกันการวิ่งเต้น ทั้งๆที่ยุคซึ่งผู้นำมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดและมีความโปร่งใส ไม่คอร์รัปชั่น มันจะเกิดภาพเช่นนั้นได้อย่างไร นี่จึงเป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้น และไม่รู้ว่าจะเป็นที่มาของการทำให้กระบวนการได้มาซึ่งส.ว.เป็นโมฆะด้วยหรือเปล่า อันจะยิ่งทำให้โจทย์ของการสืบทอดอำนาจยากขึ้นไปอีก
แต่เชื่อได้ว่าด้วยกลไกที่วางไว้โดยเนติบริกรชั้นเซียนทั้งหลาย รวมทั้งองคาพยพขององค์กรที่จะจัดการเรื่องเหล่านั้นก็วางไว้อย่างสอดคล้องต้องกัน จึงไม่น่าจะมีอุบัติเหตุทางการเมืองใดๆเกิดขึ้นแน่นอน อย่างไรก็ตาม ไม่มีสูตรสำเร็จใดๆในทางการเมือง เมื่อวางทุกอย่างไว้แล้วต้องเป็นไปตามนั้น เพราะการเมืองเป็นเรื่องของคนที่จะตกลงกันในประเด็นผลประโยชน์ และประโยชน์ครั้งนี้ก็ไม่ได้มีเพียงแค่ว่า เลือกตั้งเสร็จได้คนส.ส.ไปตั้งรัฐบาลแล้วถอนทุนคืน
พรรคที่มีแนวคิดเช่นนั้นก็คงตั้งหน้าตั้งตาที่จะเดินตามความประสงค์ของตัวเอง แต่อย่าลืมว่าพรรคเกิดขึ้นใหม่ที่ได้ส.ส.เข้าสภามาเป็นกอบเป็นกำอย่างไม่น่าเชื่ออย่างอนาคตใหม่ ก็มีแนวทางเป็นของตัวเองและดูเหมือนว่าจะมีแนวร่วมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆนั่นก็คือ การปิดสวิตซ์ส.ว.ลากตั้งเพื่อไม่เปิดโอกาสให้ได้ยกมือหนุนนายกฯที่มาเข้ามาเพื่อสืบทอดอำนาจ วันนี้ ถ้าฟังบทสัมภาษณ์และท่วงทำนองของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จึงเต็มไปด้วยเครื่องหมายคำถาม
เป็นคำถามในเชิงที่ว่า นักการเมืองหน้าใหม่มีลูกไม้อะไรมาปั่นหัวสร้างความกระอักกระอ่วนใจให้กับฝ่ายสืบทอดอำนาจ การเดินเกมปิดสวิตซ์ส.ว.ไม่ใช่แค่ตีกันคนจะสืบทอดอำนาจให้หลุดวงโคจรเท่านั้น แต่กำลังดำเนินไปควบคู่กับการชูให้คนของพรรคตัวแปรสำคัญอย่างประชาธิปัตย์และภูมิใจไทยได้ก้าวไปขึ้นเป็นผู้นำประเทศอย่างสง่างามด้วย คำถามที่หลายคนสงสัยทำไมการเคลื่อนเกมแบบนี้จึงไม่ให้เพื่อไทยแสดงบทบาท
อย่างที่รู้กันการมีภาพของ ทักษิณ ชินวัตร ยืนอยู่เบื้องหลังแม้จะไม่มีหลักฐานเพื่อที่จะเอาผิดทางกฎหมายใดๆก็ตาม การขยับตัวของพรรคนายใหญ่จึงจะได้แรงหนุนจากคนที่ไม่เอาเผด็จการและเกลียดทักษิณได้ยาก พอมาเป็นอนาคตใหม่ที่ผลการเลือกตั้งบ่งชี้อารมณ์ ความรู้สึกของผู้คนที่อาจจะถูกมองก่อนการเลือกตั้งว่าเป็นพลังเงียบและคนรุ่นใหม่ ตรงนี้ถือเป็นภาพสะท้อนสิ่งที่เชื่อได้ว่าเป็นอารมณ์ ความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ในสังคม
เพียงแต่ว่า การชู อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หรือ อนุทิน ชาญวีรกูล เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น รายไหนที่กระแสสังคมจะให้การตอบรับมากกว่ากัน และในฐานะที่อนาคตใหม่เป็นพันธมิตรจากปฏิญญาแลงคาสเตอร์ของ 7 พรรคการเมือง แนวทางนี้ก็น่าเชื่อว่าได้รับความเห็นชอบมาจากพรรคเพื่อไทยแล้วเช่นนั้น ความเป็นไปได้ของการเกิดขั้วที่ 3 แม้จะมีการปฏิเสธจากระดับนำของพรรคเก่าแก่ แต่นั่นก็เป็นเพียงแค่บทบาทหนึ่งซึ่งจะต้องว่ากันไปตามเกมเท่านั้นเอง
เหมือนที่บอกไปตั้งนานแล้วว่า หลังการเลือกตั้งครั้งนี้อย่าได้มองข้ามคนชื่ออนุทินเป็นอันขาด เพราะมีหลายปัจจัยที่ทำให้เชื่อได้ว่าจะเป็นตัวเกื้อหนุนให้เสี่ยหนู สามารถขึ้นลิฟต์ก้าวไปเป็นผู้นำประเทศแบบล็อกถล่มเลยก็ว่าได้ ส่วนที่เจ้าตัวปฏิเสธว่าไม่ขอรับตำแหน่งนายกฯนั้นมันก็เป็นเรื่องมารยาททางการเมือง แต่เมื่อทุกอย่างถึงเวลาและเป็นไปตามครรลองที่สังคมส่วนใหญ่ให้การยอมรับ จะมีใครกล้าปฏิเสธเช่นนั้นหรือ
นี่แหละการเมืองหลังเลือกตั้งที่ไม่ปกติ จากกระบวนการที่จะทำให้มีส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์พึงมีจนหลุดไปเป็นมีส.ส.ไม่พึงมีเพิ่มมาอีก 11 พรรคการเมือง เรื่องการจัดตั้งรัฐบาลสืบทอดอำนาจที่เคยคิดว่าง่ายจึงไม่ได้เป็นไปอย่างที่คิด ดีไม่ดีมีสิทธิ์ที่จะแปรสภาพไปเป็นฝ่ายค้านแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัวเอาง่ายๆ ดังนั้น การเมืองว่าด้วยเรื่องขั้วอำนาจจึงเป็นสิ่งที่จะต้องเกาะติดกันชนิดอย่ากะพริบตาเลยทีเดียว