ทรัมป์กับดาวโจนส์

ถึงแม้ว่าการเจรจาการค้าให้บรรลุเป้าหมายของสหรัฐฯโดยการเพิ่มแรงกดดันต่อจีนจะยังไม่บรรลุเป้าหมายแต่ท่าทีเชิงรุกของทำเนียบขาวสะท้อนให้เห็นว่าการรุกคืบเพื่อหวังผลจะยังมีต่อไป


พลวัตปี 2019 : วิษณุ โชลิตกุล

ถึงแม้ว่าการเจรจาการค้าให้บรรลุเป้าหมายของสหรัฐฯโดยการเพิ่มแรงกดดันต่อจีนจะยังไม่บรรลุเป้าหมายแต่ท่าทีเชิงรุกของทำเนียบขาวสะท้อนให้เห็นว่าการรุกคืบเพื่อหวังผลจะยังมีต่อไป

ตราบใดที่ยังไม่บรรลุผล

เหตุผลที่นักทฤษฎีเกมทั้งหลายมองกันคือทรัมป์และพวกต้องการใช้โมเดลเจรจากับจีนทำการ “เชือดไก่ให้ลิงดู”เพื่อเป็นต้นแบบใช้กับคู่เจรจาการค้าชาติอื่นๆทั่วโลกภายใต้การทำข้อตกลงแบบทวิภาคี

แม้ว่าท่าทีของทรัมป์และตัวแทนเจรจาจะไม่เร่งรุกฆาตเสียทีเดียวแต่การออกมาบอกล่าสุดว่าทรัมป์จะพบกับสีจิ้นผิงในเดือนมิถุนายนอีกครั้งส่อแววว่าช่วงนี้การรุกคืบจะเบาลงแต่ไม่มีการเลิกราแน่นอน

ในสถานการณ์ “สงครามยังไม่จบ” เช่นนี้นักวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ได้พยายามสร้างความเป็นไปได้เพื่อการรับมือสถานการณ์ข้างหน้าไว้ 3 กรณีด้วยกันคือ

–  กรณีสหรัฐยืนกรานขึ้นภาษี 25% บนวงเงิน 2.0 แสนล้านเหรียญสหรัฐ  ถือว่าไม่น่าแปลกเพราะตลาดหุ้นซึมซับข่าวร้ายนี้หมดแล้ว

– กรณีสหรัฐเล่นไม้แข็งโดยขึ้นทั้งภาษี 25% และเพิ่มวงเงินสินค้าอีก 3.0 แสนล้านเหรียญมีโอกาสที่ตลาดหุ้นโลกจะเข้าสู่ภาวะเสี่ยงมากที่จะร่วงแรง (Risk off) การชะลอการลงทุนเพื่อรอดูความคืบหน้าของการเจรจาครั้งถัดไปจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสม

– กรณีที่ตกลงกันได้หมายความว่าท่าทีแข็งกร้าวทั้งหมดที่สหรัฐฯแสดงออกเป็นเพียงการขู่ในการเจรจาและทำให้จีนยอมรับข้อตกลงจนทำให้สหรัฐยกเลิกภาษีการค้าทั้งหมดจะเป็นข่าวดียิ่งสำหรับนักลงทุน “โลกสวย”

ประเด็นที่น่าสนใจหากไม่มองว่ากรณีสุดท้ายคือคำตอบอยู่ที่ว่ายามนี้คู่เจรจาทั้งสองฝั่งทั้งสหรัฐกับจีนล้วนแล้วแต่มีอิทธิพลของบรรดา “สายเหยี่ยว” เพิ่มขึ้น

รังสีอำมหิตของสายเหยี่ยวที่แผ่ซ่านจากทำเนียบขาวและจีนสัมผัสได้ไม่ยากและล้วนมีเหตุผลรองรับ

ในกรณีของสายเหยี่ยวจีนได้เคยพูดถึงไปแล้วตอนนี้ต้องมาพิจารณาสายเหยี่ยวของสหรัฐบ้าง

คำอธิบายล่าสุดจากนักทฤษฎีเกมอเมริกันคือเบื้องหลังท่าทีที่ทรัมป์และทีมงานที่เคยมีท่าทีผ่อนปรนสองเดือนก่อนในการเจรจาการค้ากับจีนเปลี่ยนท่าทีกะทันหันมาเปิดเกมรุกอีกครั้งเพราะมีเหตุปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมให้สายเหยี่ยวมีอิทธิพลมากขึ้น 3 เรื่องพร้อมกันคือ 1) ราคาหุ้นและดัชนีดาวโจนส์ที่แข็งแกร่งเกินคาด 2) อัตราเติบโตของจีดีพีและการจ้างงานในสหรัฐฯที่แกร่งสุด 3) ทรัมป์ต้องการลงสมัครเป็นประธานาธิบดีสมัยที่สองในปลายปีหน้า

2 เหตุปัจจัยแรกนั้นโยงใยต่อกันและเชื่อมโยงเข้ากับการที่เฟดฯ หรือธนาคารกลางสหรัฐฯ มีความเป็นไปได้สูงมากที่จะถูกบังคับให้ลดดอกเบี้ยอย่างน้อยหนึ่งครั้งในรอบ 9 เดือนข้างหน้า (โดยมีความเป็นไปได้ 20% ว่าต้องลดดอกเบี้ยเร็วสุดในเดือน มิ.ย.) ทำให้นักลงทุนที่เชื่อเกิดมุมมองโลกสวยว่าดัชนีดาวโจนส์จะเดินหน้าบวกต่อไปสู่จุดสูงสุดใหม่เหนือ 26,000 จุดได้หากการลดดอกเบี้ยเกิดขึ้นตามคาด

ส่วนเหตุผลที่ตามมานั้นระบุว่าตัวเลขที่สวยงามของการจ้างงานและอัตราเติบโตของจีดีพีสหรัฐฯ ยังแข็งแกร่งแบบไตรมาสแรกเป็นประวัติการณ์ 3.2% ได้ซ่อนสัญญาณความอ่อนแอบางอย่างเอาไว้เช่นการนำเข้าลดการบริโภคซบสินค้าคงเหลือเพิ่มและการลงทุนของภาคธุรกิจอ่อนแรงถือเป็นการปกปิดสัญญาณอันตรายเบื้องลึกที่เกิดขึ้นในช่วงที่เงินเฟ้ออ่อนแรงต่อเนื่อง

อัตราเงินเฟ้อผู้บริโภคในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาอันเป็นมาตรวัดที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดแตะระดับต่ำสุดในรอบ 13 เดือนและดัชนีราคาด้านการบริโภคส่วนบุคคล(พีซีอี) มาตรวัดสำคัญของเฟดก็ไม่เคยเกินเป้า 2%  เลยในรอบ 7 ปี

เมื่อเงินเฟ้อเริ่มลดต่ำทั้งๆที่เศรษฐกิจแกร่งขึ้นแบบสวนทางกันแสดงว่าต้องมีบางอย่างผิดปกติแม้อัตราว่างงานต่ำและค่าจ้างเพิ่มแรงกดดันราคาไม่ตอบสนองทำให้เฟดพอมีแรงกระตุ้นลดดอกเบี้ยขึ้นมาบ้างตัวเลขหนี้ล่าสุดเมื่อเดือนตุลาคมยอดหนี้รัฐบาลสหรัฐฯพุ่งขึ้นไปถึง 21.6 ล้านล้านดอลลาร์คิดเป็น 77% ของจีดีพีคาดว่าสิ้นปีนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 78% ของจีดีพีและยอดหนี้รวมในสหรัฐฯ ก็พุ่งขึ้นไปถึง 71.845 ล้านล้านดอลลาร์เฉลี่ยหนี้ต่อหัวคนอเมริกัน 218,223 ดอลลาร์เฉลี่ยหนี้ต่อครอบครัว 853,852 ดอลลาร์ในอนาคตคาดกันว่าฐานะการคลังของสหรัฐฯ จะแย่ลงกว่านี้เพราะเก็บภาษีได้น้อยลงจากการลดภาษีครั้งใหญ่ของทรัมป์

ความมั่นใจเกินไปผสมโรงเข้ากับความต้องการส่วนบุคคลของทรัมป์ในเรื่องสุดท้ายเป็นรากเหง้าที่นำไปสู่การรุกครั้งล่าสุดเพื่อทำสงครามการค้ากับจีนที่เป็นด่านหน้าหลักที่จะนำไปสู่การบีบคั้นชาติอื่น ๆ ทั่วโลก

คำถามที่ท้าทายคืออหังการครั้งล่าสุดนี้เป็นมายาหรือข้อเท็จจริงยังไร้คำตอบ

ตอนนี้รู้แค่ว่าดาวโจนส์ได้กลายเป็นเครื่องมือรองรับความชอบธรรมแบบเพี้ยนๆของทรัมป์ไปเสียแล้วโดยปริยาย

Back to top button