พาราสาวะถี

เสร็จสิ้นเรียบร้อยไม่มีอะไรเหนือความคาดหมาย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ชื่อ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ และเลขาธิการพรรคคือ เฉลิมชัย ศรีอ่อน ที่เป็นเชนคัมแบ็คกลับมารับตำแหน่งแม่บ้านพรรคเก่าแก่อีกรอบ หลังจากเคยปฏิบัติหน้าที่นี้มาแล้วเมื่อคราว อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นหัวหน้าหลังจากพ้นวาระความเป็นคณะรัฐบาลที่ไปตั้งกันในค่ายทหาร การกลับมาหนนี้มีภาระกิจที่สำคัญรออยู่หลายประการ โดยเฉพาะการกู้ซากปรักหักพังจากผลแห่งการเลือกตั้งที่ผ่านมา


อรชุน

เสร็จสิ้นเรียบร้อยไม่มีอะไรเหนือความคาดหมาย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ชื่อ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ และเลขาธิการพรรคคือ เฉลิมชัย ศรีอ่อน ที่เป็นเชนคัมแบ็คกลับมารับตำแหน่งแม่บ้านพรรคเก่าแก่อีกรอบ หลังจากเคยปฏิบัติหน้าที่นี้มาแล้วเมื่อคราว อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นหัวหน้าหลังจากพ้นวาระความเป็นคณะรัฐบาลที่ไปตั้งกันในค่ายทหาร การกลับมาหนนี้มีภาระกิจที่สำคัญรออยู่หลายประการ โดยเฉพาะการกู้ซากปรักหักพังจากผลแห่งการเลือกตั้งที่ผ่านมา

แต่ก่อนที่จะไปถึงตรงนั้น อู๊ดด้าและคณะมีงานใหญ่รออยู่คือหารือร่วมกับส.ส.ของพรรคจำนวน 52 เสียง จะเดินกันอย่างไรบนถนนสายการเมืองเลือกที่จะเป็นฝ่ายค้านอิสระตามข้อเสนอของ “ไอติม” พริษฐ์ วัชรสินธุ แกนนำกลุ่มคนรุ่นใหม่ของพรรคหลานอภิสิทธิ์ หรือจะเลือกเดินไปร่วมเป็นรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ ตรงนี้ถือเป็นจุดชี้วัดที่สำคัญ อันหมายถึงอนาคตของพรรคเก่าแก่ โดยที่แนวโน้มคนยังเชื่อว่าจะไปถือหางฝั่งสืบทอดอำนาจแน่นอน

วาทกรรมที่ตามมาคงหนีไม่พ้นเพื่อให้บ้านเมืองมีทางออก ประเทศได้เดินหน้า ถ้าเป็นเช่นนั้นจากนี้ก็เหลือแต่เพียงพรรคภูมิใจไทย ที่จะประชุมกันในวันที่ 20 พฤษภาคมนี้ และคงไม่มีอะไรพลิกผัน มติที่ออกมาคงไม่ต่างจากพรรคประชาธิปัตย์ ในเมื่อทุกอย่างมันถูกล็อคด้วยกลไกของเผด็จการ ขยับทางไหนก็ลำบาก สู้เลือกไปร่วมหัวจมท้ายกับขบวนการสืบทอดอำนาจ แม้จะเป็นเวลาไม่นาน แต่การเป็นรัฐบาลย่อมดีกว่าไปนักการเมืองฝ่ายค้านอดอยากปากแห้ง

งานนี้ แม้แต่ สาทิตย์ วงศ์หนองเตย แกนนำสำคัญของม็อบนกหวีดยังไม่กล้ามองฉีกมุม ยอมรับแต่โดยดีคณะผู้บริหารพรรคประชาธิปัตย์ชุดใหม่ ไม่ว่าจะตัดสินใจอนาคตอย่างไร สิ่งสำคัญคือการเตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้งครั้งใหม่ ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในเร็ววัน เพราะรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำไม่มีทางที่จะเดินไปได้ตลอดรอดฝั่ง เมื่อไม่มีอำนาจวิเศษอยู่ในมือ ชี้เป็นชี้ตายใครไม่ได้ พลาดนิดเดียวทุกอย่างมีอันพังพาบ อยู่ที่ว่าจะเลือกจบแบบไหนเท่านั้นเอง

ไม่มีใครคาดเดาได้ว่าทิศทางพรรคเก่าแก่จากนี้จะเป็นอย่างไร แต่การกระตุกเตือนจากไอติมเด็กรุ่นใหม่ภายในพรรค ไม่แน่ใจว่าจะช่วยเรียกสำเหนียกสำนึกของคนที่กระสันอยากจะร่วมรัฐบาลสืบทอดอำนาจได้หรือไม่ กับสิ่งที่คนในพรรคกระตือรือร้นกันเป็นอย่างมากคือ จะทำให้ประชาธิปัตย์กลับมาได้คะแนนเสียงมากเหมือนที่ผ่านมาได้อย่างไร ไอติมกลับมีปุจฉาว่าแทนที่จะถามแค่ว่าทำอย่างไรให้คะแนนเสียงเพิ่มขึ้นหรือน้อยลง ทำไมไม่ถามว่าอุดมการณ์ของประชาธิปัตย์คืออะไร หรือควรเป็นอะไรกันแน่

สิ่งที่น่าจะแทงใจดำใครหลายคนภายในพรรค คงเป็นสารที่สื่อออกมาว่า ไม่ว่าจะพูดถึงพรรคการเมืองไหน ถ้าพรรคนั้นยังไม่มีตัวตนที่ชัดเจนหรือมีตัวตนที่ชัดเจนแล้ว แต่บอกไม่ได้ว่าแตกต่างจากพรรคการเมืองอื่นอย่างไร ตนก็ไม่เข้าใจว่าพรรคการเมืองนั้นจะมีอยู่เพื่ออะไร ตนมีความเชื่อว่าถ้าพรรคประชาธิปัตย์อยากได้รับความไว้วางใจจากประชาชน ต้องรักษาคำพูด ต้องชัดเจนในอุดมการณ์ ต้องต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ

นี่แหละคือสิ่งที่จะเป็นตัวตัดสินว่า พรรคเก่าแก่ยุคเปลี่ยนแปลงหลังเลือกตั้ง จะเป็นตัวของตัวเองอย่างที่ควรจะเป็นได้แล้ว หรือเลือกที่จะเป็นแบบเดิมคืออ้างอุดมการณ์ อ้างหลักการ อ้างระบบ แต่พฤติกรรมยังคงสมคบคิดกับอำนาจอื่นที่ไม่ได้เป็นไปตามกลไกของระบอบประชาธิปไตย ผลจากการตัดสินใจเลือกในทางการเมืองครั้งนี้จะเป็นตัวชี้วัด บางทีอาจจะหมายถึงชะตากรรมของคนรุ่นใหม่หลายๆรายในพรรคเก่าแก่ด้วยก็ได้

หลังจากที่เกาะติดทิศทางการจับขั้วตั้งรัฐบาลกันมาเกือบเดือน โดยที่ยังไม่มีความชัดเจนใดๆ ก็มีเรื่องใหม่ให้สังคมได้วิพากษ์วิจารณ์กันสนั่นเมือง นั่นก็คือ รายชื่อส.ว.ลากตั้ง 250 ราย ที่คลอดมาเรียบร้อยและทยอยไปรายงานตัวกันอย่างคึกคัก บทสรุปของการปฏิรูปภายใต้คณะเนติบริกรศรีธนญชัยก็คือ ไม่เอาส.ว.เลือกตั้งเพราะเกลียดสภาผัว-เมีย แต่การลากตั้งผลที่ได้คือสภาพี่น้อง เพื่อนพ้องและพรรคพวก มากไปกว่านั้นคือ บรรดาคนหน้าเดิมที่ได้รับการอุ้มสมจากอำนาจเผด็จการมานานเกือบ 20 ปี

ความจริงไม่ต้องไปถามก็น่าจะรู้คำตอบอยู่แล้ว กรณี วันชัย สอนศิริ คนที่เคยอภิปรายเรื่องสภาผัว-เมียเมื่อปี 2556 พอยุคนี้เกิดภาพที่เลวร้ายยิ่งกว่า คลี่รายชื่อทั้งหมดออกมาแล้วหนักข้อกว่าสภาที่ทนายหัวหมอรายนี้เคยพ่นน้ำลายไว้ แต่สิ่งที่เจ้าตัวอธิบายหรือแถล่าสุดคือ เรื่องต่างตอบแทนเป็นปกติ แต่ต้องวัดกันที่ผลงาน มิหนำซ้ำ ยังสีข้างถลอกด้วยการบอกว่า เมื่อตั้งคนที่มีความรู้ความสามารถไม่ว่าจะเป็นใครก็ถือว่าไม่ใช่เรื่องเสียหาย

ไม่ต่างอะไรจากพวกส.ว.ประเภทเดียวกัน ที่ยกเอาผลประชามติของรัฐธรรมนูญมาเป็นเกราะกำบัง คงไม่ต้องไปเถียงกันให้เปลืองน้ำลาย นาทีนี้อะไรที่จะใช้เป็นเครื่องมือคุ้มกะลาหัวก็ต้องยกมาให้หมด แต่ความเป็นจริงคนส่วนใหญ่ย่อมรู้ดีว่าที่มาของคนเหล่านั้นเป็นอย่างไร ยิ่งไม่ต้องไปพูดถึงการยกมือโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี อย่าได้มีหน้ามาอ้างว่าประชาชนเลือกพรรคที่มีเสียงข้างมาก เพราะผลเลือกตั้งกับความพยายามที่จะให้เป็นไปตามเกมการสืบทอดอำนาจนั้น มันสวนทางกันโดยสิ้นเชิง

เช่นเดียวกับ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ถึงกับฉุนนักข่าวเมื่อถูกถามเรื่องประสานใครมาเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดใหม่ โดยตะคอกว่าให้เลิกถามเรื่องนี้ได้แล้ว แต่ที่น่าขีดเส้นใต้เป็นอย่างมาก คงเป็นการแก้ต่างเรื่องคนใกล้ชิดได้เป็นส.ว.ที่อ้างว่ามีแค่ 2-3 คน น่าสนใจตรงที่เมื่อมีการถามถึงนายทหารบางรายที่เป็นเพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหาร 6 ของตัวเอง พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์ตอบกลับด้วยเสียงอันดังว่า “แล้วเขาเป็นลูกน้องใคร” แบบนี้จะเรียกว่ามีวันนี้เพราะพี่ให้ได้หรือเปล่า

นี่เป็นภาพสะท้อนอีกอย่างหนึ่งของคณะบุคคลที่อ้างว่าเข้ามาเพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ แต่สุดท้ายก็ยังหนีไม่พ้นระบบเจ้าขุนมูลนาย มีลูกน้องคนรับใช้ที่จะต้องคอยปูนบำเหน็จ ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ยิ่งการได้อำนาจมาโดยไม่ต้องลงทุนและกระบวนการตรวจสอบทำอะไรไม่ได้แบบนี้ ยิ่งทำให้ทำอะไรกันได้ตามใจต้องการ คงต้องไปรอดูกันหลังเข้าไปบริหารประเทศ ภายใต้กติกาที่ตัวเองกำหนดไว้ เมื่อมีฝ่ายนิติบัญญัติที่จะคอยถ่วงดุล ตรวจสอบ ไม่มีสภาสรรเสริญเยินยอเหมือน 5 ปีที่ผ่านมา จะเดินกันอย่างไร

Back to top button