ประตูหลังยังกว้าง
100 ปีก่อนหลู่ซิ่นนักเขียนวิจารณ์สังคมจีนชื่อดังเขียนเรื่องสั้นอมตะเรื่องจริงของอาQ วิจารณ์คนหัวก้าวหน้าในสังคมจีนที่พูดถึงการเปลี่ยนแปลงแต่เปลือกนอกโดยไม่เข้าใจสาระของการเปลี่ยนแปลง
พลวัตปี 2019 : วิษณุ โชลิตกุล
100 ปีก่อนหลู่ซิ่นนักเขียนวิจารณ์สังคมจีนชื่อดังเขียนเรื่องสั้นอมตะเรื่องจริงของอาQ วิจารณ์คนหัวก้าวหน้าในสังคมจีนที่พูดถึงการเปลี่ยนแปลงแต่เปลือกนอกโดยไม่เข้าใจสาระของการเปลี่ยนแปลง
งานเขียนของหลู่ซิ่นเรื่องนี้ไม่เคยตกยุคเพราะอาQ ยังคงเพ่นพ่านไปหมดทุกวงการทั่วโลกรวมทั้งในตลาดหุ้นไทย
ล่าสุดปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นน่าจะเข้าข่ายทำให้หุ้นตัวหนึ่งกลายเป็นอาQ ได้ไม่ยาก
2 ปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นบริษัทผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าขนาดกลางซึ่งมีภาพลักษณ์ภายนอกไม่โดดเด่นอะไรมากมายมีอัตรากำไรสุทธิพอประมาณไม่มากมายอะไรแค่ระดับ 7-12% ต่อปีแล้วแต่สภาพว่าปีไหนดีมากหรือน้อย
สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งของภาพลักษณ์เดิมที่ค่อนข้างเงียบน่าจะมาจากบุคลิกภาพส่วนตัวของวิศวกรในฐานะผู้บริหารสูงสุดที่นั่งควบ 2 ตำแหน่งคือประธานคณะกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการนั่นเอง
ผู้บริหารรายนี้เคยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทเมื่อตอนเข้าจดทะเบียนครั้งแรกแต่ระยะต่อมาชื่อหายไปแล้วเปลี่ยนชื่อของทายาท 3 คนเข้ามาถือหุ้นแทนรวมแล้วมากกว่า 60% ซึ่งก็ยิ่งทำให้ชื่อที่ไม่ติดปากนักลงทุนอยู่เดิมยิ่งเงียบหายกันใหญ่
จนกระทั่ง 2 ปี ที่ว่ามีการขยับตัวครั้งใหญ่เมื่อ บอร์ดบริษัททำท่ากินยาผิดซองออกมามีมติประกาศรุกทางธุรกิจครั้งสำคัญด้วยการเพิ่มทุนอีกประมาณ 35% จากทุนจดทะเบียนเดิม 200 ล้านบาทเป็น 270 ล้านบาท
การเพิ่มทุนดังกล่าวไม่ใช่ต้องการเอาไปทำโรงงานผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าแบบเดิมแต่ขยับขยายไปทำอย่างอื่นแต่ก็หนีไม่พ้นเกี่ยวกับไฟฟ้าอีก นั่นคือธุรกิจโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์หรือโซลาร์ฟาร์มในญี่ปุ่นซึ่งเอาเข้าจริงคือการ “ถอยในรุก” อย่างอำพรางตามสูตรวิศวกรรมการเงินธรรมดา
บริษัทอาQ รายนี้อ้างเหตุผลสวยหรูถึงอนาคตอันเริ่ดหรูว่ามีผลการศึกษาความเป็นไปเบื้องต้นของโครงการที่ต้องใช้เงินเพื่อลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ญี่ปุ่นประมาณ 180 ล้านบาทและเงินทุนส่วนที่เหลือจะเตรียมไว้ขยายธุรกิจในอนาคตดังนั้นจึงต้องเพิ่มทุนขายพันธมิตรเชิงกลยุทธ์
ผลลัพธ์ของการเพิ่มทุนครั้งนั้นกลับตาลปัตรเป็นการเทกโอเวอร์กิจการแบบ “เข้าประตูหลัง“ อย่างแนบเนียนเพราะผลท้ายสุดผู้ถือหุ้นรายใหญ่เดิมกลายเป็นรายย่อยเนื่องจากธุรกรรมที่เกิดขึ้นไม่ได้ขายหุ้นเพิ่มทุนแก่นักลงทุนทั่วไปหรือผู้ถือหุ้นเดิมแต่เป็นการขายแบบเฉพาะเจาะจงให้ 4 คน ประกอบด้วยพันธมิตรใหม่ 4 ราย นำโดยอดีตประธานตลาดฯ คนดังตามมาด้วยกลุ่มนักลงทุนจากสปป.ลาว และนอมินีลึกลับ
หลังประกาศดีลออกไปราคาหุ้นอาQ รายนี้ที่ควรจะลงเพราะเหตุว่าจำนวนหุ้นเพิ่มมากขึ้นและราคาที่ขายต่ำกว่าตลาดเกือบ 10% กลับวิ่งหน้าเริ่ดกลายเป็นหุ้นราคาร้อนแรงจนถูกตลาดฯ ขึ้นบัญชีแคชบาลานซ์หลายครั้ง
จากนั้นมาข่าวคราวก็เงียบเชียบลงไปตามสูตรสำเร็จของหุ้นมีเจ้ามือแม้จะมีข่าวบวกตามมาว่าบริษัททำการเปลี่ยนชื่อใหม่เพื่อย้ายไปทำกิจการด้านพลังงานทดแทนจริงจังและผลการดำเนินงานสามารถทำกำไรจากการแตกไลน์ธุรกิจใหม่ได้
เพียงแต่ผลกรรมเก่าที่ยังมีขาดทุนสะสมติดลบอยู่ทำให้หุ้นอาQ รายนี้ไม่สามารถจ่ายปันผลได้
แล้วล่าสุดก็มีข่าวใหม่เข้ามาอีกเมื่อมีข่าวว่าอดีตประธานตลาดฯ คนดังได้แจ้งตลาดว่าขายหุ้นที่ถือไว้ประมาณ 6% ทิ้งทั้งพอร์ต
ที่น่าสนใจคนซื้อหุ้นไปไม่ใช่คนอื่นไกลเลยเสี่ยโก้ ณ พุนพิน นั่นเอง
เสี่ยโก้เป็นผู้บริหารสูงสุดของบริษัทอสังหาริมทรัพย์แถวภาคใต้ที่พยายายามมาหลายปีที่จะแต่งตัวบริษัทเข้าระดมทุนในตลาดเพื่อลดหนี้ของกิจการลงทำมาหลายปีจนมีเค้าว่าจะไม่ได้เข้าตลาดแน่นอนตามวิธีปกติ
เหตุผลหลักมีหลายข้อแต่ที่เด่นสุดและอธิบายยากคือธุรกิจเสี่ยโก้มีรายได้หลักไม่ได้จากพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แต่จากการเล่นแร่แปรธาตุซื้อขายที่ดินเพราะชื่อเสี่ยโก้ในฐานะนักค้าที่ดิน “มือทอง” นั้นระบือไปทั่วทุกทิศ
ที่มาของรายได้แบบนี้ทำให้แม้เสี่ยโก้จะประเคนสัดส่วนการถือครองหุ้นในกิจการที่กำลังแต่งตัวก็ยังถูก ก.ล.ต.ตั้งคำถามเซ้าซี้จนละเหี่ยใจของที่ปรึกษาการเงินไปตาม ๆ กัน
ดีลซื้อขายหุ้น “กันเอง” แม้จะไม่มากเพียงพอที่จะทำให้เสี่ยโก้มีสิทธิเข้ามาครอบงำเปลี่ยนเป้าหมายจนทำให้บริษัทอาQ ต้องกลายร่างจากหุ้นพลังงานเป็นหุ้นอสังหาริมทรัพย์ในทันทีทันควันแต่เชื่อขนมกินได้ว่าความเป็นไปได้ในอนาคตนั้นสามารถเกิดขึ้นได้
หากนี่ไม่ใช่ก้าวแรกของเสี่ยโก้ในการเข้าตลาดทางประตูหลัง ดีลที่เกิดขึ้นน่าจะเปิดทางให้กับปฏิบัติการ “ลับ –ลวง – พราง” อื่น ๆ ที่คาดไม่ถึง
งานนี้ใครอยากรู้ต้องแอบกระซิบถามเสี่ยโก้ในที่ลับตาว่าจะคิดอย่างไรกับการเข้าประตูหลังหุ้นอาQ