พาราสาวะถี

สถานการณ์งวดเข้ามาทุกขณะ ด้วยเหตุที่ว่า 25 พฤษภาคมนี้ หลังรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา จะมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อลงมติเลือกประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร อันถือเป็นด่านแรกที่จะเป็นบทพิสูจน์ว่า การจับขั้วการเมืองเพื่อตั้งรัฐบาลนั้น ผลออกมาในทางใด พลังประชารัฐพา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สืบทอดอำนาจสำเร็จตามแผน หรือ เพื่อไทยที่เล่นเกมเทหมดหน้าตัก ยอมสละทุกอย่าง สามารถต้านการสืบทอดอำนาจได้


อรชุน

สถานการณ์งวดเข้ามาทุกขณะ ด้วยเหตุที่ว่า 25 พฤษภาคมนี้ หลังรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา จะมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อลงมติเลือกประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร อันถือเป็นด่านแรกที่จะเป็นบทพิสูจน์ว่า การจับขั้วการเมืองเพื่อตั้งรัฐบาลนั้น ผลออกมาในทางใด พลังประชารัฐพา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สืบทอดอำนาจสำเร็จตามแผน หรือ เพื่อไทยที่เล่นเกมเทหมดหน้าตัก ยอมสละทุกอย่าง สามารถต้านการสืบทอดอำนาจได้

แต่ทั้งหมดจนถึงขณะนี้ ก็ยังไร้คำตอบ เนื่องด้วยสองพรรคตัวแปรสำคัญทั้ง ประชาธิปัตย์และภูมิใจไทย ยังเล่นบทติ๊ดชึ่งจนวินาทีสุดท้าย โดยพรรคเก่าแก่อาจไม่ใช่การดึงจังหวะเพื่อต่อรองตำแหน่ง แต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นภายในพรรคอันไม่เป็นเอกภาพ ซึ่งมีโจทย์ใหญ่อันหมายถึงความพ่ายแพ้อย่างหมดรูปจากการเลือกตั้งที่ผ่านมา อันเป็นสิ่งที่ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคคนใหม่และคณะกรรมการบริหารพรรคต้องขบคิดและตีโจทย์ให้แตก

จนถึงวันนี้ที่จะมีการประชุมระหว่างหัวหน้าพรรคกับส.ส.ของพรรค ก็ยังไม่ยืนยันว่าจะมีคำตอบเรื่องร่วม-ไม่ร่วมรัฐบาลพลังประชารัฐ โดยอู๊ดด้ายังขอขยักไว้อีกรอบ โดยจะเป็นการนัดเคาะร่วมกันระหว่างคณะกรรมการบริหารพรรคกับส.ส. เพราะไม่ว่าจะออกมารูปแบบใด พรรคเก่าแก่ก็มีแต่เสียกับเสีย หากไปร่วมมือกับพรรคสืบทอดอำนาจ ข่าวที่เล็ดลอดออกมาว่า อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อาจถึงขั้นไขก๊อกพ้นพรรคไปเลย ก็ใช่ว่าจะห่างไกลจากความเป็นจริง

ไม่เพียงเท่านั้น หลานชายคนหล่อของอภิสิทธิ์อย่าง พริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ ไอติม ก็เพิ่งให้สัมภาษณ์ล่าสุด ย้ำถึงจุดยืนฝ่ายค้านอิสระ พร้อมประกาศถ้าอุดมการณ์ส่วนตัวกับพรรคไม่ตรงกันก็พร้อมพิจารณาตัวเอง จะเห็นได้ว่า เส้นทางเดินของประชาธิปัตย์ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป การจะเล่นบทสร้างวาทกรรม ตีกรรเชียงเหมือนในอดีตนั้นใช้ไม่ได้อีกแล้ว ยิ่งกองเชียร์มีตัวเลือกเพิ่มอย่างพรรคสืบทอดอำนาจ พรรคเก่าแก่ยิ่งต้องสร้างความแตกต่างและหาทางที่จะกลับมาเป็นพรรคใหญ่ให้ได้เหมือนเดิมในเร็ววัน

รอยปริแยกจากผลการเลือกตั้งหนนี้ ไม่เพียงแต่รอการพิสูจน์ผ่านกระบวนการตัดสินใจร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาลพรรคสืบทอดอำนาจเท่านั้น หากแต่ผลจากการเลือกหัวหน้าพรรคที่ผ่านมา ก็สะท้อนให้เห็นปัญหาของความไม่ลงรอยกันระหว่างฝ่ายถือครองอำนาจยาวนานในพรรค กับฝ่ายที่มีคนนอกพรรคถือหางเพื่อหวังผลอย่างหนึ่งอย่างใด อันจะเห็นได้ผ่านการแสดงความเห็นของหนึ่งในผู้ชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรคนาม พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค

การประกาศว่าผู้หลักผู้ใหญ่ในพรรคที่เคยนับถือ ไร้สปิริตและเป็นต้นตอแห่งความแตกแยกภายในพรรค พร้อม ๆ กับการขอบคุณบุคคลที่ให้กำลังใจ ก็ทำให้เห็นแล้วว่า แท้จริงนักกฎหมายรายนี้ไม่พอใจต่อความไม่เป็นกลางของผู้หลักผู้ใหญ่ที่ตัวเองบอกว่าหลงนับถือมานาน หรือถูกชี้นำมาจากผู้อยู่เบื้องหลัง วัฒนธรรมองค์กรที่ว่า ดุเดือดเฉพาะเวลาแข่งขันหลังรู้ผลแล้วทุกอย่างเหมือนเดิม รักกัน สามัคคีกัน อาจไม่ได้เป็นเช่นนั้นอีกต่อไป

ความจริงอาจต้องยอมรับนับตั้งแต่พรรคตัดสินใจไปโบกมือดักกวักมือเรียกให้เกิดคณะเผด็จการคสช.แล้วว่า ทิศทางของพรรคและคนของพรรคจะไม่กลับมาเหมือนเดิม เนื่องจากได้แปรสภาพไปจากกระบวนการคิดและแนวทางของพรรคที่เคยเป็นมา อย่าลืมว่าคนนำม็อบกับผู้ใหญ่ในพรรคเคยมีความบาดหมางอะไรกันมาก่อน มันจึงย้อนกลับมาทำลายพรรคเก่าแก่อย่างที่เห็น ด้วยเหตุนี้นี่จึงเป็นปัญหาทำให้พรรคสืบทอดอำนาจไม่สามารถประกาศความเป็นผู้นำตั้งรัฐบาลได้เสียที

ขณะพรรคตัวแปรอย่างภูมิใจไทย ทั้ง ๆ ที่มีคำตอบอยู่แล้วว่าจะเลือกข้างไหนหรือเดินทางใด แต่ก็ยังลีลา ล่าสุด ผลการสัมมนาละลายพฤติกรรมของส.ส.ทั้ง 51 คนที่จังหวัดบุรีรัมย์ ที่สุดก็มีมติของส.ส.ทั้งหมดให้ อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคเป็นผู้มีอำนาจแต่เพียงผู้เดียวในการที่จะตัดสินใจเรื่องเข้าร่วมรัฐบาลกับใคร เบื้องต้น ก็เป็นไปตามข่าวว่าจะตั้งโต๊ะหารือกับพรรคที่ยังไม่มีการประกาศท่าทีที่ชัดเจนก่อน และคงหนีไม่พ้นประชาธิปัตย์กับชาติไทยพัฒนา

พอออกมาสูตรนี้คนก็จะมองไปที่ขั้วที่ 3 โดยสถานการณ์ที่พรรคเพื่อไทยประกาศไม่รับตำแหน่งทั้งนายกฯ และประธานสภาฯ  ก็ทำให้เชื่อได้ว่า นี่เป็นทางเลือกที่เย้ายวนชวนให้เสี่ยหนูต้องคิดหนัก ยิ่งได้ฟังคำพูดที่ว่าเมื่อจะเลือกต้องเลือกอยู่กับรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ การไปจับขั้วกับพลังประชารัฐก็ถูกมองว่าจะเป็นรัฐบาลเสียปริ่มน้ำ ถ้าเช่นนั้นกระบวนการรวบรวมเสียงในแนวทางใหม่ จะเดินกันอย่างไร เพราะเป้าหมายถ้าจะมีนายกฯที่ไม่ใช่ผู้นำการสืบทอดอำนาจ จะฝ่าด่านส.ว.ลากตั้งได้อย่างไร

การถอยกรูดของพรรคนายใหญ่ แล้วปล่อยให้พรรคอนาคตใหม่ขึ้นมาเป็นแกนนำในการรวบรวมเสียง ไม่รู้ว่าจะเป็นแรงจูงใจมากพอที่จะให้สองพรรคตัวแปรสำคัญเปลี่ยนใจได้หรือไม่ ขณะที่หัวหน้าพรรคอย่าง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ก็ยังต้องเผชิญชะตากรรมกับคดีที่อยู่รอบตัว โดยวันที่ 23 พฤษภาคมนี้ ศาลรัฐธรรมนูญก็จะพิจารณาว่าจะรับหรือไม่รับเรื่องที่ถูกร้องถือหุ้นสื่อไว้พิจารณาหรือไม่ ถ้ารับผลที่จะตามมาก็น่าลุ้นอยู่ไม่ใช่น้อย

ไม่ได้จบแค่นั้น ยังมีประเด็นเรื่องการให้พรรคกู้ยืมเงิน 110 ล้านบาท ก็เป็นเรื่องใหม่ที่สังคมกำลังเฝ้าจับตามอง มือกฎหมายของพรรคใหม่ไฟแรงเชื่อว่าไม่เข้าข่ายผิดกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง แต่คนเหล่านั้นไม่ใช่ผู้บังคับใช้กฎหมายและไม่ใช่คนตีความข้อกฎหมาย ดังนั้น จึงเป็นปุจฉาตัวโตต่อมาว่า กรณีนี้จะเป็นชนวนนำไปสู่การพังพาบของพรรคการเมืองที่กำลังถูกจับตามองได้หรือไม่ หลายฝ่ายมองกันว่านี่อ่อนไหวและน่ากลัวกว่าหุ้นสื่อเสียด้วยซ้ำไป

เรียกได้ว่า การเมืองหลังเลือกตั้งที่ผ่านพ้นมาจะ 2 เดือนแล้ว มีให้ลุ้นกันทุกรูปแบบ เดากันไม่ได้เลยว่าจะออกหัวหรือก้อย นาทีนี้อยากถามคนที่เขียนรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย นี่คือความยุ่งเหยิงที่อยากให้เกิดขึ้นหรือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นโดยคาดไม่ถึง อยากฟังความจริงว่าคิดอะไรกันอยู่ คงไม่ต้องถึงกับแสดงความรับผิดชอบใด ๆ เพราะแค่ถามความเห็นก็ยังปัดกันเป็นพัลวันแล้ว

Back to top button