SELIC ถึงเวลาผลิดอก
จบไปแล้วสำหรับเทศกาลประกาศงบการเงินไตรมาสแรกสิ้นสุด 31 มีนาคม 2562 จึงขอเปลี่ยนบรรยากาศพูดถึงหุ้นนอกสายตาซึ่งเทิร์นอะราวด์ที่น่าตื่นใจที่สุดของตลาดไตรมาสแรกปีนี้
พลวัตปี 2019 : วิษณุ โชลิตกุล
จบไปแล้วสำหรับเทศกาลประกาศงบการเงินไตรมาสแรกสิ้นสุด 31 มีนาคม 2562 จึงขอเปลี่ยนบรรยากาศพูดถึงหุ้นนอกสายตาซึ่งเทิร์นอะราวด์ที่น่าตื่นใจที่สุดของตลาดไตรมาสแรกปีนี้
นั่นคือหุ้น บริษัทซีลิค คอร์พ จำกัด (มหาชน) หรือ SELIC
บริษัทนี้เข้าจดทะเบียนซื้อขายครั้งแรกในปี 2559 แล้วก็กลายเป็นหุ้นที่น่าผิดหวังมาตลอดจนแทบจะหาคนสนใจได้น้อยเต็มที
เหตุผลก็สมควรเพราะผลประกอบการพลาดเป้าหรือต่ำกว่าเป้ามาโดยตลอดแถมปีที่ผ่านมายังขาดทุนสุทธิให้เห็นอีก
ที่ร้ายกว่านั้นแผนธุรกิจที่เคยแจ้งเมื่อแรกเข้าตลาดคือการเติบโตทางลัดด้วยวิศวกรรมการเงินซื้อกิจการเข้ามาเพื่อเพิ่มรายได้และกำไรก็ไม่เกิดขึ้นจนกระทั่งกลางปี 2561 จึงเริ่มขยับตัว
โดยข้อเท็จจริงบริษัทนี้เดิมเป็นธุรกิจครอบครัวประกอบการทำกาวอุตสาหกรรมซึ่งเป็นอุตสาหกรรมสนับสนุน “ปิดทองหลังพระ” อุตสาหกรรมผลิตสติ๊กเกอร์และฉลากป้ายสินค้าที่มีคู่แข่งน้อยรายในตลาดยกเว้นคู่แข่งที่เป็นยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ
พูดให้เข้าใจง่าย ๆ คือโมเดลธุรกิจของ SELIC เป็นการแข่งขันข้ามประเทศที่มีนัยสำคัญยิ่ง
วิสัยทัศน์ของคนในรุ่นที่สองของครอบครัวนำโดยคนหนุ่มวิสัยทัศน์ยาวไกลอย่างนายเอก สุวัฒนพิมพ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้บริหาร ที่เป็นพี่น้องทำให้ต้องการเติบใหญ่ทางลัดเพื่อทลายการล้อมกรอบของคู่แข่งที่เป็นยักษ์ข้ามชาติก่อนจะถูกกลืนให้ตายซาก
แผนระดมทุนเข้าจดทะเบียนในตลาด ฯ เกิดขึ้นมาแต่แผนดังกล่าวเข้าข่าย “พูดง่ายทำยาก” เพราะการเจรจาซื้อกิจการทั้งในประเทศและเขตอาเซียนรวมจีนไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เพราะในทางปฏิบัติแล้วบริษัทที่เป็นเป้าหมายนั้นมีลักษณะที่อยากได้กลับไม่ยอมขายที่อยากขายก็ไม่น่าซื้อ
ความล่าช้าของการใช้เงินทุนที่ระดมได้มาเมื่อแรกเข้าตลาดส่งผลต่อความสามารถทำกำไรและการเติบโตในช่วงที่ผ่านมา ราคาหุ้นที่หลุดจองไปนานหลายปีจึงสะท้อนข้อเท็จจริงที่ปิดไม่มิด
แล้วทุกอย่างก็เปลี่ยนเป็น “ฟ้าสีทองผ่องอำไพ” เมื่อดีลซื้อกิจการในอุตสาหกรรมเดียวกันจากการควบรวมและเข้าซื้อกิจการกลุ่ม PMC นำโดยบริษัทพีเอ็มซี เลเบิล แมททีเรียลส์ จำกัด ในประเทศไทย และบริษัทพีเอ็มซี เลเบิล แมททีเรียลส์ พีทีอี ลิมิเตด ในประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสติ๊กเกอร์และผลิตภัณฑ์ฉลากในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ส่งผลให้โครงสร้างการจัดการของบริษัทมีการเปลี่ยนแปลงโดยกลุ่มบริษัทพีเอ็มซี แมททีเรียลส์ ทั้งสองแห่งเป็นบริษัทย่อยของซีลิค
ผลลัพธ์ที่ตามมาทำให้เป็นมากกว่ายิงกระสุนนัดเดียวได้นกหลายตัวนอกจากทำให้กลุ่มบริษัทมีรายได้จากการดำเนินงานในธุรกิจ 2 ประเภทหลากหลายขึ้นคือ 1. ธุรกิจกาวอุตสาหกรรมของเดิม 2. ธุรกิจสติ๊กเกอร์หรือฉลากที่มีกาวในตัวทำให้เป็นส่วนเสริมกันในรูปพลังผนึกหรือ synergy แล้วยังส่งผลต่อฐานะทางการเงินอย่างหลังเท้าเป็นหน้ามือรวดเร็ว
ผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/2562 ของ SELIC ที่ก้าวกระโดดมีรายได้ไตรมาส 1/2562 อยู่ที่ 359.33 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 151.2% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 1/2561 มีรายได้อยู่ที่ 143.02 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 23.92 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 5,394.3% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 1/2561 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 0.44 ล้านบาท ขณะที่ EBITDA อยู่ที่ 51.29 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 689.2% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
รายได้จากไตรมาสแรกที่เกินกว่าครึ่งของรายได้ทั้งปีของบริษัทเมื่อปีก่อนและกำไรไตรมาสแรกของปีนี้เกือบเท่ากับกำไรสุทธิรวมของ 3 ปีที่ผ่านมา ไม่ใช่เรื่องการแต่งตัวเลขหรือมหัศจรรย์ทางบัญชีแน่นอนและเป็นมากกว่าคำอธิบายอย่างย่นย่อของผู้บริหารที่ระบุว่า “เนื่องจากการบริหารจัดการต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่ดีขึ้น” แต่เป็นของแผนธุรกิจโตทางลัดด้วยการ “ฉลาดซื้อกิจการ” นั่นเอง
กลยุทธ์และแนวทางการเติบโตผ่านการควบคุมในลักษณะ integration ที่ส่งผลต่อรายได้ไตรมาสแรกปีนี้เพิ่มขึ้นมาจากการได้มาซึ่งอำนาจควบคุมในบริษัทพีเอ็มซี เลเบิล แมททีเรียลส์ จำกัดในประเทศไทย และบริษัทพีเอ็มซี เลเบิล แมททีเรียลส์ พีทีอี ลิมิเตดในประเทศสิงคโปร์ เดินมาถูกทางและถูกเวลาพอดี
แนวโน้มความต้องการตลาดกาวอุตสาหกรรมและตลาดสติ๊กเกอร์ทั้งในประเทศและอาเซียนยังคงมีการเจริญเติบโตที่ดีเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคและการขยายตัวของธุรกิจออนไลน์ช้อปปิ้งส่งผลให้เกิดความต้องการใช้งานสติ๊กเกอร์หรือฉลากเพิ่มมากขึ้นโดยปัจจุบัน SELIC มุ่งเน้นที่จะขยายการเติบโตไปกับผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับ e-commerce ที่เติบโตรุนแรงและจะส่งผลดีกับบริษัทส่งผลให้กลุ่มบริษัทเติบโตต่อไปและบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ได้ในระยะยาว
ที่น่าสนใจคือก้าวแรกที่ส่งผลรุนแรงจนกลายเป็นบริษัทที่มีการเติบโตของกำไรในระดับหัวแถวผ่านการดำเนินงานล้วน ๆ ไม่ต้องพึ่งพากำไรพิเศษใดยังมีก้าวอื่นตามมาอีกเพราะ SELIC ยังคาดหวังที่จะขยายตลาดเพิ่มในสินค้ากลุ่ม Specialty โดยมีการเริ่มทดสอบและเตรียมสายการผลิตโดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 2/2562 ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมการขยายตลาดในต่างประเทศแล้วยังมุ่งเน้นในการขยายธุรกิจทั้งธุรกิจกาวอุตสาหกรรมและธุรกิจสติ๊กเกอร์และฉลากพร้อมให้ความสำคัญในการขยายการเติบโตของทั้งสองธุรกิจและยังมองหาโอกาสที่จะเติบโตผ่านการควบรวม (M&A) หรือการร่วมเป็นพันธมิตรไม่ว่าจะในรูปแบบของ Joint Venture หรือ Partnership ตามเงื่อนไขที่เหมาะสม
เพียงเท่านี้น่าจะมีส่วนทำให้นักลงทุนที่มองหาหุ้นเด่นกว่าตลาดได้เวลาปรับมุมมองต่อหุ้น SELIC ครั้งใหม่เพราะแม้ว่าราคาหุ้นเมื่อคิดจากค่าพี/อีจะยังแพงอยู่เพราะมีเงื่อนไขข้อจำกัดที่แม้งบการเงินจะมีสภาพคล่องดีแต่ยังมีหนี้สินมากกว่าส่วนผู้ถือหุ้นเกว่า 3 เท่า และกำไรสะสมต่ำทำให้จ่ายปันผลน้อย (แต่ล่าสุดจ่ายปันผลเป็นหุ้นปลอบใจถือว่าเข้าใจสถานการณ์ได้ดี) แต่เมื่อพิจารณาโอกาสการเติบโตในอนาคตแล้วถือว่าน่าสนใจอย่างยิ่ง
บริษัทที่ผู้บริหารพูดน้อยทำงานหนักแถมโมเดลธุรกิจเริ่มผลิดอกออกผลใครพลาดเป็นผู้ถือหุ้นจะเรียกว่านักลงทุนมีคุณภาพคงไม่ได้
บอกได้แค่นี้เอง