ขาลงเริ่มปรากฏ
ข่าวเล็กจากการรายงานของงบการเงินไตรมาสแรกโดยบริษัทกำจัดขยะอุตสาหกรรมรายสำคัญของไทยที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) ที่มีกำไรลดฮวบจากปีก่อน
พลวัตปี 2019 : วิษณุ โชลิตกุล
ข่าวเล็กจากการรายงานของงบการเงินไตรมาสแรกโดยบริษัทกำจัดขยะอุตสาหกรรมรายสำคัญของไทยที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) ที่มีกำไรลดฮวบจากปีก่อน
คำอธิบายของผู้บริหารที่หลายคนมองข้ามแต่สะท้อนนัยสำคัญอย่างมากนั่นคือรายได้จากการขายและให้บริการกำจัดกากอุตสาหกรรมในไตรมาส 1 ของปีนี้ลดลงจำนวน 105.63 ล้านบาท หรือร้อยละ 19.13 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนแม้ว่าบริษัทจะแก้เกมด้วยการปรับราคาค่ากำจัดกากอุตสาหกรรมถัวเฉลี่ยต่อตันเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.11 ก็ช่วยไม่มากนัก
เหตุผลหลักมาจากปัจจัยภายนอกส่งผลกระทบต่อปริมาณกากอุตสาหกรรมที่ลดลง
ถ้าหากคำอธิบายนี้ไม่ใช่แค่การแก้ตัวถึงประสิทธิภาพการทำงานที่เลวร้ายลงปรากฏการณ์กากอุตสาหกรรมลดลงตอกย้ำความเป็นไปได้ 2 เรื่องคือ ความสามารถในการใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบของโรงงานอุตสาหกรรมไทยโดยทั่วไปดีขึ้นมาจนกระทั่งมีกากอุตสาหกรรมลดลงฮวบฮาบและ/หรือการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมไทยลดลงจนมีกากอุตสาหกรรมลดลงในเชิงปริมาณ
คำถามคืออย่างแรกหรืออย่างหลังกันแน่ที่เป็นเหตุปัจจัยหลัก
คำตอบน่าจะเกิดจากอย่างหลังมากกว่าเพราะอย่างแรกไม่น่าจะเป็นไปได้
ข้อมูลที่น่าจะตอกย้ำและสอดรับกับการลดลงของกากอุตสาหกรรมในโรงงานของไทยคือตัวเลขการส่งออกและนำเข้าจากกระทรวงพาณิชย์เดือนเมษายนที่ลดลงต่อเนื่อง
ล่าสุดสำหรับการส่งออกเดือนเมษายนปี 2562 การส่งออกมีมูลค่า 582,984.87 ล้านบาท ลดลงจากเดือนเมษายนปีก่อน 1.09 % และลดลงจากเดือนมีนาคม 2562 มากถึง 12.10%
แล้วเมื่อนำมารวมช่วงที่ผ่านมาปี 2562 (มกราคม – เมษายน) การส่งออกมูลค่า 2,540,822.50 ล้านบาทลดลงจากปี 2561(มกราคม – เมษายน) 1.85 %
สำหรับการนำเข้าเดือนเมษายนปี 2562 นำเข้ามีมูลค่า 637,381.37 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากจากเดือนเมษายนปีก่อน 0.74% และเพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคม 2562 ประมาณ 4.57% ซึ่งเมื่อนำมารวมช่วงที่ผ่านมาปี 2562 (มกราคม – เมษายน) นำเข้ามูลค่า 2,562,336.16 ล้านบาท ลดลงจากปี 2561(มกราคม – เมษายน) 0.87 %
การส่งออกและนำเข้าที่ลดลงทำให้ตัวเลขดุลการค้าเดือนเมษายน ปี 2562 ไทยขาดดุลมูลค่า 54,396.50 ล้านบาท ลดลงจากเดือนเมษายนปีก่อน 25.62 % แล้วเมื่อนำมารวมช่วงที่ผ่านมาปี 2562 (มกราคม – เมษายน) มีตัวเลขขาดดุลการค้ามูลค่า 21,513.66 ล้านบาท ในขณะที่ช่วงที่ผ่านมาปี 2561 (มกราคม – เมษายน) เกินดุลการค้ามูลค่า 3,942.28 ล้านบาท
ตัวเลขที่ย่ำแย่ดังกล่าวมีสำนักวิจัยเอกชนบางรายนำไปวิเคราะห์ต่อว่าอย่างดีสุดที่จะเกิดขึ้นในปีนี้คือตัวเลขส่งออกจะเติบโตแค่ไม่เกิน 0.6% เท่านั้น
เมื่อตัวเลขส่งออกย่ำแย่แถมการนำเข้าก็ย่ำแย่ตามแล้วการลงทุนผลิตใหม่ของโรงงานอุตสาหกรรมที่เสื่อมทรุดจนกากอุตสาหกรรมอันเป็นผลพลอยได้ต่อพ่วงจะลดลงฮวบฮาบย่อมไม่ใช่เรื่องแปลก
พลังขับเคลื่อนทางการค้าระหว่างประเทศที่ย่ำแย่ลงเช่นนี้จะสามารถชดเชยด้วยการบริโภคภายในประเทศแต่อย่างที่ทราบกันดีว่าข้อเท็จจริงที่ไม่อาจเลี่ยงได้ล่าสุดที่รอต้อนรับรัฐบาลชุดใหม่คือภัยของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังดำเนินอยู่จนคาดกันว่าปีนี้อัตราเติบโตของไทยน่าจะต่ำสุดในอาเซียนหรืออาจจะต่ำสุดในเอเชียด้วยซ้ำ
เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/2562 ขยายตัวต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ที่ 3.4% และชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าเป็นผลมาจากการส่งออกหดตัวในหลายหมวดสินค้าจากอุปสงค์ในตลาดโลกที่ชะลอตัวลงโดยการส่งออกขยายตัวติดลบ -3.6% และมีแนวโน้มที่การส่งออกในไตรมาส 2/2562 จะขยายตัวติดลบต่อเนื่องแต่จะปรับตัวดีขึ้นทำให้การขยายตัวเศรษฐกิจทั้งปีมีแนวโน้มจะไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ 3.8%
ที่ผ่านมารัฐบาลพลเอกประยุทธ์ซึ่งเชื่อในทีมงานเศรษฐกิจว่าจะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยมาตรการสร้างอุปสงค์เทียมผ่านมาตรการ “เฮลิคอปเตอร์มันนี่” ที่เน้นการกระตุ้นการใช้จ่ายที่เปล่าประโยชน์แบบ “ตำน้ำพริกละลายมหาสมุทร” มาค่อนข้างมากกว่าแสนล้านบาทยังคงไม่ได้ช่วยให้เศรษฐกิจกระเตื้องขึ้น
ที่ผ่านมาแม้ว่าเจ้าหน้าที่เก็บภาษีของกระทรวงการคลังจะเห็นภัยของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศและพยายามผลักดันการส่งออกและการลงทุนแต่ไม่ได้รับการตอบสนองในเรื่องนโยบายการเงินจากธนาคารแห่งประเทศไทยที่ยังคงยึดมั่นใน “ความเป็นอิสระของธนาคารกลาง” รักษาอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยตลาดโลกเป็นเหตุให้มีเงินร้อนหรือ hot money ไหลเข้าเพื่อหากำไรจากส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ย
ผลพวงจากการที่เงินดอลลาร์ไหลเข้าประเทศโดยธนาคารแห่งประเทศไทยก็ไม่สามารถซื้อเงินดอลลาร์ได้ทั้งหมดเพราะเมื่อซื้อคืนแล้วก็ต้องจัดการออกพันธบัตรหรือดูดซับสภาพคล่องกลับไปซื้อจะทำให้เกิดการขาดทุนในบัญชีของธนาคารธนาคารจึงไม่สู้จะเต็มใจที่จะเข้าแทรกแซงเพื่อรักษาอัตราแลกเปลี่ยนให้มีเสถียรภาพไม่ขึ้นลงอย่างรุนแรง
ค่าเงินบาทแข็งตัวขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลต่าง ๆ ทั่วโลกจนเกือบเป็นที่หนึ่งของโลกกลายเป็นอุปสรรคอย่างใหญ่หลวงของการขยายตัวของการส่งออกและอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจตัวเลขการคาดการณ์สภาพเศรษฐกิจของทางการจึงต้องทบทวนลดลงจากที่เคยคาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของปี 2562 จะเป็นร้อยละ 4 ก็ลดการคาดการณ์ลงเป็นร้อยละ 3.80
ภายใต้สถานการณ์ที่มีปัจจัยควบคุมไม่ได้รวมทั้งการตั้งรัฐบาลผสมเกินกว่า 10 พรรคแบบเบี้ยหัวแตกรัฐมนตรีที่เข้ามาบริหารนโยบายเกิดจากการต่อรองเก้าอี้แห่งผละประโยชน์มากกว่าประสิทธิภาพ (ดังที่อ้างในแผนยุทธศาสร์ชาติ 20 ปี) ก็เป็นที่คาดเดาไม่ยากนักว่ารัฐบาลที่จะเกิดขึ้นมาคงไม่มีทางเลือกมากนักนอกจากต้องใช้มาตรการเฮลิคอปเตอร์มันนี่ดังกล่าวต่อไปเพราะพรรคที่เป็นนั่งร้านให้คสช. หาเสียงเอาไว้มากมาย
บนเส้นทาง “ขาลง” ของเศรษฐกิจไทยระลอกใหม่ที่มีความเป็นไปได้สูงนี้ มีข้อเท็จจริงที่ส่งสัญญาณชัดเจนว่ายังมีความมืดมนรออยู่ข้างหน้านั่นคือปัญหาคือคุณภาพของแรงงานไทยหรือ labor productivity ที่เคยเป็นจุดเด่นมานานหลายทศวรรษเริ่มลดลงอย่างรุนแรง
ในทางเศรษฐศาสตร์บ่งบอกว่าค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นแต่แรงงานให้ผลผลิตต่ำลงเดิมหรือ marginal wages >marginal productivity แสดงว่าแรงงานไร้คุณภาพกว่าโดยเปรียบเทียบทางเลือกของนายจ้างและผู้ประกอบการคือย้ายแหล่งจ้างงานไปหาที่แรงงานมีคุณภาพมากกว่าเดิมหรือเท่าเดิมแต่ค่าแรงต่ำกว่า
ปรากฏการณ์เช่นนี้แม้จะมองไม่เห็นชัดเจนแต่ผลข้างเคียงจากการที่กากอุตสาหกรรมมีปริมาณลดลงส่งสัญญาณทางอ้อมว่าการย้ายฐานการลงทุนของต่างชาติในไทยและทุนไทยไปยังต่างประเทศจะต้องเกิดขึ้นต่อเนื่อง
ข้อเท็จจริงนี้มีความหมายต่อนักลงทุนมากกว่าเกมคณิตศาสตร์การตั้งรัฐบาลผสมชุดใหม่ในยามนี้หลายเท่า