ว่าด้วยหุ้นจอง
นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล หรือพี่แป๋วแหววหรือท่านเลขา ฯ รื่น มาทำงานในหน้าที่เลขาธิการ ก.ล.ต.ไม่ถึงเดือนก็เริ่มสำแดงอิทธิฤทธิ์ที่แสดงให้ผู้เกี่ยวข้องเห็นว่าได้ตำแหน่งนี้มาเพราะฝีมือและวิสัยทัศน์ไม่ใช่เพราะโชคหรือปาฏิหาริย์
พลวัตปี 2019 : วิษณุ โชลิตกุล
นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล หรือพี่แป๋วแหววหรือท่านเลขา ฯ รื่น มาทำงานในหน้าที่เลขาธิการ ก.ล.ต.ไม่ถึงเดือนก็เริ่มสำแดงอิทธิฤทธิ์ที่แสดงให้ผู้เกี่ยวข้องเห็นว่าได้ตำแหน่งนี้มาเพราะฝีมือและวิสัยทัศน์ไม่ใช่เพราะโชคหรือปาฏิหาริย์
ข้อดำริว่าด้วยการปรับปรุงเกณฑ์กำกับการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก(IPO) หรือเรียกง่าย ๆ ว่า หุ้นจอง ถือว่าน่าสนใจไม่น้อยในสถานการณ์ที่ตลาดหุ้นจองกำลังหมดช่วงยุคทองเข้าสู่ยุคซบเซาหรือซึมกะทือมานานเกือบปีแล้ว
ข้อดำริใหม่ล่าสุดที่จะเริ่มลงมือในวันที่ 3 เดือนหน้านี้คือ ก.ล.ต.เตรียมหารือกับตลาดหลักทรัพย์ ฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (ทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สสว. ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ธนาคารเพื่อการเกษตร ฯ และธนาคารออมสิน) เพื่อดูประวัติการดำเนินงานที่ผ่านมาของ SME ไทยว่าเป็นอย่างไรเพื่อที่จะนำมาออกเกณฑ์หรือช่องทางที่ชัดเจนเพื่อให้ธุรกิจ SME ได้เข้ามาระดมทุนโดยเฉพาะรวมถึงหารือกับผู้ประกอบการเพื่อปรับปรุงเกณฑ์การรับหุ้นไอพีโอเอื้อให้กลุ่ม SME เข้าถึงช่องทางการระดมทุนได้ง่ายขึ้นคาดได้ข้อสรุปภายในไตรมาส 3/2562
เหตุผลเพราะเธอมองว่าเกณฑ์ไอพีโอปัจจุบันซึ่งใช้หลักการ “เสื้อตัวเดียวสำหรับทุกคนสวมใส่” (One size fit all) ไม่เอื้อต่อธุรกิจขนาดเล็กมากนักเพราะมีหลักเกณฑ์และคุณสมบัติหลายประการที่อาจเป็นอุปสรรคเช่นเกณฑ์กำไรสุทธิที่ต้องมีต่อเนื่อง 3 ปี ก่อนเข้าจดทะเบียน, เกณฑ์มูลค่ามาร์เก็ตแคปหรือการจ้างที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) เป็นต้น
หลังการประชุมคาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปความชัดเจนของการทำงานร่วมกันเพื่อช่วยสนับสนุนให้ SME มีช่องทางการระดมทุนที่ง่ายขึ้นโดยจะแยก SME ออกมาจากไอพีโอให้ชัดเจนแต่ก็ไม่ได้ฟันธงว่า SME หรือสตาร์ทอัพทุกบริษัทจะเข้าได้หมดต้องดูเกณฑ์และความเป็นไปได้ก่อนเพราะ 47% ของ SME เป็นตัวช่วยผลักดันประเทศ
จะบอกว่างานนี้เลขา ฯ ก.ล.ต. คนนี้ “เกาถูกที่คัน” ก็คงไม่ผิดเพราะเห็นได้ชัดว่ากว่า 2 ปี มาแล้วที่หุ้นจองหรือไอพีโอในตลาด MAI มีเข้ามาระดมทุนน้อยลงไปจนต่ำกว่าเป้าชัดเจนสาเหตุหลักน่าจะมาจากเหตุปัจจัยดังนี้
– ต้นทุนการทำไอพีโอสูงเกินไปยิ่งบริษัทที่ต้องการระดมทุนหรือ issuers มีขนาดเล็กต้นทุน “ค่าแต่งตัว” อาจจะมากกว่า 15-20% ซึ่งสูงเกินคุ้ม
– หลังจากระดมทุนเสร็จแล้วกลายเป็นบริษัทมหาชนจดทะเบียนเงื่อนไขของบริษัทก็ไม่เอื้อต่อการแข่งขันและความสามารถทำกำไรอย่างที่คาดผลลัพธ์คือผลประกอบการย่ำแย่ลงและอาจตกเป็นเหยื่อของสถานการณ์หรือถูกเทกโอเวอร์ไป
บนแนวทางนี้มีโจทย์ที่ท้าทายอยู่เรื่องหนึ่งที่เลขา ฯ ก.ล.ต. ยกขึ้นมาแบบ “โยนก้อนหินถามทาง” คือการเข้าระดมทุนของธุรกิจ SME ในอนาคตจำเป็นต้องมีที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) หรือไม่เนื่องจากธุรกิจ SME เป็นธุรกิจที่มีต้นทุนไม่สูงมากนัก
โจทย์ที่ยกขึ้นนี้ดูจะสอดรับกับข้อสรุปของก.ล.ต. ที่ปรากฏในรายงานประจำปี 2561 ล่าสุดที่ระบุว่า ในความใหญ่โตของตลาดทุนไทย 22 ล้านล้านบาท นี้ ก.ล.ต. ได้มองเห็น “ส้นเท้าอาคีลีส” ที่ต้องแก้ไขนั่นคือคุณภาพด้านธรรมาภิบาลของบริษัทจดทะเบียนในตลาดอันเกิดจากหลายสาเหตุเช่น 1) ความบกพร่องของผู้ปฏิบัติงาน 2) ความบกพร่องของที่ปรึกษาการเงินในด้านคุณภาพที่ไม่สม่ำเสมอกัน 3) การที่ก.ล.ต. ขาดเครื่องมือที่เพียงพอและขาดกลไกตลาดในการกำกับดูแลการทำงานของที่ปรึกษาการเงิน 4) ผู้ลงทุนในหลักทรัพย์ขาดความรู้ความสนใจรักษาสิทธิ์และไม่อยู่ในฐานะปกป้องสิทธิ์ได้
ข้อสรุปดังกล่าวข้างต้นผู้ร้ายตัวจริงของก.ล.ต. หนีไม่พ้นที่ปรึกษาการเงินซึ่งเกิดจากที่ปรึกษาการเงิน (ทั้งที่เป็นบุคคลหรือบริษัท) บางรายเอาอกเอาใจหรือสมคบคิดกับผู้ถือหุ้นใหญ่และผู้บริหารกิจการเน่า ๆ ด้วยการทำตัวเป็น “ป้าชุลี” แต่งตัวเสกปั้นให้ “หญิงสาวขี้เหร่” กลายเป็น “สาวงามขึ้นเวทีประกวด” เพื่อสร้างราคาจนหลอกล่อ ก.ล.ต.ให้อนุญาตเข้าระดมทุนในตลาดได้จากนั้นก็ขายกิจการทิ้งไปแบบ “ตีหัวเข้าบ้าน”
สาเหตุส่วนหนึ่งเพราะปัจจุบันที่ปรึกษาการเงินทุกรายอยู่นอกเหนือการกำกับดูแลของก.ล.ต. ซึ่งมีอำนาจเพียงแค่ให้ใบอนุญาตหรือถอดถอนใบอนุญาตเท่านั้นต่างจากเกณฑ์การกำกับดูแลบริษัทหลักทรัพย์ด้วยเหตุผลที่ยากจะเข้าใจว่าเหตุใด
เพียงแต่เกณฑ์ใหม่ไอพีโอนี้จะต้องแยกแยะว่าเป็นคนละเรื่องกับการตั้งราคาหุ้นไอพีโอและการหลุดจองในการซื้อขายวันแรกรวมทั้งข้อเรียกร้องเรื่องให้มีมาร์เก็ตเมกเกอร์ในหุ้นไอพีโอซึ่งอย่างหลังนี้เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้เพราะอาจจะเข้าข่ายสร้างราคาได้ซึ่งผิดกฏหมาย
เลขาก.ล.ต. มีมุมมองว่าภาวะหุ้นไอพีโอต่ำจองช่วงหลังเป็นไปตามกลไกตลาดซึ่งบริษัทจดทะเบียนควรกำหนดราคาให้เหมาะสม
ข้อสรุปหลังสุดนี้ก็ถูกต้องเพราะในช่วงยุคทองของไอพีโอบางช่วงนั้นเราเคยได้เห็นอันเดอร์ไรเตอร์และบริษัทที่ออกหุ้นละโมบถึงขั้นกำหนดราคาจองไอพีโอที่ระดับมากกว่า 30 เท่า โดยอ้างว่าราคาเหมาะสมและเป็นราคาที่ดิสเคาท์แล้วกันตามใจชอบ
แม้จะยังไม่รู้ว่าผลลัพธ์ท้ายสุดของข้อดำริเลขาก.ล.ต.คนล่าสุดนี้จะนำไปสู่อะไรแต่ก็ถือว่าดีกว่าไม่ทำอะไรเลย
ก็ได้แต่หวังว่าข้อดำริน่าสนใจนี้จะบรรลุเจตนาให้สมชื่อท่านเลขา ฯ รื่นไม่ใช่ “เลขา ฯ ลื่น”