พาราสาวะถี

จากที่คิดว่าจะปิดดีลเตรียมตั้งโต๊ะแถลงข่าว ก็กลายเป็นล่าช้าออกไป โดยยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าจะนานเท่าใด เดิมทีคิดว่าตัวแทนของพรรคการเมืองแกนนำไปเจรจาแล้วทุกอย่างจะจบในตัว แต่พลันที่ผู้นำเผด็จการ (เตรียม) สืบทอดอำนาจ ลั่นวาจาข้อเสนอขอแก้รัฐธรรมนูญไม่อยู่ในเงื่อนไขของการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี พร้อมประกาศขอเป็นคนตรวจเช็ครายชื่อรัฐมนตรีรายตัวด้วยตนเอง เท่านั้นแหละ พรรคประชาธิปัตย์เกิดอาการควันออกหูทันทีเพราะนี่ถือเป็นการเสียมารยาททางการเมืองอย่างยิ่ง


อรชุน

จากที่คิดว่าจะปิดดีลเตรียมตั้งโต๊ะแถลงข่าว ก็กลายเป็นล่าช้าออกไป โดยยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าจะนานเท่าใด เดิมทีคิดว่าตัวแทนของพรรคการเมืองแกนนำไปเจรจาแล้วทุกอย่างจะจบในตัว แต่พลันที่ผู้นำเผด็จการ (เตรียม) สืบทอดอำนาจ ลั่นวาจาข้อเสนอขอแก้รัฐธรรมนูญไม่อยู่ในเงื่อนไขของการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี พร้อมประกาศขอเป็นคนตรวจเช็ครายชื่อรัฐมนตรีรายตัวด้วยตนเอง เท่านั้นแหละ พรรคประชาธิปัตย์เกิดอาการควันออกหูทันทีเพราะนี่ถือเป็นการเสียมารยาททางการเมืองอย่างยิ่ง

สิ่งที่ติดขัดในส่วนของพรรคสืบทอดอำนาจต่อดีลกับพรรคเก่าแก่ ไม่ใช่แค่เรื่องขอแก้รัฐธรรมนูญ หากแต่ยังมีประเด็นเรื่องกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่พลังประชารัฐขอเก็บไว้เอง โดยใช้กระทรวงศึกษาธิการเป็นข้อแลกเปลี่ยน แน่นอนว่า ทางฝ่ายประชาธิปัตย์ไม่แฮปปี้กับข้อเสนอนี้ แม้จะเป็นกระทรวงเกรดเอเหมือนกัน แต่การเดินไปสู่เป้าหมายตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้และตอบสนองต่อมวลชนที่เป็นฐานเสียง แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

ไม่เพียงแค่คำตอบที่ยังไร้เสียงตอบรับจากพรรคสืบทอดอำนาจ กรรมการบริหารพรรคและส.ส.ของพรรค ยังต้องพิจารณากันให้ตกผลึกต่อคำขู่ของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ส่งสัญญาณการไขก๊อกจากส.ส.บัญชีรายชื่อ เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งที่ได้ประกาศไว้ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งนั่นคือไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งคำประกาศนี้ ระดับนำของพรรคเก่าแก่ต่างยอมรับกันว่าถือเป็นจุดยืนอันสำคัญของพรรคและสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของพรรคที่มีมาอย่างยาวนาน

อันได้แก่การยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย เดินตามระบบรัฐสภาและต่อต้านอำนาจเผด็จการ แม้ตลอดระยะเวลากว่า  73  ปีที่ผ่านมา ภาพลักษณ์ของพรรคเก่าแก่จะสวนทางกับสิ่งที่ป่าวประกาศไปก็ตาม แต่พอยุคสมัยเปลี่ยน การเกิดกลุ่มคนรุ่นใหม่หรือนิวเดมภายใต้การนำของ สุรบถ หลีกภัย หรือ ปลื้ม ลูกชาย ชวน หลีกภัย และ พริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ ไอติม หลานของอภิสิทธิ์ คนเหล่านี้ถือเป็นสายเลือดใหม่ที่แสดงจุดยืนอย่างมั่นคงมาโดยตลอด

โดยเฉพาะไอติมนั้น ยังคงย้ำเรื่องข้อเสนอฝ่ายค้านอิสระ แม้จะมีบางคนบางพวกในพรรคบอกว่าเป็นไปไม่ได้ แต่เจ้าตัวก็ยืนยันว่าอย่าปฏิเสธว่าไม่มีจริง เพราะการที่พรรคฝ่ายค้านมีหลายพรรคและไม่ได้เห็นด้วยกันหมดทุกเรื่อง เป็นเรื่องปกติในระบบรัฐสภา ซึ่งก็มีอยู่จริง ณ ปัจจุบัน ในกว่า  20  ประเทศทั่วโลก ที่มีรัฐบาลเสียงข้างน้อย ที่ต้องพึ่งเสียงสนับสนุนจากบางพรรคฝ่ายค้านเป็นกรณี ๆ ไป และการยืนอยู่ตรงจุดนี้น่าจะต่อรองเรื่องนโยบายกับฝ่ายที่เป็นรัฐบาลได้มากกว่า

อีกประการที่น่าสนใจต่อการแสดงจุดยืนล่าสุดของไอติมก็คือ ข้ออ้างเรื่องเสถียรภาพ ซึ่งเหมือนจะเป็นการตบหน้าบางพรรคที่ยกเรื่องนี้มาเป็นเหตุผลที่สำคัญด้วยหรือไม่ โดยเจ้าตัวจี้ไปตรงจุดในประเด็นที่ว่าถ้าเสถียรภาพเป็นตัวแปรที่สำคัญที่สุดของการพัฒนาประเทศและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน เราคงไม่เห็นความต้องการของประชาชนที่อยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลงสูงเท่ากับที่แสดงออกผ่านผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา

เหตุผลที่จะอธิบายเรื่องนี้ เพราะ  4-5  ปีที่ผ่านมา ประเทศไม่ได้ขาดเสถียรภาพ แต่ขาดการตรวจสอบถ่วงดุลในระบบรัฐสภาที่เข้มข้น ที่คอยช่วยเตือนสติรัฐบาลเวลาการกระทำไม่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนมากกว่า ยิ่งไปกว่านั้นการร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐก็ยังไม่ได้นำมาแม้กระทั่งเสถียรภาพ เพราะจะมีเสียงแค่ปริ่มน้ำ ประเด็นนี้เชื่อว่าน่าจะตรงใจคนส่วนใหญ่ หากเสถียรภาพสำคัญจริง รัฐบาลที่ไม่มีใครตรวจสอบและคอยเตะตัดขาทำไมจึงแก้ปัญหาปากท้องของประชาชนไม่ได้

ไม่เพียงเท่านั้น ความเห็นเชิงหลักการของไอติม ไม่รู้ว่าจะช่วยเตือนสติของพวกกระสันอยากร่วมรัฐบาลในพรรคเก่าแก่ได้หรือไม่ และก็อย่างที่หลายคนตั้งคำถาม ตัวเองเที่ยวป่าวประกาศและสร้างวาทกรรมเรื่องเผด็จการรัฐสภาใส่ร้ายพรรคคู่แข่งสำคัญอย่างเพื่อไทย แต่กลับไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจต่อกระบวนการสร้างสภาที่สั่งได้ของเผด็จการกันเลยหรือ

ตามที่ไอติมบอกอย่าปล่อยให้สภาเป็นเพียงเครื่องมือของฝ่ายบริหารอย่างเบ็ดเสร็จ เหตุการณ์ในวันแรกของสภา กรณีการเลื่อนประชุมโดยไม่ให้เหตุผลที่ชัดเจนกับประชาชน หรือการพยายามจะใช้เสียงข้างมากกดดันให้ประธานสภาอนุญาตให้สมาชิกบางคนเปลี่ยนคำตอบที่ลงมติไปแล้ว แสดงให้เห็นว่าพรรคสืบทอดอำนาจไม่ได้มีความต้องการที่จะให้สภาเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความเห็นและเป็นกระบอกเสียงของประชาชนอย่างแท้จริง นี่ไม่ใช่หรือคือเผด็จการรัฐสภาที่ประชาธิปัตย์เคยต่อสู้มา

ขณะที่เหตุผลรองรับต่อความเป็นไปได้ในการลาออกของอภิสิทธิ์นั้น เหมือนที่ พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต จากค่ายนิด้าว่าไว้ หากอภิสิทธิ์ทำตามมติเข้าร่วมรัฐบาลของพรรคก็ต้องละทิ้งจุดยืนทางการเมืองที่ได้ประกาศไว้ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง หากประสงค์รักษาจุดยืนก็ต้องฝ่าฝืนมติพรรค ซึ่งเป็นการเสียมารยาททางการเมือง จากแบบแผนความคิดและการกระทำที่ผ่านมาของอภิสิทธิ์ไม่ใช่คนเช่นนั้น ดังนั้น ทางเดียวที่จะเลือกก็คือต้องรักษาทั้งจุดยืนและรักษามารยาททางการเมืองไว้อย่างเหนียวแน่น

ฟากภูมิใจไทยจากเดิมที่ทำท่าจะนอนมา พอเจอประชาธิปัตย์สไตล์เข้าไป อนุทิน ชาญวีรกูล รีบออกตัวแต่เนิ่น ๆ ถ้าเพื่อนไม่ร่วมขบวนสืบทอดอำนาจ นั่นหมายความว่าผิดเงื่อนไขที่พรรคเสนอไว้เช่นกันคือเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยไร้เสถียรภาพก็มีอันจบเห่ ดูแล้วทั้งปัญหาชีวิตภายในของตัวเอง ทั้งเงื่อนไขที่ถูกกดจนโงหัวไม่ขึ้น คำขู่ยุบสภาที่ดังมาจากพรรคสืบทอดอำนาจจึงเป็นไม้ตายสุดท้าย ซึ่งคงไม่ไปถึงตรงนั้น เพราะความจริงยิ่งช้ายิ่งไร้ข้อสรุป รัฐบาลอำนาจเต็มก็อยู่ต่อไปไม่ได้เสียหายอะไร

Back to top button