พาราสาวะถี
ระหว่างรอพรรคสืบทอดอำนาจที่ตัวเองยืนคุมเชิงอยู่ด้านหลัง ออกหน้าเจรจาให้พรรคการเมืองตัวแปรทั้งหลายมาร่วมจัดตั้งรัฐบาลและหนุนส่งให้ผู้นำเผด็จการได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกกระทอก ไม่รู้ว่าต้องการสื่ออะไรหรือไม่ ท่านผู้นำจึงให้กระบอกเสียงรัฐบาลออกมาสื่อสารแทนตัวเองว่า เรื่องตั้งรัฐบาลเป็นของพรรคการเมืองไม่เกี่ยวกับตน ซึ่งไม่เข้าใจว่าจะปฏิเสธทำไมในเมื่อเหตุผลที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ไม่พอใจคือ ท่านผู้นำขอตรวจรายชื่อรัฐมนตรีของแต่ละพรรคด้วยตัวเอง
อรชุน
ระหว่างรอพรรคสืบทอดอำนาจที่ตัวเองยืนคุมเชิงอยู่ด้านหลัง ออกหน้าเจรจาให้พรรคการเมืองตัวแปรทั้งหลายมาร่วมจัดตั้งรัฐบาลและหนุนส่งให้ผู้นำเผด็จการได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกกระทอก ไม่รู้ว่าต้องการสื่ออะไรหรือไม่ ท่านผู้นำจึงให้กระบอกเสียงรัฐบาลออกมาสื่อสารแทนตัวเองว่า เรื่องตั้งรัฐบาลเป็นของพรรคการเมืองไม่เกี่ยวกับตน ซึ่งไม่เข้าใจว่าจะปฏิเสธทำไมในเมื่อเหตุผลที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ไม่พอใจคือ ท่านผู้นำขอตรวจรายชื่อรัฐมนตรีของแต่ละพรรคด้วยตัวเอง
นั่นเท่ากับว่า การอ้างอำนาจเป็นของพรรคการเมืองก็เพื่อเลี่ยงภาพการครอบงำของผู้นำเผด็จการเท่านั้น แต่ไม่เพียงแค่ออกมาส่งสัญญาณเรื่องกระบวนการจัดตั้งรัฐบาลเท่านั้น ท่านผู้นำยังแนะให้อ่านหนังสือชื่อ Animal Farm จนเป็นที่มาของการสืบค้นข้อมูลกันว่าหนังสือดังกล่าวใครเขียน เขียนเมื่อไหร่และเนื้อหาเป็นอย่างไร เป้าหมายคือเพื่อสื่อถึงการเมืองที่เป็นปัญหาในเวลานี้หรือไม่ ก่อนที่กระบอกเสียงรัฐบาลจะออกมาย้ำอีกกระทอกว่า ไม่ได้มีเจตนาสื่อไปในทางการเมืองแต่อย่างใด
ถ้าเช่นนั้น ลองมองย้อนกลับไปในเนื้อหาสาระของหนังสือเล่มดังกล่าวดู หากจะนำทั้งหมดมานำเสนอคงเป็นไปไม่ได้ แต่เอาแบบย่นย่อโดยขอยืมข้อเขียนบางช่วงบางตอนของ พิณ พัฒนา เรื่องแกะรอยสัตว์น้อย ใน Animal Farm ซึ่งเผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาไทมานำเสนอ เพื่อเป็นแนวเบื้องต้นสำหรับคนที่สนใจจะไปซื้อหาหยิบยืมหนังสือเล่มนี้มาอ่านกันต่อไป
เริ่มจากตัวผู้เขียนหนังสือเล่มนี้เสียก่อนที่ชื่อ จอร์จ ออร์เวล เป็นนักประพันธ์ชาวอังกฤษที่เติบโตมาในครอบครัวชนชั้นกลางค่อนไปทางต่ำ เขาผ่านประสบการณ์ชีวิตในสังคมชนชั้นที่หลากหลาย เช่น เรียนหนังสือในโรงเรียนของชนชั้นสูง รับราชการเป็นตำรวจซึ่งไปประจำการอยู่ในพม่า ใช้ชีวิตอย่างคนจรจัด ทำงานใช้แรงงาน สอนหนังสือ เป็นนักข่าว เขาเปลี่ยนงานไปมา และนั่นก็ทำให้เขาสัมผัสการกดขี่ระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง
ในช่วงที่เป็นนักข่าวนี้เอง เขาเขียนนวนิยายเรื่อง Animal Farm เป็นนวนิยายแนวเสียดสีการเมืองเผด็จการแบบสหภาพรัสเซีย ที่กดขี่ชนชั้นกรรมาชีพ และด้วยความหวาดกลัวในเผด็จการคอมมิวนิสต์ ทำให้เรื่องแอนิมอลฟาร์มนี้ ยังกลายเป็นหนังสือบังคับอ่านของนักเรียนมัธยมในหลาย ๆ ประเทศ ทั้งนี้หนังสือดังกล่าวในประเทศไทยได้ถูกแปลกันมาหลายครั้งและตั้งชื่อเป็นภาษาไทยหลากหลาย สุดแท้แต่ผู้แปลจะตีความหมายจากเรื่องที่ถอดรหัสมา
โดยล่าสุดที่มีให้อ่านฉบับแปลภาษาไทย พิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน แปลโดย เกียรติขจร ไชยแสงสุขกุล ท้ายเล่มมีบทวิเคราะห์แนบท้ายด้วย นอกจากนี้ ยังมีคนนำมาทำเป็นแอนิเมชั่นหาดูได้ตามทั่วไป และก่อนรัฐประหารกันยายน 2549 ภาควิชาศิลปะการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดแสดงละครเวทีเรื่องแอนิมอลฟาร์ม การเมืองเรื่องเศร้า เมื่อ 16 สิงหาคม 2549 ณ โรงละครอักษรศาสตร์ แปลบทและกำกับการแสดงโดย พันพัสสา ธูปเทียน
หากจะย่นย่อเนื้อหาของหนังสือดังกล่าว ก็อาจจะพูดโดยสรุปได้ว่าสิ่งที่สื่อออกมานั้นประกอบไปด้วย การกล่าวถึงชนชั้น ผู้ปกครอง ผู้ถูกปกครอง ประเด็นของพวกพ้อง การคอร์รัปชัน เบี่ยงประเด็น การข่มขวัญ หลอกลวง การเสแสร้ง สร้างภาพ กดขี่ การข่มขู่ หลอกใช้ เอารัดเอาเปรียบ การปั่นกระแสปั้นเรื่อง แปลงสาร สาดโคลนใส่ความ อุ้มฆ่าและตัดตอน รวมไปถึงการโปรยยาหอม การลวงให้หลง แน่นอนว่าถ้าใครได้อ่านแอนิมอลฟาร์ม คงอดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบตัวละครต่าง ๆ ว่าเป็นดั่งใครในเวทีการเมือง
แต่เราพบว่า บุคลิกของตัวละครต่าง ๆ พบเห็นได้กับทุกยุคสมัยแต่ไม่ชัดเจน ตายตัว มีความลื่นไหล แถมยังมีพัฒนาการที่ซับซ้อนแยบยลขึ้นอีกด้วย เพียงแต่อารมณ์ในตอนนี้อาจพาใจให้คิดไปว่ามันช่างคล้ายอะไรบางอย่างหรือไม่ ขณะที่จอร์จ ออร์เวล คงมิได้คิดจะให้หนังสือเล่มนี้เป็นเครื่องมือในการต่อต้านระบบใด ๆ เพราะตัวเขายึดมั่นในแนวคิดแบบสังคมนิยมประชาธิปไตยที่ไม่มีระบบชนชั้น ไม่เชื่อในบทบาทของรัฐ และไม่เชื่อในระบบทุนนิยม
สิ่งที่แอนิมอลฟาร์มจะบอก จึงไม่ใช่การหนีจากระบอบการปกครองแบบใด แต่หลีกหนีจากการกดขี่ของมนุษย์ที่กระทำต่อมนุษย์ด้วยกัน และชี้ให้เห็นถึงโครงสร้างอำนาจที่ต่อสู้กันระหว่างผู้ปกครองกับผู้ถูกปกครอง ออร์เวล ไม่ได้เสนอทางออกใด ๆ ให้แก่เหล่าสัตว์ แต่ดูเหมือนเขาจะบอกว่า “การปฏิวัติไม่ได้นำไปสู่การปลดปล่อยที่ยั่งยืน” และเขาทำให้เรารู้ด้วยว่า พล็อตบางพล็อตมันก็เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก
สิ่งที่เป็นบทสรุปตบท้ายนี่แหละ ซึ่งมันย้อนกลับมาถึงสถานการณ์ทางการเมืองของไทยที่กำลังเห็นและเป็นไปอยู่ในเวลานี้ มันคือพล็อตเรื่องเดิม ๆ พฤติกรรมเก่า ๆ ของนักการเมืองที่ต่อรอง ช่วงชิงเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้อง แม้จะอ้างมาโดยตลอดว่านี่คือยุคแห่งการปฏิรูปเปลี่ยนแปลง แต่สุดท้าย ประชาชนก็มาทีหลัง ตำแหน่งรัฐมนตรี การอยู่ในอำนาจต่อไปคือเป้าหมายอันสำคัญของคนที่ต้องการจะไปต่อและพวกที่จะเข้ามาเพื่อแสวงหาประโยชน์
สิ่งที่เห็นจึงไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจใด ๆ การชักเข้าชักออกของนักการเมือง จากที่ประกาศชัดว่าจะร่วมรัฐบาลโดยลืมยกหูหาพวกทั้งที่ประกาศขายของเป็นแพ็กคู่กันไปก่อนหน้า จนกระทั่งพวกทำท่าว่าจะไม่เซย์เยสกับพรรคสืบทอดอำนาจ จึงต้องรีบออกตัวอย่างเร็วว่า ถ้าเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย เราก็จะไม่ไปด้วย แหม!แสดงออกกันแบบนี้มันก็น่าคิดแทนผู้นำเผด็จการถ้าจะต้องเดินไปท่ามกลางคนที่ไม่จริงใจ ไร้จุดยืนเช่นนี้ ยังจะเดินหน้าต่ออย่างนั้นหรือ
หากหวังดีต่อบ้านเมือง หากอยากให้เกิดความเปลี่ยนแปลงตามที่อ้างมาตลอด 5 ปี สถานการณ์การเมืองที่เป็นอยู่หลังเลือกตั้ง หาใช่เป็นไปอย่างที่ท่านผู้นำและคณะโพนทะนาไหม เว้นเสียแต่ว่า นี่คือผลลัพธ์จากการออกแบบที่อยากจะให้เป็นนั่นก็อีกเรื่อง ซึ่งก็คงต้องขึ้นอยู่กับขบวนการสืบทอดอำนาจแล้วว่าถ้าจะให้เป็นเช่นนี้ ก็ต้องรีบตัดสินใจแล้วเดินหน้ากันไป ส่วนอะไรจะเกิดขึ้นก็ให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินก็แล้วกัน