พาราสาวะถี
ไม่ได้มีอะไรเหนือความคาดหมาย การประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีวันวาน ไม่มีการแสดงวิสัยทัศน์ ตามที่มีการร้องขอจากฟาก 7 พรรคฝ่ายประชาธิปไตย ขณะที่พรรคพลังประชารัฐก็จัดองครักษ์พิทักษ์ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้ที่พรรคตัวเองเสนอเป็นแคนดิเดตนายกฯ และได้รับการโหวตเลือกตามหวยล็อกเพื่อการสืบทอดอำนาจโดยไม่ต้องสงสัย
อรชุน
ไม่ได้มีอะไรเหนือความคาดหมาย การประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีวันวาน ไม่มีการแสดงวิสัยทัศน์ ตามที่มีการร้องขอจากฟาก 7 พรรคฝ่ายประชาธิปไตย ขณะที่พรรคพลังประชารัฐก็จัดองครักษ์พิทักษ์ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้ที่พรรคตัวเองเสนอเป็นแคนดิเดตนายกฯ และได้รับการโหวตเลือกตามหวยล็อกเพื่อการสืบทอดอำนาจโดยไม่ต้องสงสัย
ขณะเดียวกันทางฝ่ายของพรรคเพื่อไทย อนาคตใหม่และพรรคที่อยู่ฝั่งตรงข้ามซึ่งเสนอชื่อ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เข้าชิงชัย ก็ไม่ได้มีอะไรผิดไปจากที่คาดเช่นกัน อย่างที่ อาทิตย์ อุไรรัตน์ โพสต์เฟซบุ๊กฟันธงไว้ล่วงหน้า แม้จะไม่ได้ฟังวิสัยทัศน์ แต่ประชาชนไทยจะได้ชมการอภิปรายถึงคุณสมบัติและความสามารถเหมาะสมของผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ กันเกินอิ่มและอิ่มเกิน จนกระเดียดไปคล้าย ๆ การอภิปรายไม่ไว้วางใจก็ได้
บรรยากาศทางการเมืองก็คงเป็นไปในลักษณะนี้ตลอดอายุการทำงานของรัฐบาลสืบทอดอำนาจ ยิ่งเป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ ฝ่ายค้านย่อมจ้องจับผิดอยู่ตลอดเวลา มีอะไรไม่ชอบมาพากลแค่นิดเดียวเป็นต้องถูกสาวไส้ประจานกันยกใหญ่แน่ เป็นเรื่องปกติของคนที่ช่วง 5 ปีที่ผ่านมาใช้อำนาจพิเศษและมาตราวิเศษปิดปากฝ่ายตรงข้าม เมื่อถอดหัวโขนผู้นำเผด็จการทิ้งมาสวมสูทนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ย่อมถูกตรวจสอบหนักหน่วงอย่างช่วยไม่ได้
อย่างไรก็ตาม อีกกลุ่มหนึ่งที่จะถูกจับตามองอย่างเป็นพิเศษคือ พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งลงมติด้วยเสียงท่วมท้น 61 คะแนนเข้าร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐพร้อมโหวตให้ผู้นำเผด็จการเป็นนายกฯ สืบทอดอำนาจ จนส่งผลให้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต้องประกาศลาออกจากความเป็นส.ส.บัญชีรายชื่อในทันที เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งที่เคยประกาศไว้ช่วงก่อนการเลือกตั้ง พ่วงด้วยส.ส.รุ่นใหม่ในสังกัดกลุ่มนิวเดมที่ทยอยเปิดตูดพ้นพรรคเก่าแก่อย่างต่อเนื่อง
ก่อนที่จะไปดูเหตุผลของอภิสิทธิ์นั้น กล่าวสำหรับพรรคเก่าแก่คงต้องยอมรับกันว่า ไม่ได้เป็นอะไรที่แปลกประหลาด หากติดตามการทำงานการเมืองที่ผ่านมา จะเห็นได้ชัดว่าอิงแอบกับอำนาจเหล่านี้มาโดยตลอด ยิ่งการเข้าร่วมขบวนการสืบทอดอำนาจรอบนี้ ก็มีเสียงเชียร์มาจากส.ส.เสียงส่วนใหญ่ ซึ่งมีแกนหลักก็คืออดีตแกนนำม็อบนกหวีดที่เป็นผู้โบกมือดักกวักมือเรียกให้พลเอกประยุทธ์และคณะคสช.เข้ามายึดอำนาจจากรัฐบาลประชาธิปไตยนั่นเอง
หากจะหยิบยกเอาบทเพลงของท่านผู้นำที่เลิกประโคมล้างสมองชาวบ้านไปแล้ว เหตุเพราะไม่สามารถทำตามสัญญาได้ เลื่อนเลือกตั้งเป็นว่าเล่น พฤติกรรมของบางพรรคการเมืองก็อาจจะแต่งเพลงออกมาได้ว่า เราจะทำตามสันดาน ที่ทำว่าต้องคิดนาน เพราะตำแหน่งที่ต้องการ ยังไม่ได้เท่านั้นเอง อย่าถามถึงอุดมการณ์ เจตนารมณ์ยิ่งไม่มี ที่พูดไปให้ดูดี แท้ที่จริงเราพวกเผด็จการ นี่แค่หนังตัวอย่างเล็กน้อย แต่ภาพใหญ่ทั้งหมดคนทั่วไปรับรู้กันได้เป็นอย่างดี
ขณะที่เหตุผลของการเข้าร่วมรัฐบาลสืบทอดอำนาจนั้น เป็นไปตามที่เคยบอกไว้มาตั้งนานแล้ว ไม่มีอะไรเซอร์ไพรส์ เรื่องข้ออ้างพรรคสืบทอดอำนาจรับ 3 เงื่อนไขทั้ง นโยบายสำคัญของพรรค เงื่อนไขการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และสุดท้ายการบริหารราชการแผ่นดิน ให้เป็นไปด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต นี่ยิ่งตลกใหญ่ มีพวกอยากเป็นรัฐบาลที่ไหนบ้างจะบอกว่าการจะเข้าไปบริหารประเทศไม่โปร่งใส มีแต่ทุจริต ล้วนแต่โพนทะนาเรื่องของการต้านโกงทั้งนั้น
เอาแค่รัฐบาลอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดตั้งแต่ไมโครโฟนทองคำ จนเกิดอีกหลายกรณีแล้วจบที่นาฬิกาหรู ถามว่าสังคมเชื่อโดยสุจริตใช่หรือไม่ว่าไม่มีเรื่องทุจริต ทุกอย่างโปร่งใสจริง เปล่าเลยทุกอย่างถูกกดทับด้วยอำนาจพิเศษ กระบวนการตรวจสอบไม่ทำงาน ประเด็นนี้ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นต่างรู้ดี ไม่มีการเรียกรับหัวคิวแล้วจริงหรือไม่ จะว่าไปเปอร์เซ็นต์ที่เคยเรียกกันยุคนักการเมืองครองเมือง หนักหน่วงกว่าเดิมเสียด้วยซ้ำไป
สิ่งที่น่าสนใจคือ ที่พรรคเก่าแก่ประกาศว่าถ้าพบรัฐบาลทุจริตจะถอนตัวทันที ต้องถามต่อไปว่าทุจริตแบบไหนจึงจะอยู่ในข่ายที่ประชาธิปัตย์อยู่ร่วมชายคาไม่ได้ ต้องมีใบเสร็จมาแสดงเป็นหลักฐานชัดเจนก่อนใช่ไหม ถ้าหากเป็นเช่นนั้นก็คงยากและอย่าอ้างเพื่อสร้างภาพให้ดูดี เพราะนี่ไม่ใช่แนวทางที่จะสร้างบรรทัดฐานเรื่องการสร้างธรรมาภิบาลในการบริหารประเทศที่ดี อย่างที่รู้กันตลอด 5 ปีที่ผ่านมา นอกจากคำพูดที่หลุดมาจากปากท่านผู้นำ ทำกันได้จริงหรือไม่
เช่นเดียวกันกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รับคำกันไปแล้ว ขั้นไหนถึงจะเรียกว่าเป็นไปตามที่ประชาธิปัตย์ต้องการ แล้วจะผลักดันให้กำจัดเนื้อหาในกฎหมายสูงสุดของประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตยให้แล้วเสร็จเมื่อไหร่ ภายในรัฐบาลนี้หรือขออีก 4 ปีแล้วค่อยแก้ ถ้าเช่นนั้นก็เหมือนอย่างที่มีคนค่อนขอดหากไม่ทำเป็นสัญญาประชาคม ประชาชนก็เกรงว่าจะถูกหลอกเพราะเขาไม่ได้บอกว่าจะแก้ให้เสร็จตอนไหน ชาตินี้ไม่ได้ค่อยว่ากันชาติหน้าก็แล้วกัน
น่าเห็นใจอภิสิทธิ์ที่ต้องตัดสินใจแบบนี้ คงไม่ใช่เพราะต้องทำตามจุดยืนและยึดถือตามเจตนารมณ์ของพรรคเท่านั้น หากแต่น่าจะรู้สึกผิดมาตั้งแต่เมื่อคราวตัวเองเคยได้ตำแหน่งนายกฯ จากการไปตั้งรัฐบาลในค่ายทหารแล้ว เพราะครั้งนั้นบทสรุปก็อย่างที่ทราบกันเกิดการสลายม็อบต้านจนคนตายเกือบร้อยและบาดเจ็บหลายพัน และไม่ได้สร้างภาพน่าจดจำใด ๆ เลยต่อการได้เป็นผู้นำประเทศของคนที่ถูกมองว่าเป็นนักการเมืองอนาคตไกล ตรงข้ามยังเป็นตราบาปติดตัวมาจนถึงทุกวันนี้
อย่างที่อภิสิทธิ์ว่าไม่สามารถทำบาป 1 ข้อตามที่ มหาตมะ คานธี เคยว่าไว้ นั่นก็คือ เล่นการเมืองโดยไม่มีหลักการ อันเป็นการสะท้อนภาพการตัดสินใจของเพื่อนร่วมพรรคได้เป็นอย่างดี การเล่นการเมืองที่ทำเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองโดยไม่คำนึงถึงประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศหรือไม่ยึดหลักการของเสียงส่วนใหญ่ แต่มองว่าเสียงส่วนน้อยสำคัญกว่าเสียงส่วนใหญ่ การเล่นการเมืองมีลักษณะส่งเสริมการรัฐประหาร แต่ไม่ส่งเสริมการปกครองแบบประชาธิปไตย รวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เอื้อประโยชน์เฉพาะกลุ่มบางคน กาลเวลา (อันใกล้) จะเป็นบทพิสูจน์พรรคเก่าแก่เอง