เกาโดนที่คัน
ยุทธศาสตร์ธุรกิจเชิงรุกเข้าสู่ยุคธนาคารอิเล็กทรอนิกส์หรือ E-banking ยังคงเดินหน้าโดยที่ประชาชนผู้รับบริการไม่มีทางเลือกอื่นมากนักโดยเฉพาะลูกค้าของธนาคารที่มุ่งเป็นเจ้าทางด้านนี้ด้วยการลนลานเร่งปิดสาขาเพื่อลดต้นทุนเป็นการใหญ่
พลวัตปี 2019 : วิษณุ โชลิตกุล
ยุทธศาสตร์ธุรกิจเชิงรุกเข้าสู่ยุคธนาคารอิเล็กทรอนิกส์หรือ E-banking ยังคงเดินหน้าโดยที่ประชาชนผู้รับบริการไม่มีทางเลือกอื่นมากนักโดยเฉพาะลูกค้าของธนาคารที่มุ่งเป็นเจ้าทางด้านนี้ด้วยการลนลานเร่งปิดสาขาเพื่อลดต้นทุนเป็นการใหญ่
ลูกค้าของธนาคารพาณิชย์อย่าง SCB หรือธนาคารไทยพาณิชย์ที่ยังลังเลใจว่าจะเลือกใช้ E-banking หรือไม่เพราะกลัวเรื่องความปลอดภัยล่าสุดถูกนำเสนอทางเลือกใหม่ชนิด “เกาโดนที่คัน” เมื่อ SCB ร่วมมือกับบริษัทไปรษณีย์ไทยจำกัดให้คนสามารถฝากเงินที่สาขาไปรษณีย์ไทยได้ภายใต้บริการชื่อ SCB Service สามารถฝากได้ตั้งแต่ 1-30,000 บาท/รายการสูงสุด 60,000 บาท/วัน/บัญชี ค่าธรรมเนียมในการให้บริการไม่เกิน 20 บาท/รายการจากที่ทำการไปรษณีย์ไทยซึ่งมีอยู่ประมาณ 1,200 สาขาทั่วประเทศโดยในช่วงแรกธนาคารพยายามสร้างแรงจูงใจให้คนมาใช้งานด้วยการอัดโปรโมชั่นฝาก 5 ครั้งได้ข้าวไรซ์เบอรี่ฟรี 1 ถุง
หากไม่นับคำโฆษณาชวนเชื่อทางการตลาดที่ว่า SCB Service นี้จะสามารถอำนวยความสะดวกและเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงบริการธนาคารให้กับลูกค้าได้มากยิ่งขึ้นในทุก ๆ touchpoint ที่ตรงกับไลฟ์สไตล์และการใช้ชีวิตประจำวันไม่จำกัดอยู่ที่สาขาหรือช่องทางหลักของธนาคารอีกต่อไปโดยหัวใจสำคัญคือการมีพันธมิตรที่แข็งแกร่งเพื่อรองรับการเติบโตในโลกธุรกิจยุคปัจจุบันซึ่งไปรษณีย์ไทยถือเป็นหนึ่งในพันธมิตรที่เป็น Key Player ในกลุ่มโลจิสติกส์ที่มีความแข็งแกร่ง
แล้วก็อีกเช่นกันหากไม่นับคำถามสำคัญที่ผู้ใช้บริการธนาคาร SCB ตั้งขึ้นในระยะเฉพาะหน้าว่านี้คือรายการ “ปิดประตูตีแมว” ผลักภาระให้ผู้บริโภค เช่น 1) การเร่งปิดสาขาทำให้สาขาที่เหลืออยู่ทำงานล่าช้าและเลวลงมาก 2) ต้นทุนผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นจากค่าธรรมเนียมฝากเงินอีกจากเดิมที่ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมเป็นการเอาเปรียบเพราะลดต้นทุนของธนาคารฝ่ายเดียวแต่เพิ่มต้นทุนลูกค้า ฯลฯ ) แล้วในทางธุรกิจถือว่าไปรษณีย์ไทยสามารถฉกโอกาสช่วงเวลาขัดตาทัพสำหรับคนที่ไม่ต้องการหรือเข้าไม่ถึง E-banking ได้อย่างง่ายดายแม้จะช้าไปสักนิด
นางสมร เทิดธรรมพิบูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กล่าวว่า ไปรษณีย์ไทยมีจุดแข็งอยู่ที่เครือข่ายโดยเฉพาะในเขตภูมิภาคจึงทำให้ไปรษณีย์ไทยเป็นทางเลือกสำหรับผู้ใช้บริการด้วยเครือข่ายที่ครอบคลุมเข้าถึงทุกพื้นที่ผ่านจุดให้บริการกว่า 1,200 แห่งทั่วประเทศที่มีศักยภาพสามารถรองรับการเป็นตัวแทนให้บริการการเงินของธนาคารการร่วมมือให้บริการแบงกิ้งเอเย่นต์ในครั้งนี้เป็นการยกระดับต่อยอดและขยายความร่วมมือระหว่างสององค์กร
การสร้างช่องทางบริการทางการเงินโดยผ่านเครือข่ายลอจิสติกส์เช่นนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ในโลกเพราะที่ญี่ปุ่นมีการดำเนินการมายาวนานโดย Japan Post แล้วและที่ญี่ปุ่นอีกเช่นกันที่ร้านค้าปลีกก็มีบริการทางการเงินฝากถอนแบบ self-services ทั่วประเทศทั้งบริการในและข้ามประเทศ
การปรับตัวของไปรษณีย์ไทยต่างหากที่น่าสนใจเพราะหลังจากที่ธุรกิจให้บริการจัดส่งพัสดุด่วนทั่วประเทศหรือลอจิสติกส์แบบ outsourced ที่เป็นแบบ B2C และ C2C เฟื่องฟูในประเทศไทยพร้อมกับการขายสินค้าออนไลน์ที่เติบโตก้าวกระโดดเป็นขาขึ้นถึงขั้นมีคนกล่าวว่าช่วงนี้ตลาดนี้ยัง “เติมเท่าไหร่ก็ไม่เต็ม” อำนาจการครอบงำตลาดของไปรษณีย์ไทยลดฮวบฮาบ
เคยมีการประเมินว่าปัจจุบันการขนส่งพัสดุของฝั่งธุรกิจไปยังผู้บริโภคหรือ B2C และระหว่างผู้บริโภคด้วยกันหรือ C2C ไม่ได้มีแค่ส่งเอกสารหรือสิ่งของเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่กลายเป็นการขนส่งสินค้าที่ซื้อขายกันผ่านออนไลน์หรือ Ecommerce ที่มีขนาดตลาดใหญ่ถึง 7 แสนล้านบาทในปี 2559 และปี 2560 ก็มีโอกาสเพิ่มขึ้นอีก 30% ด้วยซึ่งจุดนี้เองส่งผลให้มูลค่าตลาดบริการขนส่งนั้นมีมูลค่าเติบโตตามกันไปโดยล่าสุดปี 2560 จะมีขนาด 2.4 หมื่นล้านบาทพร้อมกับเติบโต 10-20% ต่อปีผ่านผู้เล่นทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ที่เร่งการทำตลาดเต็มที่เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของร้านค้าและผู้บริโภค
การมาแข่งขันและเติบโตรุนแรงของบริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด อันเป็นเครือข่ายข้ามประเทศ (ที่เป็นจุดอ่อนของไปรษณีย์ไทย) สาขาของ Kerry Logistics Network บริษัทสัญชาติฮ่องกงจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ Hang Seng ซึ่งยังทำธุรกิจขนส่งข้ามประเทศ ขนส่งสินค้าทางอากาศ บริการให้เช่าคลังสินค้า และวางรูปแบบ Supply Chain ครบวงจรให้กับองค์กรโดยที่ทั้งหมดนี้อยู่ใต้ร่มธง Kerry Properties ที่กำกับดูแลธุรกิจนอกมาเลเซียทั้งหมดของ Kuok Brothers
ปัจจุบัน Kerry TH ประกอบธุรกิจให้บริการจัดส่งพัสดุด่วนทั่วประเทศไทย (Kerry TH) โดยมีการตั้งบริษัทต่าง ๆ เข้าร่วมถือหุ้นเพื่อสอดรับกฎหมายไทยรวมกันในสัดส่วน100% และในตลาดถือว่ามาแรงเป็นผู้ให้บริการจัดส่งสินค้าเป็นอันดับ 2 รองจากไปรษณีย์ไทยโดยมีคู่แข่งรายใหม่ ๆ ในตลาดที่ตามมาห่างมากเช่น Alpha, นิ่มซี่เส็ง, DHL และ SCG Express
เมื่อพิจารณาจากงบการเงินของ Kerry TH ที่นักวิเคราะห์ไป “ขุดมาได้” พบว่ามีกำไรไม่ธรรมดา 700 ล้านบาทในปี 2560 ล่าสุดปีที่ผ่านมายิ่งสะท้อนว่าเป็นธุรกิจที่น่าลงทุนอย่างยิ่ง
การที่ BTS (ผ่านVGI) ยินยอมทุ่มเงินเข้าถือหุ้นจากนอมินีของ Kuok Brothers ใน Kerry TH แค่ 23% ในมูลค่า5.9 พันล้านบาทโดยชำระค่าซื้อหุ้นเป็นเงินสดและยินยอมให้ Kerry ขยายเครือข่ายการขนส่งสินค้าโดยเปิดร้านให้บริการรับส่งพัสดุบนสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสแล้วจำนวน 2 สถานีได้แก่สถานีพร้อมพงษ์และทองหล่อ ทั้งยังมีแผนจะเปิดให้บริการร้านรับส่งพัสดุดังกล่าวให้ครอบคลุมทั้งเครือข่ายของรถไฟฟ้าบีทีเอสเพื่อจะสามารถรับรู้ synergies ได้มากยิ่งขึ้นจากการขยายการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ สะท้อนอนาคตของการแข่งขันที่ไม่ธรรมดา
ยิ่งกว่านั้นการขยับตัว SCG Express จากลอจิสติกส์แบบ inhouse มาสู่ตลาดนี้โดยร่วมมือกับกลุ่ม Yamato เบอร์หนึ่งบริการขนส่งสินค้าจากญี่ปุ่นเพื่อเปิดเกมรุกในตลาดขนส่งสินค้า B2C และ C2C ในประเทศไทยที่มีจุดเด่นเรื่องงานบริการและส่งสินค้าแบบ Next Day จนในปี 2561 สามารถกระจายจุดรับส่งสินค้ามากกว่า 1,000 แห่งเน้นการตลาดที่แตกต่างด้วยนวัตกรรมชูงานบริการที่แตกต่างผ่านการฝึกฝนพนักงานขนส่งให้สุภาพก็ทำให้เป็นแรงกดดันต่อรัฐวิสาหกิจอย่างไปรษณีย์ไทยต้องปรับตัวปรับบริการและเพิ่มรายได้จากฐานข้อมูลที่เหนือกว่ารายอื่น ๆ
ก้าวย่างการจับมือกับ SCB จึงเป็นก้าวเล็ก ๆ ที่เคยถูกมองข้ามไปและน่าจะทำให้ตลาดนี้ร้อนแรงขึ้นไปอีกแต่จะยั่งยืนแค่ไหนต้องผ่านการพิสูจน์ในอนาคต
ขอเพียงรู้ว่าก้าวย่างนี้เป็นการ “เกาถูกที่คัน”รองรับสังคมที่เรียกว่าขณะเดียวกัน Hands-Free Behavior หรือการดำรงชีวิตโดยไม่ต้องถือสิ่งของอะไรได้ทันโดยไม่ตกยุคก็เพียงพอแล้ว