ประชาธิปัตย์ในม่านฝัน
ก็แค่นี้ล่ะครับ ลีลากันอยู่นาน ในที่สุดพรรคประชาธิปัตย์ก็มาจอดป้ายที่การเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ พร้อมกับการสูญเสียอดีตหัวหน้าพรรค นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ขอลาออกจากส.ส.โดยความไม่สมัครใจ เพื่อไม่ต้องฝ่าฝืนมติพรรคไปยกมือโหวต “ลุงตู่” เป็นนายกรัฐมนตรี
ขี่พายุทะลุฟ้า : ชาญชัย สงวนวงศ์
ก็แค่นี้ล่ะครับ ลีลากันอยู่นาน ในที่สุดพรรคประชาธิปัตย์ก็มาจอดป้ายที่การเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ พร้อมกับการสูญเสียอดีตหัวหน้าพรรค นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ขอลาออกจากส.ส.โดยความไม่สมัครใจ เพื่อไม่ต้องฝ่าฝืนมติพรรคไปยกมือโหวต “ลุงตู่” เป็นนายกรัฐมนตรี
เป็นธรรมชาติของคนในพรรคนี้หรือเปล่าไม่ทราบ ที่สันทัดในการประดิษฐ์ถ้อยคำสวยหรู แต่คำพูดมักจะสวนทางกับการกระทำอยู่เนือง ๆ ถึงแม้จะมีบทพิสูจน์ที่ชัดเจนออกมาภายหลังว่าที่พูดนั้นผิดหรือเป็นเรื่องประดิษฐ์สร้างขึ้นมาเอง อย่างเช่นสูติบัตรปลอมของอดีตนายกฯ บรรหาร ก็มักไม่มีคำขอโทษหรือคำว่า “เสียใจ”ออกมาเช่นกัน
ลองดูคำพูดหัวหน้าพรรคคนปัจจุบัน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ที่พูดไว้ก่อนหน้านี้ไม่นาน (ตอนที่การเจรจาเข้าร่วมยังไม่สะเด็ดน้ำ) ก็ดูเคลิ้มดีในการแบ่งประชาธิปไตยออกเป็น 3 แบบ
แบบประชาธิปไตยทุจริต ก็คงจะออกแนว ๆ พรรคทุนสามานย์ ที่เป็นคู่แข่งสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ และพ่ายแพ้พรรคนี้มาตลอดนั่นแหละ แบบประชาธิปไตยวิปริต ก็คงจะออกแนว ๆ เผด็จการในคราบประชาธิปไตย แนวคสช.ที่จะผันตัวเองมาเป็นนายกรัฐมนตรีหลังเลือกตั้ง และแบบประชาธิปไตยสุจริต
ซึ่งก็คือสเปกของพรรคประชาธิปัตย์เองนั่นไง
ฟังดูแล้วเท่ดีนะครับ แต่คงจะลืมไปว่า มันจะเป็นวาทกรรมที่ขัดขาและย้อนแย้งกับตัวเองเข้าจังเบอร์ เพราะมติพรรคที่เข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ นั่นไม่ใช่ “ประชาธิปไตยวิปริต” ที่ตัวเองเปรียบเปรยไว้หรือ
ถ้าจะดำรงรักษา “ประชาธิปไตยสุจริต” มันก็ต้องแข็งขืนฝืนทน ยอมเป็น “ฝ่ายค้านอิสระ” หรือไปร่วมจับมือกับพรรคแนวประชาธิปไตยอื่นเป็น “รัฐบาลขั้วที่ 3” ให้มันสง่างามสิครับ ไม่ใช่ไปทิ้งตัวอยู่กับขั้ว “ประชาธิปไตยวิปริต” เช่นนี้
ในทางจิตวิทยา เขาบอกว่าเรื่องราวใดก็ตามที่กุกันขึ้นมาเองหรือมโนเอาเองจากความไม่รู้ พอฟังนานวันเข้าก็มักจะซึมซับทึกทักเป็นเรื่องจริงไปเลย คนในพรรคประชาธิปัตย์ก็มักจะตกอยู่ในอาการนี้ไม่น้อย
ประดิษฐ์วาทกรรม “ทุนสามานย์” ขึ้นมาเพื่อจะเอาชนะพรรคคู่แข่งไทยรักไทย ก็ลองคิดไตร่ตรองกันดี ๆ เถอะว่า ทุนที่ไหนไม่สามานย์ในเมื่อเป้าประสงค์ใหญ่ ยังมีเรื่องของ “กำไร” ซึ่งหากไม่ให้มีผลกำไรเลย ก็คงไม่มีนายทุนคนใดมาสร้างเงินสร้างงานโดยตัวเองก็ต้องมาแบกรับความเสี่ยง ซึ่งก็อาจจะเจ๊งได้เช่นกัน
ทุนใดสามานย์ ทุนใดไม่สามานย์ก็พูดยากเหมือนกันนะ แต่ก็คงไม่ใช่ทุนข้างตัวเองไม่สามานย์ ส่วนทุนฝ่ายตรงข้ามสามานย์เป็นแน่
เรื่อง “เผด็จการรัฐสภา” นี่ก็อีก ประเทศที่ปกครองในระบบรัฐสภาที่ไหน ๆ ก็ล้วนแล้วแต่ใช้หลัก “เสียงข้างมากปกครอง-เคารพสิทธิเสียงข้างน้อย” หรือ “Majority Rule, Minority Right” กันทั้งนั้น ยามพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลก็ใช้เสียงข้างมากปกครองไม่ใช่หรือ ไม่เห็นจะเรียกเป็นเผด็จการรัฐสภาตรงไหน
แต่ถ้าฝ่ายข้างมากไม่เคารพสิทธิเสียงข้างน้อยหรือไม่รับฟังเสียงข้างน้อยมาก ๆ เข้า ธรรมชาติก็เคยลงโทษให้เห็นมาแล้วดังเช่นสมัยยิ่งลักษณ์นิรโทษกรรมสุดซอยให้พี่ชายตนเองไง
เบ้าหลอมความคิดประชาธิปัตย์พรรคนี้ อยู่กับหลักคิดที่มโนเอาเองเพราะความไม่รู้หรือเพราะอคติมานาน จึงกลายเป็นพรรคที่ตามโลกไม่ทัน จุดยืนทางการเมืองก็ไม่ชัดเจนว่าอยู่ข้างไหนกันแน่ เช่นบอกว่ายึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย แต่ก็บอยคอตเลือกตั้งถึง 2 ครั้ง ยามมีม็อบเรียกหาเผด็จการ ก็ออกไปร่วมเป่านกหวีดปรี๊ด ๆ กับเขาด้วย
ความคิดในเชิงพัฒนาแทบไม่มี ภาคใต้แทบจะไม่พัฒนาเลย โครงการใหญ่ที่จะให้คนใต้มีเศรษฐกิจหลักพึ่งพาอย่างเช่นเซาเทิร์นซีบอร์ด ก็ไม่มีไปลงเพราะนักการเมืองท้องถิ่นไม่เอาด้วย ยิ่งพืชเศรษฐกิจหลักอย่างปาล์มน้ำมัน ยางพารา มีราคาตกต่ำมายาวนาน พรรคประชาธิปัตย์ก็ยิ่งเสื่อม
แล้วก็ดิสรัปชั่นอย่างฉับพลันในผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา
ถึงเวลาประชาธิปัตย์ต้องออกจากม่านฝันแล้วล่ะครับ ขณะเดียวกัน ผมก็ยินดีปรีดาอย่างยิ่งโดยสัตย์จริง ที่จะมี “รัฐบาลลุง” เสียที