จารีตเสี่ยเจริญ

เสี่ยเจริญ หรือตระกูลสิริวัฒนภักดี กำลังพิสูจน์ให้คนเห็นว่าพวกเขามีทรัพย์สินที่สร้างอาณาจักรใหญ่โตคับประเทศไทยโดยไม่ต้องมีธุรกิจน้ำเมาที่ “คนดี” ทั้งหลายพากัน “เกลียดตัวกินไข่" เคยตั้งข้อรังเกียจเมื่อสิบกว่าปีก่อน


พลวัตปี 2019 : วิษณุ โชลิตกุล

เสี่ยเจริญ หรือตระกูลสิริวัฒนภักดี กำลังพิสูจน์ให้คนเห็นว่าพวกเขามีทรัพย์สินที่สร้างอาณาจักรใหญ่โตคับประเทศไทยโดยไม่ต้องมีธุรกิจน้ำเมาที่ คนดี ทั้งหลายพากัน เกลียดตัวกินไข่ เคยตั้งข้อรังเกียจเมื่อสิบกว่าปีก่อน

ข้อรังเกียจดังกล่าวทำให้นอกจากโฮลดิ้งสำคัญของกลุ่มสิริวัฒนภักดีอย่างบริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)จะต้องระเห็จไปจดทะเบียนในตลาดหุ้นสิงคโปร์แล้วยังทำให้อดีตผู้จัดการตลาดยุคนั้นนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง จำต้องลาออกจากตำแหน่งเพราะมีมารยาทดีเกินไป

วันนี้นอกจากกลุ่มสิริวัฒนภักดีจะเป็นผู้ถือครองหุ้นใหญ่ในบริษัทจดทะเบียนหลายรายโดยให้บริษัทไทยเบฟฯถือหุ้นทางอ้อมแล้ว ล่าสุดปีนี้หุ้นของกลุ่มที่ทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มูลค่าเหยียบหรือมากกว่าแสนล้านบาทก็กำลังจะกลายเป็นบริษัทจดทะเบียนรายใหม่ในตลาด

ปรากฏการณ์นี้สะท้อนว่ากลุ่มนี้มองเห็นศักยภาพและช่ำชองกับการใช้ตลาดทุนสร้างการเติบโตมากกว่าอาศัย “สายสัมพันธ์ กับข้าราชการหรือผู้มีอำนาจรัฐแบบเดิม ๆ

หุ้นเสี่ยเจริญที่กำลังจะระดมทุนจำนวนมหาศาล (อาจจะใหญ่สุดของปีนี้หากไม่นับ PTTOR ของเครือปตท.) คือแอสเสท เวิรด์ คอร์ป (AWC) ที่เพิ่งจะยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (Filing) version แรกต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในวันนี้เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ไม่เกิน 8,000 ล้านหุ้น โดยบริษัทจะขอเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) มีบล.บัวหลวง, บล.ภัทรและบล.กสิกรไทย เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) ร่วมกับ FA จากต่างประเทศอีก 3 ราย

แอสเสท เวิรด์ คอร์ป ประกอบธุรกิจถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ที่ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์บริษัทเป็นทั้งเจ้าของและผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ทั้งหมด 29 แห่ง

ล่าสุดเมื่อ สิ้นไตรมาสแรก ณ วันที่ 31 มี.ค. 2562 บริษัทนี้ที่ทำอสังหาริมทรัพย์ประเภทหารายได้จากค่าเช่า3 ประเภทหลัก (ธุรกิจโรงแรม 60% และธุรกิจอาคารสำนักงานและพื้นที่ค้าปลีกรวมกันอีกปีประมาณ 40%) มีสินทรัพย์รวม 92,759.15 ล้านบาท หนี้สินรวม 67,561.93 ล้านบาท ส่วนของผู้ถือหุ้นรวม 25,197.22 ล้านบาท ดังนั้นถ้าระดมทุนเสร็จสินทรัพย์จะโป่งพองเป็นมากกว่า 1.2 แสนล้านบาท

คิดเฉพาะสินทรัพย์ล่าสุด ณ วันที่ 31 มี.ค.62 บริษัทเป็นเจ้าของโรงแรมระดับ Midscale ขึ้นไปรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยโดยมีโรงแรมที่เปิดดำเนินการแล้ว10 แห่งจำนวนห้องพักรวมทั้งสิ้น 3,432 ห้องโดยบริษัทคาดการณ์ว่าเมื่อรวมจำนวนห้องพักของโรงแรมทั้งหมดจะมีจำนวนรวมทั้งสิ้นประมาณ 8,500 ห้องภายใน 5 ปี

บริษัทมีอสังหาริมทรัพย์เพื่อประกอบกิจการการค้า (Retail and Wholesale) ที่เปิดดำเนินการแล้วทั้งหมด 8 แห่งมีพื้นที่เช่าสุทธิ (NLA) รวม 165,628 ตร.ม. คาดว่าภายในปี 2568 บริษัทจะสามารถเพิ่มจำนวนพื้นที่เช่าสุทธิ (NLA) ได้ทั้งสิ้นประมาณ 249,853 ตร.ม ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ และในปี 2561 ได้เปิดดำเนินงานอสังหาริมทรัพย์เพื่อประกอบกิจการปลีก(Retail) ใหม่ 2 แห่งได้แก่โครงการลาซาล อเวนิว และโครงการเกตเวย์ แอท บางซื่อ

ณ วันที่ 11 มิ.ย.62 บริษัทมีทุนจดทะเบียนจำนวน 32,000,000,000 บาท เป็นทุนที่เรียกชำระแล้ว24,000,000,000 บาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 24,000,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ1 บาท ภายหลังจากการเสนอขายหุ้น IPO ครั้งนี้แล้วบริษัทจะมีทุนจดทะเบียนเรียกชำระแล้วไม่เกิน 32,000,000,000 บาท

ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทฯ ณ วันที่ 11 มิ.ย.62 ประกอบด้วยกลุ่มนายเจริญ สิริวัฒนภักดี และคุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี ซึ่งรวมถึงกลุ่มบริษัททีซีซีกรุ๊ป อินเตอร์เนชั่นแนล ลิมิเต็ด ถือหุ้นรวมกัน 24,000,000,000 หุ้นคิดเป็น 100% หลังเสนอขายหุ้น IPO ในครั้งนี้แล้วจะลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเหลือ 75%

การเติบใหญ่ของ AWC ไม่ใช่เรื่องแปลกและตอกย้ำข่าวเล่าลือเก่า ๆ ที่ว่าเสี่ยเจริญและครอบครัวคือผู้ถือครองที่ดินรายใหญ่ระดับหัวแถวของประเทศอีกครั้ง

ชื่อของ AWC เพิ่งจะโผล่มาไม่นานนี้เองเมื่อ 2 ปีก่อนเมื่อบริษัทนี้ได้เดินหน้าเป็นตัวแทนกลุ่มสิริวัฒนภักดี ทุ่มเงินซื้อสินทรัพย์ของ 3 กองทุนคือกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าไทยคอมเมอร์เชียลอินเวสเม้นต์ (TCIF) , กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ไทยรีเทลอินเวสเม้นต์ (TRIF) กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าไทยโฮเทลอินเวสเม้นต์(THIF) มีมูลค่าสินทรัพย์รวมประมาณ 80,000 ล้านบาทที่บริหารโดยบลจ.กรุงไทยเมื่อต้นปี 2560 ให้เหตุผลว่าจะนำสินทรัพย์ไปพัฒนาต่อ

การเสนอซื้อสินทรัพย์ในรูปกองทุนอสังหาฯ ในครั้งนั้นเป็นเรื่องอื้อฉาวพอสมควรเพราะที่ปรึกษาการเงินอิสระระบุว่าการยื่นคำเสนอครั้งแรกนั้นให้ราคาและมูลค่าต่ำกว่าตลาดจนที่สุด AWC ต้องปรับราคาเสนอซื้อใหม่แต่ก็ยังต่ำกว่าตลาดอยู่ดี

ท้ายสุดด้วย “วิชาเทพ” ของกลุ่มนี้ทำให้ผลการประชุมผู้ถือหน่วยทั้ง 3 กองทุน (ซึ่งแยกย้ายกันเป็นนอมินีถือหุ้นแทนกลุ่มสิริวัฒนภักดีอย่างซับซ้อนมีมติอนุมัติให้ขายทรัพย์สินทั้งหมดด้วยคะแนนเสียงโหวตเอกฉันท์มากกว่า 99.0% ทำให้เสียงค้านไร้ความหมาย

ตอนนั้นมีคำถามมากมายว่า AWC จะทำอะไรต่อท่ามกลางข่าวลือหนาหูว่าจะนำเอาทรัพย์สินทั้งหลายไปตั้งเป็นกองทุนใหม่ในรูป REITs เพื่อระดมทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศที่ให้มูลค่าสูงกว่าในไทย….แต่ตอนนี้มีคำตอบชัดเจนแล้ว

การโยกทรัพย์สินที่เคยอยู่ในรูปกองทุนมาเป็นทรัพย์สินในรูปของอสังหาริมทรัพย์ที่ประเมินค่าเป็นบุ๊กแวลูและมาร์เก็ตแค็ปเพื่อประเมินค่าออกมาเป็นราคาหุ้นที่ซื้อขายในตลาดเป็นวิศวกรรมการเงินรูปหนึ่งของยุทธศาสตร์ “เงินต่อเงิน” เพื่อสร้างมูลค่าจากตลาดทุนทางลัด

วิศวกรรมการเงินรูปแบบนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่กลุ่มสิริวัฒนภักดีกระทำ

คำถามที่ท้าทายคือ “หุ้นเสี่ยเจริญ” ทั้งหลายที่มีอยู่แล้วในตลาดหุ้นไทย (BJC, UV, GOLD, PSTC) มักจะมีรูปแบบที่เฉพาะตัวอย่างมากนั่นคือมีสภาพคล่องของหุ้นค่อนข้างต่ำและมีทิศทางการวิ่งของราคาที่คาดเดาได้ยาก

การขายหุ้น IPO ของ AWC มากถึง 6,957 ล้านหุ้น คิดเป็น 22.47% ที่ดูผิดจารีตหุ้นเสี่ยเจริญจะลงเอยด้วยการที่กลุ่มนี้เข้ามาซื้อเพื่อถือผ่านนอมินีเพื่อทำให้จำนวนหุ้นมีสภาพคล่องต่ำในตลาดจึงเป็นคำถามที่ท้าทาย

ซื้อหุ้น AWC แล้วจะรวยขึ้นหรือจนลงขึ้นกับประสบการณ์ของนักลงทุนว่าเคยมีกับ หุ้นเสี่ยเจริญอื่นๆแค่ไหน

Back to top button