ความเสี่ยงของมือที่มองเห็นพลวัต2015
ดัชนีตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้จีน ใช้เวลา 1 เดือนเปลี่ยนจากภาวะกระทิงเปลี่ยว กลายเป็นภาวะหมีชนิดที่ไม่รู้เลยว่า ก้นเหวอยู่ที่ไหน กลายเป็นประเด็นให้ทางการจีนต้องเข้ามาแทรกอย่างสุดฤทธิ์ แต่ดูเหมือนว่า มือที่มองเห็น ของหน่วยงานรัฐจีน จะยิ่งทำให้เกิดผลตรงกันข้าม
ดัชนีตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้จีน ใช้เวลา 1 เดือนเปลี่ยนจากภาวะกระทิงเปลี่ยว กลายเป็นภาวะหมีชนิดที่ไม่รู้เลยว่า ก้นเหวอยู่ที่ไหน กลายเป็นประเด็นให้ทางการจีนต้องเข้ามาแทรกอย่างสุดฤทธิ์ แต่ดูเหมือนว่า มือที่มองเห็น ของหน่วยงานรัฐจีน จะยิ่งทำให้เกิดผลตรงกันข้าม
นับตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันที่ดัชนีตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้สูงสุดในรอบ 7 ปี ที่ระดับ 5,166 จุด ดัชนีได้ตกหนักจนถึงล่าสุดวานนี้ ที่ระดับ 3,500 จุด หรือประมาณ 1,666 จุด ทำให้เชื่อกันว่านี่เป็นภาวะตลาดเข้าสู่ภาวะหมีเต็มรูป
ที่ผ่านมากระบวนทัศน์ของผู้บริหารนโยบายเศรษฐกิจจีน มักจะโยงใยเอาตลาดหุ้นเป็นส่วนสำคัญในฐานะกลไกแห่งความหวังที่ทางการต้องการนำมาปลอบประโลมว่าเศรษฐกิจจีนยังมีอนาคต เมื่อตลาดหุ้นตก การรับมือกับปัญหาหุ้นตกหนัก จึงเป็นมากกว่าเรื่องกลไกตลาดตามปกติ
ก่อนหน้าที่ตลาดหุ้นจีนจะร่วงลงแรงนั้น หน่วยงานกำกับดูแลตลาดหุ้นจีน พะวงกับปัญหาตลาดหุ้นร้อนแรงเกินขนาด ถึงขั้นที่มูลค่าการซื้อขายประจำวันแซงหน้าวอลล์สตรีทไปเป็นตลาดอันดับหนึ่งของโลก ที่ระดับเฉลี่ย 3.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ มากกว่ามูลค่าเฉลี่ยของตลาดหุ้นนิวยอร์กและแนสแด็กรวมกันเกือบ 3 เท่า เริ่มแต่มาตรการให้โบรกเกอร์ควบคุมบัญชีซื้อขายมาร์จิ้นเข้มงวด ซึ่งทำให้แรงเหวี่ยงระหว่างการซื้อขายระหว่างวันรุนแรงมากยิ่งขึ้น และทำให้ตลาดร่วงหนัก
ความล้มเหลวในการควบคุมจังหวะขาขึ้นของตลาด เกิดจากสาเหตุสำคัญคือนักลงทุนที่เข้าตลาดหุ้นในปีนี้ ส่วนหนึ่งเป็นนักเก็งกำไรในตลาดอสังหาริมทรัพย์จีนมาก่อน ทำให้นิสัยการลงทุนค่อนข้างหวือหวา
ระยะแรกของมาตรการคุมหุ้นร้อน มีแรงเทขายที่ออกมาดูไม่น่ากังวล เพราะเข้าข่ายทำให้ตลาดลดความร้อนแรงลง เป็นการพักฐาน (RETRACEMENT) ซึ่งหมายถึง การเปลี่ยนทิศจากขาขึ้นของราคาหุ้น เป็นขาลงชั่วขณะหนึ่ง ระยะสั้นๆ หลังเข้าเขตซื้อมากเกินไป
ปลายเดือนมิถุนายน ดัชนีเริ่มถูกแรงเทขายทิ้งดิ่งอย่างรุนแรงจนเกินจะควบคุม กลายเป็นความผิดปกติ ที่เกินกว่าสัญญาณทางเทคนิค เพราะกลายเป็นการปรับฐาน (Correction)ที่หมายถึง การเปลี่ยนทิศของแนวโน้มของราคาหุ้นที่เกิดจากพื้นฐานของกิจการที่เปลี่ยนแปลงไป จากผลของเศรษฐกิจ หรือผลประกอบการอย่างมีนัยสำคัญ
สัญญาณอันตรายดังกล่าว ระบุว่า แนวโน้มตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้เข้าสู่ภาวะพังพาบ (crash) เนื่องจากเกิดการตระหนกขายของนักลงทุนรุนแรง โดยไม่มีเกิดแรงซื้อระลอกใหม่ตามมา ทำให้นับแต่ปลายเดือนมิถุนายนเป็นต้นมา หน่วยงานกำกับดูแลตลาดหุ้นจีน ได้ใช้ความพยายามออกมาตรการกระตุ้นตลาดหลายอย่าง จากเบาไปหนัก โดยผ่านมาตรการดังต่อไปนี้
– ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงครั้งที่ 4 ในรอบ 6 เดือน เพื่อกระตุ้นขวัญและกำลังใจของนักลงทุน
– ตั้งกองทุนพยุงหุ้น 1.2 แสนล้านหยวน โดยให้โบรกเกอร์ลงขันกันเอง กำหนดให้กองทุนฯ ห้ามขายหุ้นที่ซื้อมาหากดัชนีตลาดยังต่ำกว่าระดับ 4,500 จุด
– สั่งการให้โบรกเกอร์หยุดขายหุ้น IPO จำนวน 28 แห่ง ที่ค้างท่ออยู่ชั่วคราว เพื่อลดอุปทานของหลักทรัพย์ หลังจากช่วง 5 เดือนแรก มีหุ้นเข้าเทรดใหม่ มากถึง 120 ราย เฉลี่ยวันละ 1 ราย
– สั่งการให้สมาคมบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน และสมาชิก 200 แห่ง ที่บริหารกองทุน เข้าพยุงราคาหุ้นบลูชิพที่มีน้ำหนักถ่วงดัชนีมากเป็นพิเศษ
– สั่งปรับเกณฑ์เงินค้ำประกันการตลาดตราสารอนุพันธ์ โดยเพิ่มในส่วนการขายล่วงหน้า หรือทำชอร์ต หรือ CSI500 Index futures มากขึ้น
– สั่งการให้รัฐวิสาหกิจที่ถือหุ้นในบริษัทจดทะเบียน ไม่ให้ขายหุ้นในบริษัทจดทะเบียนที่ถืออยู่
– สั่งการให้หุ้น 1,331 บริษัท หรือ 53% ของตลาดขอขึ้น HALT หยุดการซื้อขายชั่วคราว เพื่อลดเงินหมุนเวียนซื้อขายประจำวันลง 33% ต่อวันจากระดับปกติ
– ห้ามผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทจดทะเบียนขายหุ้นออกจากมือ 6 เดือน
มาตรการทั้งหมด นอกจากจะไม่ได้ผล ช่วยให้ตลาดปรับตัวขึ้นช่วงสั้นๆ เท่านั้น ในบางกรณียังสร้างปัญหาตามมา เช่น การพักการซื้อขายหุ้น 1,331 รายการ เกิดผลลุกลามไปยังตลาดหุ้นฮ่องกง ที่เมื่อวานนี้ดัชนีฮั่งเส็งร่วงเกือบ 2,000 จุด เกือบจะต้องทำเซอร์กิต เบรกเกอร์เสียแล้ว แถมยังส่งผลจิตวิทยาไปตลาดเอเชียอื่น รวมทั้งไทย
ล่าสุดความพยายามยังไม่หยุดยั้ง ธนาคารกลางจีนเตรียมอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ตลาดอีก ผ่าน China Securities Finance Corp เพื่อเข้าซื้อหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่มีปัจจัยพื้นฐานแกร่งเพิ่มเติม
ความพยายามใช้มือที่มองเห็นของทางการจีน ทำให้เกิดคำนิยามใหม่ เรียกว่า ความเสี่ยงจากการแทรกแซง (Intervention Risk) ซึ่งหมายถึง กลไกแทรกแซงที่ทำให้ตลาดเกิดความตื่นตระหนกจนกลายเป็นปัจจัยเสี่ยง และได้ผลลัพธ์ตรงกันข้าม
ขาลงที่รุนแรงของตลาดเซี่ยงไฮ้ แม้จะเริ่มมีมุมมองเชิงบวกจาก Morgan Stanley เจ้าของดัชนี MSCI China ที่ระบุว่า ตลาดเริ่มเข้าสู่จุดที่น่าสนใจเข้าลงทุน อิง PBV ปัจจุบันลดลงเหลือแค่ 1.8 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี แต่ก็ยังไม่มีสัญญาณซื้อชัดเจน ท่ามกลางความกังวลว่า ฟองสบู่ตลาดหุ้นจีนแตกรอบ 2 นี้ อาจยาวนานเกินคาด