พาราสาวะถี
ออกมาตอบโต้ทันควันสำหรับ วิษณุ เครืองาม กับข้อกล่าวหาของ ปิยบุตร แสงกนกกุล ที่ว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีสถานะเป็น “นายกฯ ตุหรัดตุเหร่” ด้วยเหตุที่ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว จะไปนั่งทำงานในฐานะนายกฯ จากคสช.ไม่ได้ โดยเนติบริกรประจำคณะเผด็จการยืนยันความมีอำนาจเต็มของรัฐบาลคสช.จะพ้นไปต่อเมื่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณตนแล้วเท่านั้น
อรชุน
ออกมาตอบโต้ทันควันสำหรับ วิษณุ เครืองาม กับข้อกล่าวหาของ ปิยบุตร แสงกนกกุล ที่ว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีสถานะเป็น “นายกฯ ตุหรัดตุเหร่” ด้วยเหตุที่ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว จะไปนั่งทำงานในฐานะนายกฯ จากคสช.ไม่ได้ โดยเนติบริกรประจำคณะเผด็จการยืนยันความมีอำนาจเต็มของรัฐบาลคสช.จะพ้นไปต่อเมื่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณตนแล้วเท่านั้น
พร้อม ๆ กับการกางตำราข้อกฎหมายอธิบายเป็นฉาก ๆ คงต้องว่ากันไปตามนั้น มุมมองใด ๆ ในข้อกฎหมายอย่าได้นำมาใช้กับองคาพยพของเผด็จการคณะนี้ ผลจากคณะกรรมการสรรหาส.ว.ที่เนติบริกรสีข้างถลอก เป็นตัวบ่งชี้ได้ชัดเจนว่า หลักการที่ถูกต้องนั้นอย่าได้นำมาเอ่ยอ้าง มันอยู่ที่หลักกูที่ใช้แอบอ้างเป็นสิ่งที่ถูกต้องพร้อม ๆ กับการตรวจสอบไม่ได้ หรือใครไปยื่นให้ตรวจสอบผลที่ออกมาก็สามารถเดากันได้ล่วงหน้า เพราะอะไรไม่ต้องให้บอก
ประเด็นที่มาของส.ว.วันนี้ก็มีการขยับจากทางฝั่ง 7 พรรคร่วมฝ่ายค้านที่ยื่นญัตติด่วนให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาในเรื่องดังกล่าว โดยเรียกร้อง ชวน หลีกภัย ให้รีบบรรจุเป็นวาระพิจารณาโดยเร็ว ขณะที่ พรเพชร วิชิตชลชัย รีบตีกัน สิ่งที่จะดำเนินการกันต้องยึดตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด อันหมายความว่า ส.ส.ก็สามารถตรวจสอบส.ส. และส.ว.ก็จะตรวจสอบส.ว. ไม่สามารถตรวจสอบข้ามสายได้
ประมาณว่าอย่าได้ล้ำเส้นกันเป็นอันขาด ก่อนที่จะออกตัว แต่ก็มีกระบวนการรัฐสภาที่สามารถตรวจสอบข้ามสายได้คือ การยื่นญัตติผ่านประธานรัฐสภาเพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ประเด็นความสงสัยคุณสมบัติของส.ว.ขัดกฎหมายหรือไม่ ตามมาด้วยการตีกันอีกอย่านำเรื่องดังกล่าวไปโยงกับเรื่องการโหวตนายกรัฐมนตรีให้เกิดปัญหา ทั้ง ๆ ที่เป้าหมายของการตรวจสอบความถูกต้องและโปร่งใสทั้งหมดนั้น ก็เพื่อที่จะทำให้กระบวนการอันเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของส.ว.ทั้งหมดเป็นไปโดยสุจริต
พอจะเข้าใจได้ในฐานะคนที่มีส่วนได้เสีย ย่อมรู้ดีว่ากระบวนการที่เกิดขึ้นจนได้มาซึ่งส.ว.ทั้ง 250 เสียงนั้น มันดำเนินการกันอย่างไร สิ่งที่ต้องยอมรับความเป็นจริงก็คือ สภาที่ผ่านการเลือกตั้งไม่ใช่สภาตรายางอย่างสนช.ที่พรเพชรเคยกุมบังเหียน เพราะสภาดังว่านอกจากจะไม่อภิปรายทักท้วงผู้มีอำนาจฝ่ายบริหารแล้ว ยังยกยอปอปั้นกันอีกต่างหาก ดังนั้น การตรวจสอบที่ส.ส.จะดำเนินการจึงเป็นเรื่องของอำนาจที่มีอยู่ตามกฎหมาย หาใช่การตั้งป้อมเอาผิดหรือเล่นงานใครอย่างที่ลิ่วล้อเผด็จการหวั่นเกรงไม่
ในเมื่อยืนยันความบริสุทธิ์และตอกย้ำเรื่องธรรมาภิบาลในการดำเนินการทุกเรื่อง เหตุใดจึงต้องออกอาการเช่นนี้ ความจริงจะว่าไปก็ไม่เห็นมีอะไรต้องหวั่นเกรง ก็รู้กันอยู่ปลายทางของทุกเรื่องที่ฝ่ายตัวแทนประชาชนจะไปดำเนินการนั้น คนส่วนใหญ่ต่างรู้ดีกันว่ามันจะจบอย่างไร เอาแค่กรณีของการถือหุ้นสื่อ 41 ส.ส.ที่พรรคอนาคตใหม่ส่งให้ประธานสภาฯยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขณะนี้ผ่านไปครบ 7 วันนับแต่รับเรื่องถามว่าความคืบหน้าเป็นอย่างไร
เหตุที่อ้างเงื่อนเวลา 7 วันเพราะมันเป็นระยะเวลาเดียวกันกับที่ใช้พิจารณากรณีของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ในเมื่อต้นเรื่องและพฤติกรรม ข้อกล่าวหาไม่ได้มีอะไรผิดแผกแตกต่างกัน มันจึงไม่มีเหตุผลใดที่จะใช้ระยะเวลาเนิ่นนานกว่ากรณีที่เคยได้วินิจฉัยไปแล้ว อ้อ! อาจมีเหตุที่ใช้อธิบายได้คือจำนวนผู้ถูกร้องนั้นมีมากกว่าคือตั้ง 41 คนไม่ใช่คนเดียว จึงต้องใช้เวลาในการตรวจสอบ ตรงนี้อาจมีน้ำหนักที่ทำให้คนเชื่อถือได้บ้าง
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกรณีหุ้นสื่อมันมีบรรทัดฐานวางไว้อยู่แล้ว จึงไม่แปลกที่จะทำให้ฝ่ายถูกร้องอย่างพปชร.จะออกอาการดิ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยล่าสุดพรรคสืบทอดอำนาจมีการเรียกร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญว่าจะต้องวางมาตรฐานว่าระหว่างวัตถุประสงค์ที่ระบุในเอกสารราชการ กับสิ่งที่ไม่ได้ประกอบกิจการจริง อะไรฟังได้ไม่ได้ สะท้อนภาพความหวั่นไหวต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี
ไม่เพียงเท่านั้น สัปดาห์หน้ายังจะมีการยื่นคำร้องพร้อมเหตุผลเพื่อขอคุ้มครองชั่วครองไม่ให้สั่งระงับการปฏิบัติหน้าที่ของ 27 ส.ส.ของพรรคสืบทอดอำนาจด้วย เพราะถ้าหากศาลสั่งให้หยุดการปฏิบัติหน้าที่สิ่งที่จะตามมาคือ ผลกระทบกับการทำงาน ที่ไม่ใช่แค่การปฏิบัติหน้าที่ส.ส.เท่านั้น แต่ยังกระทบต่อการบริหารงานของรัฐบาลที่พรรคตัวเองเป็นแกนนำด้วย เนื่องจากรัฐบาลยังไม่มีการแถลงนโยบายต่อที่ประชุมรัฐสภา ถ้าหากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองย่อมสั่นคลอนเป็นธรรมดา
ประเด็นนี้น่าจะเป็นอย่างที่ สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกกต.โพสต์เฟซบุ๊กไปเมื่อสองวันก่อนว่า “หุ้นสื่อมรณะ” โดยยืนยันถึงสิทธิในการเข้าชื่อยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูวินิจฉัยของพรรคอนาคตใหม่ ก่อนที่จะชี้ถึงผลปลายทางในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาว่า ในวรรคสองของมาตรา 82 ในรัฐธรรมนูญ ระบุชัด หากปรากฏเหตุอันควรสงสัย ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้สมาชิกผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย
แปลความว่า แค่ประธานรัฐสภาส่งเรื่อง แล้วเมื่อใดศาลรับคำร้อง หมายความถึง ต้องมีเหตุที่ปรากฏควรสงสัย ไม่สงสัยจะไปรับคำร้องหาอะไร ศาลต้องสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราว ไม่มีสิทธิมาบอกว่ารับคำร้องแล้วให้ทำหน้าที่ต่อ รัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัด ดิ้นไม่ได้ คงต้องรอดูว่าอาการดิ้นที่เกิดขึ้นกับปลายทางที่จะตามมาบทสรุปจะเป็นอย่างไร
ด้านโผครม.ประยุทธ์ 2/1 ถึงตรงนี้ทุกอย่างนิ่งสนิทแล้ว พรรคร่วมไร้ปัญหาเพราะยืนยันโควตาตามผลเจรจาและรายชื่อตามที่แต่ละพรรคได้เคาะ ขณะที่ปัญหาภายในพรรคแกนนำแรงกระเพื่อมที่เกิดขึ้นศึกในที่ปะทุเป็นการสงบเพียงชั่วคราว หากข้อตกลงที่คุยกันไว้ไม่เป็นไปตามที่รับปาก การก่อหวอดทวงถามสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา รอดูกันว่าผู้นำที่ไม่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแล้วจะสู้รบปรบมือกับนักการเมืองที่ตัวเองเคยปรามาสว่าชั่วว่าเลวได้หรือไม่