บาทแข็งและกองทุน

ปฏิกิริยาเข่ากระตุกทันทีหลังค่าดอลลาร์อ่อนยวบเพราะธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเมื่อวันพุธพร้อมกับส่งสัญญาณการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในปีนี้ท่ามกลางความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจอยู่ที่ค่าเงินบาทวานนี้แข็งค่าสุดในรอบ 4 เดือนแล้วโอกาสจะแข็งค่าต่อไปใต้ 31.00 บาทยังเป็นไปได้อีก


พลวัตปี 2019 : วิษณุ โชลิตกุล

ปฏิกิริยาเข่ากระตุกทันทีหลังค่าดอลลาร์อ่อนยวบเพราะธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเมื่อวันพุธพร้อมกับส่งสัญญาณการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในปีนี้ท่ามกลางความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจอยู่ที่ค่าเงินบาทวานนี้แข็งค่าสุดในรอบ 4 เดือนแล้วโอกาสจะแข็งค่าต่อไปใต้ 31.00 บาทยังเป็นไปได้อีก

นักค้าเงินของธนาคารใหญ่ไทยระบุว่าเช้าวานนี้เงินบาทปรับตัวแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐสอดคล้องกับทิศทางของค่าเงินสกุลอื่น ๆ ในภูมิภาคหลังจากที่ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในเร็ว ๆ นี้เพราะมีความกังวลต่อเศรษฐกิจสหรัฐที่กำลังชะลอตัวในขณะที่ผลการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ(FOMC) รอบนี้ยังคงดอกเบี้ยไว้ในระดับเดิมไปก่อน

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 107.97 เยนจากระดับ 108.44 เยนและอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิสที่ระดับ 0.9922 ฟรังก์จากระดับ 1.0000 ฟรังก์ นอกจากนี้ดอลลาร์สหรัฐยังอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดาที่ระดับ 1.3292 ดอลลาร์แคนาดาจากระดับ 1.3382 ดอลลาร์แคนาดาหลังจากที่ประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติ 9-1 เสียงในการคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 2.25-2.50% นอกจากนี้เฟดยังได้ส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ท่ามกลางความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจและการคาดการณ์เงินเฟ้อที่ลดลง

เฟดได้คงตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ระดับ 2.1% ในปีนี้และปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์ในปีหน้าสู่ระดับ 2.0% จากเดิมที่ 1.9% ขณะที่คงตัวเลขคาดการณ์อัตราการขยายตัวในปี 2564 ที่ระดับ 1.8% และคงตัวเลขอัตราการขยายตัวในระยะยาวที่ระดับ 1.9%

ขณะเดียวกันเฟดได้ปรับลดตัวเลขอัตราการว่างงานในปีนี้สู่ระดับ 3.6% จากเดิม 3.7% ส่วนตัวเลขในปี 2563 และ2564 ได้ปรับลดลงสู่ระดับ 3.7% และ 3.8% ตามลำดับ จากเดิมที่ระดับ 3.8% และ 3.9% ขณะที่ปรับลดตัวเลขว่างงานในระยะยาวสู่ระดับ 4.2% จากเดิมที่ 4.3%

นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัวพร้อมกับส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในเร็ว ๆ นี้พร้อมกับเปรยว่าเครื่องมือที่เฟดเคยใช้ในช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์ซึ่งได้แก่การกำหนดให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ใกล้ 0% และการเข้าซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) มีแนวโน้มที่จะถูกนำมาใช้อีกครั้งหนึ่ง

ท่าทีของเฟดเกิดขึ้นท่ามกลางแรงกดดันทางการเมืองเพราะมีรายงานข่าวโดยอ้างแหล่งข่าวในทำเนียบขาวว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้เปิดเผยกับบรรดาคนสนิทเชื่อว่าตนเองมีอำนาจที่จะสรรหาบุคคลใหม่มาดำรงตำแหน่งแทน

นักลงทุนตั้งข้อสังเกตว่าในแถลงการณ์การประชุมครั้งล่าสุดนี้เฟดระบุว่าจะดำเนินการตามความเหมาะสมเพื่อรักษาการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้ดำเนินต่อไปซึ่งเฟดได้ตัดคำว่า เฟดจะใช้ความอดทนก่อนที่จะมีการตัดสินใจปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ย ตามที่เคยปรากฏในแถลงการณ์ฉบับก่อนหน้านี้ซึ่งอาจเป็นการส่งสัญญาณว่าเฟดมีความพร้อมที่จะผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมหากจำเป็น

หุ้นกลุ่มธนาคารในสหรัฐฯ ซึ่งต้องพึ่งพากำไรจากดอกเบี้ยนั้นปรับตัวลงหลังจากเฟดส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้

ผลการประชุมเฟดแสดงออกถึงชัยชนะของสายพิราบในเฟด (ที่สอดรับกับท่าทีของ ECB) สังเกตได้ชัดเจนอย่างมากผสมกับข้อมูลทางเศรษฐกิจทั้งที่เป็นปฐมภูมิและทุติยภูมิทำให้นัก อ่านริมฝีปากเฟด และนักลงทุนสถาบันในนิวยอร์กตีความว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจกระตุ้นเงินเฟ้อและเพื่อรับมือกับความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะเผชิญภาวะขาลงอันเนื่องมาจากสงครามการค้าที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น

ค่าดอลลาร์ที่อ่อนยวบสะท้อนถึงการไหลของฟันด์โฟลว์ที่ย้ายไปหาที่หลบภัยในเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและธนาคารกลางมีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศในระดับสูงซึ่งกินความรวมถึงตลาดทุนไทยด้วย

ตลาดเก็งกำไรกลับมาคึกคักส่งผลต่อตลาดหุ้นและตลาดทุนไทยเชิงบวกเพราะบรรดาทุนเก็งกำไรต่างชาติต่างรู้ทัน “จุดอ่อน” อำนาจรัฐไทยได้ดีว่ากระทรวงการคลังไม่มีอำนาจควบคุมนโยบายการเงินที่อยู่ในกำมือเทคโนแครตอย่างผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และธปท.ก็มีขีดจำกัดในการแทรกแซงค่าบาทเสมือนถูกผูกมัดมือชกทำให้บรรดาผู้จัดการกองทุนเก็งกำไรข้ามชาติหรือฟันด์โฟลว์ สบช่องพากันเร่งซื้อเงินบาทเพื่อนำมาถือหลักทรัพย์ที่กล่าวมาจนล่าสุดค่าบาทแข็งสุดในรอบ 2 เดือนและล่าสุดต่ำกว่า 31.30 บาทต่อดอลลาร์ด้วย

การไหลเข้าของฟันด์โฟลว์ทำให้กองทุนและนักลงทุนสถาบันในประเทศฉกฉวยโอกาสร่วมเข้าซื้อดันราคาหุ้นและดัชนี SET จนสามารถทะลุทะลวงข้ามเส้นสัญญาณทางเทคนิคสำคัญยืนเหนือ 1,700 ไม่ยากเย็นนักในเดือนมิถุนายนนี้อีกครั้ง

ตัวเลขแรงซื้อสุทธิของกองทุนในประเทศเมื่อวันพุธที่ผ่านมา 9.348 พันล้านบาทในวันเดียวสะท้อนว่าโอกาสของภาวะกระทิงเปลี่ยวครอบงำขาขึ้นของตลาดหุ้นไทยไม่น่าจะกินเวลาสั้นมากเกินไป

ยิ่งหากสามารถดันดัชนี SET ทะลวงแนวต้านไปที่ 1,750 จุดได้แล้วพักหรือปรับฐานก่อนจะไซด์เวย์ก็ถือว่าจบรอบที่เกินคุ้มแล้ว

อิทธิพลของฟันด์โฟลว์ต่อค่าเงินบาทและสัญญาณจากกองทุนในประเทศเป็นประสบการณ์ที่นักลงทุนต้องทำความเข้าใจและคุ้นเคยในช่วงตลาดขาขึ้น

Back to top button