พาราสาวะถี
เอ๊ะ!ยังไงกันแน่ เกมเก้าอี้ดนตรีของเสนาบดีรัฐบาลประยุทธ์ 2/1 พรรคร่วมรัฐบาลทั้งประชาธิปัตย์และภูมิใจไทยยืนยันตรงกัน ไม่มีสัญญาณ ไม่มีการตีกลับรายชื่อรัฐมนตรีของพรรคที่เสนอไป แต่ล่าสุด พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แถลงหลังประชุมครม. มีบางส่วนจะหลุดโผจากที่ปรากฎเป็นข่าว ผนวกเข้ากับเงื่อนเวลาจากสิ้นเดือนนี้ที่หัวหน้ารัฐบาลสืบทอดอำนาจเพิ่งบอกกับผู้นำอาเซียนหมาด ๆ ขยับไปเป็นกลางเดือนหน้าจะมีรัฐบาลชุดใหม่เรียบร้อย หมายความว่าต้องมีการเคาะกันอีกกระทอก
อรชุน
เอ๊ะ!ยังไงกันแน่ เกมเก้าอี้ดนตรีของเสนาบดีรัฐบาลประยุทธ์ 2/1 พรรคร่วมรัฐบาลทั้งประชาธิปัตย์และภูมิใจไทยยืนยันตรงกัน ไม่มีสัญญาณ ไม่มีการตีกลับรายชื่อรัฐมนตรีของพรรคที่เสนอไป แต่ล่าสุด พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แถลงหลังประชุมครม. มีบางส่วนจะหลุดโผจากที่ปรากฎเป็นข่าว ผนวกเข้ากับเงื่อนเวลาจากสิ้นเดือนนี้ที่หัวหน้ารัฐบาลสืบทอดอำนาจเพิ่งบอกกับผู้นำอาเซียนหมาด ๆ ขยับไปเป็นกลางเดือนหน้าจะมีรัฐบาลชุดใหม่เรียบร้อย หมายความว่าต้องมีการเคาะกันอีกกระทอก
สอดรับกับสิ่งที่ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์บอกยังไม่ได้รับเอกสารให้กรอกยืนยันคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีตามที่ วิษณุ เครืองาม ให้ข่าวว่าเริ่มแจกตั้งแต่เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา งานนี้ไม่ใช่เรื่องปกติแน่นอน การชักช้าดึงเกมไม่ได้เป็นเรื่องของโฉมหน้าครม.สืบทอดอำนาจที่จะต้องใสปิ๊งไร้ที่ติ หากแต่ติดขัดทั้งเรื่องคุณสมบัติส่วนบุคคลของบางราย และความไม่ลงตัวของเก้าอี้ทั้งในส่วนของพรรคสืบทอดอำนาจและที่ไปตกปากรับคำกับพรรค 3 เสียงอย่างชาติพัฒนา
อย่างที่บอกไปการเบี้ยวเพื่อนในวินาทีสุดท้ายทั้งที่ผู้ใหญ่ตกปากรับคำกันแล้ว หมายถึง เก้าอี้ที่ไม่ลงตัวภายในพรรคแกนนำเอง จึงต้องยอมหักดิบโดยหวังว่าจะส่งผู้ใหญ่คนเดิมนั่นแหละไปเจรจาไกล่เกลี่ยกับชาติพัฒนา โดยมีเงื่อนไขว่าจะรับปัจจัยที่ต้องสมน้ำสมเนื้อกับเก้าอี้รัฐมนตรีหรือยังยืนยันที่จะได้ตำแหน่งเหมือนเดิม คงต้องวัดใจ สุวัจน์ ลิปตพัลลภ จะผลักดันน้องชายให้ถึงฝั่งฝันหรือยอมตามคำขอ โดยมีข้อแม้สิ่งที่เสียไปจะต้องได้รับการชดเชยอย่างเต็มที่
ภาพตั้งต้นของรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำถือว่าไม่น่าจดจำแม้แต่น้อย เมื่อเป็นเช่นนี้ย่อมเห็นรูปรอยของสถานการณ์ที่รออยู่เบื้องหน้า ไหนจะมีพรรคเล็กพรรคน้อยที่น่าจะคอยตอแยงอแงอยู่ตลอดอายุของรัฐบาลนี้ แน่นอนว่า สิ่งที่น่าติดตามคือหลังเข้าสู่ภาคปฏิบัติ การขับเคลื่อนนโยบายจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันได้ขนาดไหน ภายใต้ข้อกำกับของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี อย่าลืมว่านักการเมืองไทยไม่มีวันที่จะยอมอยู่ภายใต้กรอบที่ขีดให้เดินเป็นอันขาด
ยิ่งเป็นพวกที่ก้าวไปมีบทบาทในฝ่ายบริหาร ทุกอย่างจะต้องถูกแปรสภาพให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อตัวเองและพรรคต้นสังกัด โดยมีประชาชนเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนเพื่อไปสู่เป้าหมายเหล่านั้น ขณะที่ผู้นำสืบทอดอำนาจยังคงแบกภาพของความสุจริต โปร่งใสไว้บนบ่า ในภาวะที่ไร้กฎหมายพิเศษและมาตราวิเศษ น่าสนใจเป็นอย่างมากว่า จะบริหารจัดการสิ่งที่ต้องเผชิญนั้นอย่างไร หรือเชื่อมั่นว่าตัวช่วยที่ไม่ได้อยู่ในวงการเมืองของระบอบพรรคการเมืองจะเข้ามาดูแลได้
ถ้าพิจารณาจากกลไกที่วางไว้ก็พอคิดเช่นนั้นได้ แต่ภายใต้สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง ดูปัจจัยอื่นที่ไม่มีใครคาดเดาได้ว่าจะเป็นตัวเร่งเร้าให้เกิดการพลิกผันใดได้หรือไม่ ตัวอย่างเช่น ความไม่ชอบมาพากลในการบังคับใช้กฎหมายหรืออาจเรียกได้ว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ กรณีของ “แรมโบ้อีสาน” สุภรณ์ อัตถาวงศ์ ที่หลุดคดีบุกล้มประชุมอาเซียนที่พัทยาเมื่อปี 2552 ด้วยเหตุผลคดีหมดอายุความ นำตัวผู้ต้องหามาฟ้องต่อศาลไม่ทัน ขณะที่แกนนำนปช.รายอื่น ๆ ถูกนำตัวสั่งฟ้องศาลได้ครบ ไม่ว่าจะเป็น วีระกานต์ มุสิกพงศ์ จตุพร พรหมพันธุ์ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เหวง โตจิราการ และ อดิศร เพียงเกษ
ฟังคำแก้ตัวจากอัยการที่อ้างว่า ผู้ต้องมีการเลื่อนคดีหลายครั้ง แต่ทั้งหมดก็ถูกนำตัวสั่งฟ้องโดยที่ทุกคนก็เดินทางไปรายงานตัวตามนัดหมาย แล้วทำไมแรมโบ้อีสานถึงมีข้อยกเว้น ไม่นับรวมผู้ต้องหาอีกรายคือ จักรภพ เพ็ญแข ที่หนีคดีอยู่ในประเทศ การบอกว่าก่อนคดีหมดอายุความคือ 11 เมษายนที่ผ่านมา อัยการได้ส่งหนังสือให้ตำรวจในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องติดตามจับกุมตัวสุภรณ์มาดำเนินคดีแล้วนั้น มีน้ำหนักมากพอหรือไม่ คำถามที่ตามมาคือ แล้วมีใครไหมที่เข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
ถูกต้องที่ว่าอัยการไม่มีหน้าที่ไปตามจับกุมผู้ต้องหามาดำเนินคดี แต่คำถามก็คือ แล้วตำรวจจะปฏิเสธเรื่องนี้อย่างไร ในเมื่อสุภรณ์ก็แสดงออกอย่างชัดเจนว่าลงสมัครส.ส.และช่วยหาเสียงกับพรรคพลังประชารัฐ อันเป็นพรรคที่ท่านผู้นำสืบทอดอำนาจกำลังจะเข้าไปเป็นหัวหน้าพรรค เมื่อรู้อยู่ว่าคดีจะหมดอายุความและต้องตามจับผู้ต้องหามาสั่งฟ้อง ไม่มีใครเร่งรัด ไม่มีใครกระตือรือร้นที่จะดำเนินการ ทั้งๆ ที่ผู้ต้องหาก็ปรากฎตัวต่อสาธารณะอย่างโจ่งแจ้งอย่างนั้นหรือ
หากกรณีนี้ผ่านพ้นไปโดยไม่มีใครต้องรับผิดชอบอะไร ก็จะเป็นการยืนยันว่ากระบวนการยุติธรรมตั้งต้นของเรามีปัญหาแล้ว และแน่นอนว่าจะต้องย้อนถามกลับไปยังผู้นำเผด็จการที่แปรสภาพมาเป็นผู้นำที่อ้างตัวว่ามาจากการเลือกตั้ง นี่คือการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ที่เคยใช้เป็นเหตุผลในการยึดอำนาจว่าจะต้องเท่าเทียม ไม่มีสองมาตรฐานแล้วอย่างนั้นหรือ อย่าปล่อยให้ความอยากมีอำนาจต่อ ต้องมาทำลายล้างความยุติธรรมที่จะเป็นเสาหลักค้ำยันการอยู่ร่วมกันของคนส่วนใหญ่เลย
มองมุมไหน มันไม่มีทางเป็นไปได้ที่คนซึ่งต้องคดีแล้วไม่ได้หลบหนี มิหนำซ้ำ ยังแสดงบทบาทนำอย่างโจ่งแจ้งภายใต้พรรคการเมืองที่กำลังเป็นแกนนำตั้งรัฐบาล ถ้าเลือกที่จะเดินกันแบบนี้ ความขัดแย้ง แตกแยกมันก็ไม่มีทางที่จะหมดไป นี่ยังมีเรื่องของคดีการถือครองหุ้นสื่อซึ่งกำลังรอการพิจารณาอยู่ จะเป็นบทพิสูจน์อีกชั้นหนึ่งของการบังคับใช้กฎหมายอย่างชัดเจนและมีความยุติธรรม
อย่างที่ ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ออกมาเตือนว่า การพิจารณาในระบบกระบวนการยุติธรรมจะต้องมีความชัดเจนและต้องอธิบายได้ คนที่มีหน้าที่พิจารณาจะต้องสร้างความกระจ่างชัดเจนต่อสังคม ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นเงื่อนที่ทำให้การเมืองไทยติดหล่มความขัดแย้งอีกครั้ง
ขณะเดียวกัน กระบวนการออกแบบโครงสร้างทางด้านการเมืองในรัฐธรรมนูญที่เห็นได้ชัดว่าเป็นการวางไว้เพื่อผู้นำเผด็จการและองคาพยพแห่งการสืบทอดอำนาจ เมื่อมาถึงตรงนี้กลับพบว่าบางทีอาจไม่ใช่กลไกที่รองรับการอยู่ในตำแหน่งของผู้นำเผด็จการเสมอไป ดังจะเห็นได้จากปัจจุบัน ที่หลายครั้งก็สร้างปัญหาให้กับรัฐบาลหรือผู้ควบคุมอำนาจเอง นี่ไงที่เตือนกันมาตลอดระวังติดหล่มกับดักที่วางไว้เสียเอง