หมดลุ้นดอกเบี้ย

ล่าสุด ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ไม่ส่งสัญญาณลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย


ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร

ล่าสุด ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ไม่ส่งสัญญาณลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

ประเด็นนี้สร้างความผิดหวังให้กับนักลงทุน

เพราะเดิมนั้น ต่างคาดกันว่า เฟดน่าจะบอกแบบมีนัยว่า อาจจะลดดอกเบี้ยนโยบายลงมาสำหรับการประชุมของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินในเดือนกรกฎาคมนี้

แต่ประธานเฟดไม่กล่าวเรื่องนี้เลย

ทว่า บรรดานักวิเคราะห์ยังคาด หรือประเมินต่อว่า ยังไงปี 2562 นี้ เฟดต้องลดดอกเบี้ยลงมาแน่ ๆ

และอย่างน้อยก็ต้อง 1 ครั้งล่ะ

การไม่ส่งสัญญาณของประธานเฟด ทำให้หุ้นยุโรป และเอเชีย ต่างปิดตลาดแดนลบถ้วนหน้า

ส่วนของไทยเองปิดบวกได้เล็กน้อย สวนทางกับเอเชียอีกแล้ว

จริง ๆ แล้วเมื่อวานนี้ที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) คงดอกเบี้ยที่ระดับ 1.75% ต่อปี เป็นเรื่องที่คาดหมายกันไว้แล้ว

แต่หากลดดอกเบี้ยนี่สิถือว่าซูเปอร์เซอร์ไพรส์

ดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ระดับต่ำมานานมากที่ 1.50%(นับจาก 28 เมษายน 2558) และเพิ่งจะมาปรับขึ้น 0.25% เมื่อเดือนธันวาคม 2561 หรือปลายปีที่แล้วนี่เอง

จะว่าไปแล้วดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.75% ไม่ได้ถือว่าสูงเกินไป

และในมุมมองของแบงก์ชาติอาจจะมองว่าต่ำเกินไปด้วยซ้ำ

แบงก์ชาติค่อนข้างเป็นห่วงเรื่อง “หนี้ครัวเรือน” พอสมควร จากนโยบายดอกเบี้ยที่อยู่ระดับต่ำมาเป็นเวลานาน

ในด้านผู้ประกอบการก็คงอยากให้ดอกเบี้ยอยู่ต่ำๆ  หรือปรับลงมาอีก เพราะจะทำให้ต้นทุนของพวกเขาถูกขึ้น และไม่เป็นภาระมากเกินไป ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ผันผวน และโซซัดโซเซ

มีประเด็นน่าสนใจเพิ่มเติมเกี่ยวกับมติของ กนง.เมื่อวานนี้ที่ออกมาเป็นเอกฉันท์

นั่นทำให้วิเคราะห์กันไปได้ว่า ในปี 2562 นี้ กนง.ไม่น่าจะลดอัตราดอกเบี้ยลงมาอย่างแน่นอน

นักลงทุน หรือผู้ประกอบการที่ต่างรอคอย ก็ทำใจกันไว้ซักหน่อย

ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารกรุงศรี ต่างออกบทรายงาน คาดการณ์ทันทีว่า กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายตลอดทั้งปีที่ระดับ 1.75%

มีการให้เหตุผลประกอบกันไว้ด้วย

1.นั่นคือ อัตราเงินเฟ้อยังเฉลี่ยยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำกว่าขอบล่างของเป้าหมายเงินเฟ้อ

2.เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลง โดยเฉพาะจากผลกระทบของสงครามการค้าที่ส่งผลต่อการส่งออกและการท่องเที่ยว

3.เงินบาที่แข็งค่ารวดเร็วและมากที่สุดในภูมิภาค 4. นโยบายการเงินของโลกผ่อนคลายมากขึ้นโดยเฉพาะเฟดที่ตลาดคาดว่าจะลดดอกเบี้ยนโยบาย 3 ครั้งในช่วง 12 เดือนข้างหน้า

และ 5. หนี้ครัวเรือนของไทยแม้ว่ายังคงอยู่ในระดับสูงที่ 78.6% ทำให้การปรับลดดอกเบี้ยอาจก่อให้เกิดปัญหาด้านคุณภาพของสินเชื่อต่อไปได้

แต่สิ่งที่น่ากังวลจากคงดอกเบี้ยไว้ 1.75%

ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเร็วมาก

ล่าสุดเมื่อช่วงเย็นวานนี้ เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 30.73 บาท/ดอลลาร์ จากตอนเช้าที่เปิดตลาด 30.83/85 บาท/ดอลลาร์ และระหว่างวันเคลื่อนไหวระหว่าง 30.70-30.87 บาท/ดอลลาร์

จากต้นปีมาจนถึงเมื่อวานนี้ ค่าเงินบาทแข็งค่าแล้ว 5 – 6%

แน่นอนว่ากระทบการ “การส่งออก” ที่เป็นเครื่องจักรสำคัญของเศรษฐกิจไทย

หุ้นที่เกี่ยวกับการส่งออก ราคาต่างปรับลงกันถ้วนหน้า

ต้องจับตาดูกันล่ะว่า ธปท.จะแก้ปัญหาอย่างเรื่องค่าบาทแข็ง ในขณะที่ยังคงดอกเบี้ยไว้ที่ 1.75%

ธปท.ยอมรับว่า เงินบาทที่แข็งค่าไม่ได้มาจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ และจะติดตามสถานการณ์เงินบาทและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด

ส่วนจะมีมาตรการใด ๆ เพื่อสกัดบาทแข็งหรือเปล่า

น่าจะเป็นประเด็นที่นักลงทุนในตลาดหุ้นกังวลมากสุด

และหวังว่าไม่น่าจะใช้ยาแรง เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้

ท่ามกลางแรงซื้อของนักลงทุนต่างชาติที่ยังเข้ามาในตลาดหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง

Back to top button