พาราสาวะถีอรชุน
วันนี้ พลตำรวจเอก สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จะทำการแถลงข่าวด้วยตัวเอง จากกรณีที่ทหารใช้อำนาจตามมาตรา 44 เข้าจับกุมหญิงวัย 45 ปีย่านปทุมธานี ด้วยข้อหาเป็นมือโพสต์ข้อความกล่าวหา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และภรรยา โอนเงินไปสิงคโปร์กว่าหมื่นล้านบาท แน่นอนว่า ข้อมูลเบื้องต้นหนีไม่พ้นมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มนปช.
วันนี้ พลตำรวจเอก สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จะทำการแถลงข่าวด้วยตัวเอง จากกรณีที่ทหารใช้อำนาจตามมาตรา 44 เข้าจับกุมหญิงวัย 45 ปีย่านปทุมธานี ด้วยข้อหาเป็นมือโพสต์ข้อความกล่าวหา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และภรรยา โอนเงินไปสิงคโปร์กว่าหมื่นล้านบาท แน่นอนว่า ข้อมูลเบื้องต้นหนีไม่พ้นมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มนปช.
คงต้องฟังถ้อยแถลงของผบ.ตร. แต่การที่บอกว่าเกี่ยวข้องกับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติหรือนปช.นั้น เกี่ยวกันในแง่มุมใด หากเป็นแค่แนวร่วมก็ไม่ควรที่จะเป็นข่าวใหญ่โต เพราะมันจะเป็นการบ่งบอกเจตนาชัด ต้องการดิสเครดิตกลุ่มที่ต่อต้านการรัฐประหาร โดยเฉพาะพลเอกประยุทธ์ ที่บอกว่าตัวผู้หญิงก็สารภาพแล้วมีส่วนร่วมกับนปช. ในฐานะผู้นำต้องระวังเรื่องคำพูดให้มาก
ต้องไม่ลืมว่า คนเสื้อแดงนั้นถือเป็นปฏิปักษ์กับเผด็จการทหารมาตั้งแต่ปี 2549 และตัวบิ๊กตู่เองก็ถือเป็นผู้มีส่วนในฐานะฝ่ายปฏิบัติจากกรณีการสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 วันนี้การสงบ ไม่เคลื่อนไหวใดๆ ของฝ่ายที่ได้ชื่อว่าต่อต้านการรัฐประหาร น่าจะถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีสำหรับผู้มีอำนาจ เพราะเท่ากับจะไม่มีคนกลุ่มใหญ่มาขัดขวางกระบวนการปฏิรูปและร่างรัฐธรรมนูญ
แต่กรณีใช้มาตรา 44 จับกุมหญิงต้องสงสัยดังกล่าว มีการตั้งข้อสังเกตมาจาก สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด แกนนำกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง ด้วยประเด็นที่น่าสนใจว่า เมื่อเรื่องดังกล่าวเป็นการหมิ่นประมาททำให้บุคคลเสียหาย เหตุใดจึงไม่ใช้ช่องทางกฎหมายปกติ แจ้งความดำเนินคดี การใช้คำสั่งคณะปฏิวัติที่ไร้ขีดจำกัดเช่นนี้มาดำเนินการจึงไม่น่าจะถูกต้อง
การอ้างว่าบิ๊กตู่เป็นผู้นำประเทศ การวิจารณ์หรือดูหมิ่นผู้นำประเทศเป็นภัยความมั่นคง อันนี้ก็แปลก เพราะอดีตที่ผ่านมาก็มีคนมากมายที่วิจารณ์หรือใส่ร้ายผู้นำประเทศ แต่ทั้งหมดก็เลือกที่จะใช้การปกป้องตัวเองด้วยกฎหมายหมิ่นประมาทปกติ คำถามของบก.ลายจุดก็คือ ไม่เข้าใจว่ากรณีผู้หญิงคนดังกล่าวถูกทหารควบคุมอยู่นอกเหนือหลักการนี้ไปได้อย่างไร ความเป็นธรรมอยู่ที่ไหน เป็นปุจฉาที่น่าคิดอยู่เหมือนกัน
หันไปดูอีกพวกอย่างเครือข่ายปฏิรูปพลังงานไทย ที่บรรดาแกนนำนั้นต่างก็คุ้นชื่อคุ้นหน้ากันเป็นอย่างดี ล้วนแต่เป็นหัวหอกล้มรัฐบาลระบอบทักษิณมาตั้งแต่ยุค ทักษิณ ชินวัตร จนถึงยิ่งลักษณ์ การเคลื่อนไหวเรียกร้องในลักษณะนี้ จะอ้างเรื่องความหวังดีเป็นคุณกับประเทศชาติ แต่มีคำถามว่ากระทำการขัดคำสั่งคสช. มีการชุมนุมกันเกิน 5 คนหรือไม่
เมื่อผู้นำที่มีอำนาจสูงสุดอย่างบิ๊กตู่ได้ประกาศไว้แล้วว่า การบังคับใช้กฎหมายต้องไม่มีการเลือกปฏิบัติ ก็คงมีคำถามง่ายๆ ว่า แล้วการรวมตัวของกลุ่มดังว่ามีข้อยกเว้นอย่างไร ซึ่งได้มีการประกาศไว้ล่วงหน้าด้วยว่า จะมีการจัดเวทีเคลื่อนไหวกันอีกหลายยก โดยวิธีการก็ไม่ต่างจากกลุ่มนักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยที่ประกาศทำกิจกรรมอย่างเปิดเผย
เมื่อมองไปถึงการชุมนุมที่ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนใดๆ ถามว่าระหว่างม็อบที่แปลงร่างมาจากระบอบสนธิ-จำลองกับกปปส. และกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ต่างกันตรงไหน จะมีก็เพียงแค่ฝ่ายหนึ่งกระทำการไม่เป็นที่ถูกใจของผู้มีอำนาจก็เท่านั้น ในบริบทของการปฏิรูปที่อ้างมาโดยตลอดว่าเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า การเปิดพื้นที่รับฟังความเห็นต่างถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
เช่นเดียวกันวันนี้กับกระบวนการของศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปหรือศปป.ที่เชิญตัวฝ่ายการเมืองมาพูดคุยผ่านรายการทางโทรทัศน์นั้น ถามว่าเกิดประโยชน์ไหม ถ้าทุกอย่างดำเนินการด้วยความโปร่งใส ไร้วาระซ่อนเร้นก็ถือว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง แต่เท่าที่ฟัง พิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีพลังงานจากพรรคเพื่อไทยแล้วดูเหมือนว่ามันจะไม่ได้เป็นไปในลักษณะนั้น
โดยพิชัย ตั้งข้อสังเกตว่า รู้สึกผู้ดำเนินรายการมุ่งเน้นที่จะซักฟอกนโยบายของพรรคเพื่อไทยในอดีต มากกว่าการมุ่งหาแนวทางในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในอนาคต อย่างไรก็ตาม ยังมองโลกในแง่ดีว่า ยังมีความหวังที่จะเห็นการปฏิรูปในอนาคต สามารถหาทางออกให้กับประเทศได้อย่างแท้จริง และสดใสกว่าวันนี้
แต่ก็ไม่น่าแปลกใจเพราะฟังเสียงของบิ๊กตู่ต่อกรณีดังกล่าวแล้ว ก็พอจะเข้าใจเจตนาว่า ไม่ได้อยากฟังเพื่อนำไปสู่การแก้ไข แต่ต้องการให้ประชาชนตัดสินว่า นักการเมืองที่มาพูดนั้นมีเบื้องหลังอะไรแอบแฝงหรือไม่ คำพูดที่ว่า เขาพูดถูกหรือผิด ทำได้หรือไม่ได้ มีส่วนร่วมในความเสียหายหรือไม่ ถ้าออกมาพูดแล้วพูดแต่ปัญหาอย่างนี้อย่างนั้นแล้วไม่ได้ทำ อย่ามาพูดกับผม ผมไม่อยากฟัง
มันเป็นเรื่องยากสำหรับคนที่ตั้งธงไว้แล้ว เพราะเชื่อว่า ไม่ว่า อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะพูดดีอย่างไร ก็ยากที่ฝ่ายผู้มีอำนาจจะทำตาม เหตุผลคือผู้มีอำนาจถือว่าตัวเองเก่งกล้าสามารถ คิดดีทำดีอยู่คนเดียว ประโยคที่ว่าคิดสิ่งที่สร้างสรรค์เหมือนผม คงจะอธิบายความอะไรได้หลายๆ อย่าง สถานการณ์บ้านเมืองที่เป็นอยู่เป็นภาพอธิบายได้ชัดเจนว่าสร้างสรรค์แล้วดีหรือไม่
ไม่เพียงเท่านั้น ท่านผู้นำยังแสดงความเชื่อมั่นในศักยภาพที่ตัวเองมี ถึงขั้นประกาศจะลาออกจากนายกฯมาเป็นนักข่าว โดยเชื่อมันว่าจะเขียนได้สนุกและตีหนังสือพิมพ์ทุกฉบับให้ตกหมด คำถามมีอยู่ว่า การข่าวแบบทหารกับการข่าวแบบชาวบ้านประชาชนนั้น มันมองมุมเดียวกันหรือไม่ เพราะสื่อคือผู้นำเสนอให้คนเลือกเสพและตัดสินด้วยตัวเอง แต่ข่าวสารชวนเชื่อของฝ่ายความมั่นคงคือสื่อที่บังคับให้คนเสพและคล้อยตาม