อนาคตที่มัวหม่น พลวัต2015
ไม่ใช่เรื่องดีนักที่ต้องพูดถึงขีดจำกัดของขาขึ้นตลาดหุ้นไทย สำหรับสื่ออย่าง ข่าวหุ้นธุรกิจ แต่คำถามสำคัญคือ ตลาดหุ้นจะรุ่งเรืองได้อย่างไร หากว่าพื้นฐานของเศรษฐกิจไม่ดี เพราะว่า บริษัทจดทะเบียนในตลาดนั้น แม้จะถือเป็นหัวกะทิของบริษัทในประเทศ แต่ก็ไม่สามารถทำผลประกอบการที่ก้าวข้ามขีดจำกัดของเศรษฐกิจในระดับมหภาคได้ แม้ว่าจะมีบางบริษัททำได้ดีกว่าค่าเฉลี่ยทางเศรษฐกิจได้
ไม่ใช่เรื่องดีนักที่ต้องพูดถึงขีดจำกัดของขาขึ้นตลาดหุ้นไทย สำหรับสื่ออย่าง ข่าวหุ้นธุรกิจ แต่คำถามสำคัญคือ ตลาดหุ้นจะรุ่งเรืองได้อย่างไร หากว่าพื้นฐานของเศรษฐกิจไม่ดี เพราะว่า บริษัทจดทะเบียนในตลาดนั้น แม้จะถือเป็นหัวกะทิของบริษัทในประเทศ แต่ก็ไม่สามารถทำผลประกอบการที่ก้าวข้ามขีดจำกัดของเศรษฐกิจในระดับมหภาคได้ แม้ว่าจะมีบางบริษัททำได้ดีกว่าค่าเฉลี่ยทางเศรษฐกิจได้
เมื่อวานนี้ มีตัวแทน 3 องค์กร ออกมาพยากรณ์เศรษฐกิจไทยพร้อมกัน โดยไม่ได้นัดหมาย
รายแรก นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ออกมาระบุว่า สิ้นปีนี้ จีดีพีจะโตเพียง 2.75-3.25% แต่มั่นใจปีหน้าฟื้นตัว โดยชี้ว่าภาคเกษตรน่าห่วงสุด พร้อมกับแนะให้รัฐเร่งช่วยเหลือเยียวยา
ส่วน นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดการณ์อัตราการเติบโตจีดีพีไทยในปี 2558 ไว้ที่ 2.8%
สุดท้าย นายธนวรรธน์ พลวิชัย แห่งศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดความเสียหายจากภาวะภัยแล้งจะส่งผลกระทบต่อจีดีพีในปีนี้ให้ลดลง 0.52% จากเดิมที่ศูนย์พยากรณ์ฯ คาดการณ์ว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยจะโตได้ 3.2% นั้น ทำให้มีความเป็นไปได้มากขึ้นที่จะโตต่ำกว่า 3%
คำพยากรณ์ดังกล่าว ค่อนข้างใกล้เคียงกัน อาจจะเพราะข้อมูลชุดเดียวกัน หรือ วิธีการคำนวณคล้ายคลึงกัน ก็สุดแท้แต่จะประเมิน แต่สะท้อนว่า มุมมองต่ออนาคตเศรษฐกิจไทยนั้นค่อนข้างเลวร้าย
จีดีพี หรือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ ที่คาดว่าจะต่ำกว่า 3% แค่ 1 ปี แต่ถือเป็นปีที่ 5 ติดต่อกันแล้วเป็นเช่นนี้ แม้จะไม่ติดลบ ก็ถือว่าเลวร้าย 2 ด้านพร้อมกันคือ อย่างแรก จีดีพีที่ใกล้เคียงกับเงินเฟ้อ จะทำให้อัตราเติบโตของจีดีพีที่แท้จริง (real GDP) ติดลบหรือเท่ากับ 0% อย่างหลัง สะท้อนความมั่งคั่งของประเทศอยู่ในอัตราต่ำ เป็นผลเสียต่อการจ้างงานของคนหนุ่มสาวที่จะเป็นพลังแรงงานในอนาคต
แม้จะมีข้อสรุปใกล้เคียงกัน แต่คำอธิบายของแต่ละสำนักพยากรณ์ ก็มีความแตกต่างรายละเอียดที่น่าสนใจ
นักวิชาการทีดีอาร์ไอ บอกว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังอยู่ในช่วงอ่อนแรง แต่จะค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างช้าๆ ในปีหน้า เนื่องจากปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจเกือบทุกตัวมีปัญหา ทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ มีปัญหาที่เข้ามากระทบเครื่องจักรทางเศรษฐกิจแทบจะทุกตัว ทั้งปัจจัยการบริโภคภายในประเทศ การลงทุนของภาคเอกชน ข้อจำกัดด้านรายจ่ายภาครัฐ และภาคการส่งออก
ทางเลือกสำหรับการแก้อยู่ที่เพิ่มประสิทธิภาพการลงทุนภาครัฐช่วยค้ำยันเศรษฐกิจ สร้างความชัดเจน เร่งการเบิกจ่าย เยียวยารากหญ้า และเรียกความเชื่อมั่นให้นักลงทุน เพราะปัญหาเชิงโครงสร้างภายในที่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนหนีจากกิจกรรมการผลิตมูลค่าเพิ่มต่ำไปยังกิจกรรมการผลิตที่มีมูลค่าเพิ่มได้ดีเพียงพอ ถ่วงรั้งอยู่ แต่ที่สำคัญสุดและน่าจะเร่งด่วนที่สุดต้องทำคือ สิ่งที่ภาครัฐควรใช้มาตรการช่วยเหลือเยียวยาภาคเกษตรกำลังน่าเป็นห่วงที่สุดอย่างเร่งด่วน แต่ต้องเล็งให้ตรงเป้าไม่ใช่การเยียวยาแบบหว่านอย่างที่ผ่านๆ มา
ตัวแทนของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า แม้ไทยจะมีปัจจัยบวกมาจากยอดการผลิตในอุตสาหกรรมกลุ่มยานยนต์ ที่จะมีการเร่งการผลิตมากขึ้น และผลผลิตเกษตรกรน่าจะออกมามากขึ้นในช่วงไตรมาส 4/58 รวมถึงการเร่งรัดเบิกจ่ายงบลงทุนและโครงการลงทุนใหม่ของภาครัฐให้เร็วขึ้น ส่งผลต่อความเชื่อมั่นทั้งการผลิตและการลงทุนในภาคเอกชนที่จะตามมา อีกทั้งภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มขยายตัวถึง 16% จากเดิมที่คาดไว้ที่ 10% แต่ก็ยังมีปัจจัยลบจากมูลค่าการส่งออกที่น่าจะหดตัว -1.7% การบริโภคภาคเอกชนที่น่าจะติดลบ -1.7% จากภาคการเกษตรที่เผชิญภัยแล้ง และยังคงได้รับผลกระทบของภัยแล้ง และราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ส่วนเงินเฟ้อแม้จะอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนักตลอดช่วงครึ่งปีแรก แต่สัญญาณการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนก็ยังคงไม่ชัดเจน เนื่องจากสถานการณ์การจ้างงานและรายได้ยังไม่ฟื้นตัวกลับมาเป็นปกติ
ด้านศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย คาดความเสียหายจากภาวะภัยแล้งจะส่งผลกระทบต่อ จีดีพีในปีนี้ให้ลดลง โดยที่รอบการปลูกข้าวนาปรังและนาปีเกิดผลกระทบในภาพรวม 68,000 ล้านบาท โดยปัญหาภัยแล้งถือเป็นจุดเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทย เพราะพื้นที่ทางการเกษตร 25 จังหวัด โดยความเสียหายเฉลี่ยที่ 35% หรือราว 1 ใน 3 ของพื้นที่โดยรวม
ข้อเสนอในกรณีหากรัฐบาลจะเยียวยาให้เศรษฐกิจโดยรวมโตได้ในกรอบ 3.5% ก็จะต้องอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบถึง 70,000-100,000 ล้านบาท พร้อมกับการหามาตรการเยียวยาภาคเกษตรกรรมในชนบททั้งในกรณีเฉพาะหน้าและการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนด้วย
ข้อมูลเชิงเศรษฐศาสตร์ดังกล่าว แม้จะไม่ได้ให้คำตอบลงลึกมากมายนัก โดยเฉพาะในด้านการฝ่าวิกฤตด้วยฝีมือของนักบริหาร แต่ก็ฉายภาพรวมให้เห็นถึงอนาคตที่มัวหม่นพอสมควร
ใครที่เคยออกมาบอกว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยจะทะลุไปเหนือ 1,600 จุดในสิ้นปีนี้ หากจะเปลี่ยนใจคิดใหม่ ก็ยังทันที่จะเปลี่ยนคำชี้แนะใหม่ ไม่เห็นจะน่าอายตรงไหน ยังไงก็ดีกว่าจะปล่อยให้ผิดแล้วผิดเลย