EECi ระบบนิเวศนวัตกรรม EEC
ครบรอบ 3 ปีโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor Development :EEC) ที่ถูกเนรมิตขึ้นด้วยมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 28 มิ.ย. 59 เพื่อให้เป็นเขตเศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียน เพื่อส่งเสริม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายให้เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) บนพื้นที่ 3 จังหวัดภาคตะวันออก คือ ชลบุรี ระยองและฉะเชิงเทรา...!!
พลวัตปี 2019 : สุภชัย ปกป้อง
ครบรอบ 3 ปีโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor Development :EEC) ที่ถูกเนรมิตขึ้นด้วยมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 28 มิ.ย. 59 เพื่อให้เป็นเขตเศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียน เพื่อส่งเสริม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายให้เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) บนพื้นที่ 3 จังหวัดภาคตะวันออก คือ ชลบุรี ระยองและฉะเชิงเทรา…!!
แต่ด้วยเงื่อนไขเศรษฐกิจเพื่ออนาคต จึงต้องสร้าง “ระบบนิเวศนวัตกรรม” เพื่อเชื่อมโยงระบบการค้าและการขนส่งสมัยใหม่ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม จึงเสนอแนวทางการยกระดับและพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจตะวันออกด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม (EECi) เพื่อสร้างพื้นที่นวัตกรรมใหม่ในเขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก
จุดเริ่มต้นโครงการพื้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi) เกิดขึ้นจากเป้าหมายเพื่อสร้างพื้นที่นวัตกรรมใหม่ ในเขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ภายใต้วัตถุประสงค์หลัก 1)การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อต่อยอดสู่การใช้งานจริง (Translational Research) 2)ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ภาคอุตสาหกรรม เพื่อพัฒนา 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศและส่งเสริมให้เกิดวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมสำหรับเป็นพื้นฐานรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมใหม่ 3)เชื่อมโยงเครือข่ายการวิจัยและพัฒนาทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างสังคมนวัตกรรมของประเทศ รองรับความต้องการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง
โดย EECi เฟสแรก ตั้งอยู่ในวังจันทร์วัลเลย์ อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง บนพื้นที่ประมาณ 3,500 ไร่ ภายใต้การดำเนินงานโดยบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ประกอบด้วย 3 โซน
-Innovation Zone เป็นโซนพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ล่าสุดบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) หรือ PTTEP เช่าพื้นที่เพื่อก่อสร้างศูนย์วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (PTTEP Technology and Innovation Centre:PTIC) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เช่าพื้นที่สร้างอาคารวิจัยและนวัตกรรมและเตรียมลงนามให้เช่าใช้พื้นที่กับบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC เพื่อทำโซลาร์ฟาร์มและโซลาร์รูฟลอยน้ำ รวมถึงความร่วมมือกับกลุ่มจีอี จากสหรัฐ ฯเ พื่อจัดตั้ง global research center และหัวเว่ย เพื่อทำแผนงานในรูป Innovation Campus เป็นต้น
-Education Zone ปตท.มีการลงทุนมาแล้วประมาณ 10,000 ล้านบาท ในการจัดตั้งโรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS) และสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ที่เป็นแหล่งกำเนิดบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเอื้อต่อการสร้างระบบนิเวศนวัตกรรม(Innovation System)
-Community Zone มีพื้นที่ประมาณ 100 ไร่ เปิดให้ผู้ที่สนใจเข้ามาเช่าใช้พื้นที่เพื่อพัฒนาเป็นโรงเรียนนานาชาติ โรงแรม และคอมมูนิตี้มอลล์ มีกำหนดประเดิมเปิดร่างเอกสารเชิญชวนประมูลสำหรับการเช่าพื้นที่ (สัญญา 30 ปี) เพื่อทำโรงเรียนนานาชาติช่วงไตรมาส 3/62 จากนั้นทยอยเปิดการพัฒนาพื้นที่ต่าง ๆ ต่อไป
นัยสำคัญของ EECi คือสิ่งที่ขาดไม่ได้ใน EEC เพราะยิ่งไม่ว่ารัฐบาลจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคตะวันออก เพื่อปรับเปลี่ยนภาคอุตสาหกรรมสู่ประเทศไทย 4.0 มากเพียงใด..แต่หากขาดซึ่งระบบนิเวศนวัตกรรม นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่เติมฝันปั้นแต่งกันมา..อาจเป็นเพียง “ฝันไกล..แต่ไปไม่ถึงซะที” นั่นเอง..!?