P2P Lending โอกาสบนความเสี่ยง
หลักเกณฑ์ “การปล่อยเงินกู้” ที่เข้มงวดของสถาบันการเงินต่าง ๆ กลายเป็นข้อจำกัดการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ของบุคคลทั่วไป.! จึงทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ที่เรียกว่า “การกู้ยืมเงินระหว่างบุคคลต่อบุคคล (Peer-to-Peer (P2P) lending)” เพื่อตอบโจทย์และทางเลือกในการเข้าถึงแหล่งเงินกู้มากยิ่งขึ้น
พลวัตปี 2019 : สุภชัย ปกป้อง
หลักเกณฑ์ “การปล่อยเงินกู้” ที่เข้มงวดของสถาบันการเงินต่าง ๆ กลายเป็นข้อจำกัดการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ของบุคคลทั่วไป.! จึงทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ที่เรียกว่า “การกู้ยืมเงินระหว่างบุคคลต่อบุคคล (Peer-to-Peer (P2P) lending)” เพื่อตอบโจทย์และทางเลือกในการเข้าถึงแหล่งเงินกู้มากยิ่งขึ้น
P2P lending คือการกู้ยืมระหว่างบุคคลต่อบุคคล เป็นการให้สินเชื่อผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยระบบจะจับคู่ผู้ขอสินเชื่อและนักลงทุนซึ่งเป็นบุคคลทั่วไป แตกต่างจากการให้สินเชื่อแบบดั้งเดิมที่แหล่งทุนนั้นมาจากธนาคาร ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายจากประเทศฝั่งตะวันตก เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา อังกฤษ ส่วนในเอเชียอย่างเช่น จีน สิงคโปร์ หรืออินโดนีเซีย ถือว่าได้รับความนิยมสูงเช่นกัน
รูปแบบ P2P lending มี 6 ขั้นตอน เริ่มตั้งแต่การยื่นใบคำขอกู้ยืมเงิน ตอบรับคำขอ ตรวจสอบเครดิต พิจารณาอนุมัติ ส่งมอบเงินและบริหารจัดการเงินกู้ โดยฟินเทคสตาร์ทอัพ จะสร้างอินเทอร์เน็ตแพลตฟอร์ม เช่น แอปพลิเคชันและ เว็บไซต์เพื่อเชื่อมระหว่างผู้กู้และผู้ให้กู้ โดยทั้ง 2 ฝ่ายต้องลงทะเบียนเพื่อแสดงตัวตนบนแพลตฟอร์มเสียก่อน สำหรับผู้กู้ต้องกรอกรายละเอียดจำนวนเงินที่ต้องการกู้ รวมไปถึงข้อมูลต่าง ๆ เช่น วัตถุประสงค์การใช้เงินและระยะเวลาการกู้ยืมเงิน
หลังจากนั้นระบบจะทำการวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือ เครดิตของผู้กู้ และความสามารถการชำระหนี้จากข้อมูลที่ให้มาตอนลงทะเบียน กระบวนการนี้จะใช้เวลาสั้นกว่าธนาคาร ในยุโรปใช้เวลาการสืบและวิเคราะห์ข้อมูลส่วนตัวของผู้กู้เพียง 3-4 ชั่วโมง ก่อนที่จะส่งข้อมูลทั้งหมดให้ผู้ปล่อยกู้พิจารณาต่อไป
สรุปแล้วกระบวนการพิจารณาคำขอและอนุมัติสินเชื่อใช้เวลาประมาณ 5 วัน ต่างจากธนาคารพาณิชย์ ต้องใช้เวลามากกว่านั้น ส่วนขั้นตอนการทำสัญญาและโอนเงินจากผู้ให้กู้ไปยังผู้กู้ รวมถึงการทำสัญญาและติดตามการชำระหนี้ระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย จะใช้เทคโนโลยี Blockchain เข้ามาช่วยอีกทางหนึ่ง
การทำธุรกรรม P2P lending มีความเสี่ยงหลายด้าน อาทิ ความเสี่ยงที่ผู้กู้จะก่อหนี้เกินความสามารถในการชำระหนี้หรือความเสี่ยงที่ผู้ให้กู้อาจไม่ได้รับชำระหนี้คืนตามสัญญา เนื่องจากการให้สินเชื่อไม่ใช่การฝากเงิน ผู้ให้กู้จึงไม่ได้รับการคุ้มครองหรือความเสี่ยงที่ผู้ให้กู้ขาดสภาพคล่อง เนื่องจากไม่สามารถยกเลิกการให้สินเชื่อหรือเรียกให้ผู้กู้ชำระหนี้ก่อนครบกำหนดสัญญาได้
ที่สำคัญ P2P lending เป็นธุรกรรมการให้สินเชื่อผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ที่สามารถเข้าถึงผู้ใช้บริการในวงกว้าง สัญญาสินเชื่อสามารถเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วโดยที่ผู้กู้และผู้ให้กู้ไม่จำเป็นต้องรู้จักกัน จึงมีโอกาสเกิดการหลอกลวงทั้งจากแพลตฟอร์มและผู้กู้ได้
กรณี P2P lending ในประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดหลักเกณฑ์การกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจ P2P lending platform ให้มีการดำเนินธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้ กรรมการหรือผู้มีอำนาจในการจัดการของแพลตฟอร์มต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต มีความรู้ความสามารถ ไม่เคยมีการทำงานที่แสดงถึงการขาดมาตรฐานวิชาชีพและไม่มีปัญหาด้านสถานะทางการเงิน โดยเฉพาะเรื่องความมั่นคงปลอดภัย มีการคุ้มครองผู้ใช้บริการและข้อมูลส่วนบุคคล มีการเปิดเผยข้อมูลประกอบการตัดสินใจที่ครบถ้วน
แน่นอนว่า “โอกาสกับความเสี่ยง” ควบคู่กันอยู่เสมอ แม้ธปท.มีหลักเกณฑ์กำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจ P2P lending ก็ตาม แต่ขึ้นอยู่กับว่าผู้กู้จะก่อหนี้ด้วยความระมัดระวังเพียงใดและผู้ให้กู้ ที่ต้องทำความเข้าใจลักษณะและความเสี่ยงของสินเชื่อก่อนการตัดสินใจทำธุรกรรม เพราะพลวัตธุรกรรมทางการเงินใหม่ที่ว่านี้ เป็นได้ “โอกาส” และ “ความเสี่ยง” ในคราวเดียวกัน..!!