ธนบัตรนักคณิตศาสตร์โลก

ธนาคารแห่งชาติอังกฤษ (Bank of England) ประกาศว่า “อลัน ทัวริ่ง” (Alan Turing) นักคณิตศาสตร์หนึ่งในผู้บุกเบิกวิชาทฤษฎีการคำนวณ (theory of computation) ผู้มีส่วนอย่างมากในการถอดรหัสเครื่องเข้ารหัส Enigma ของเยอรมนี ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นภาพบนธนบัตร 50 ปอนด์รุ่นต่อไป


พลวัตปี 2019 : สุภชัย ปกป้อง

ธนาคารแห่งชาติอังกฤษ (Bank of England) ประกาศว่า “อลัน ทัวริ่ง” (Alan Turing) นักคณิตศาสตร์หนึ่งในผู้บุกเบิกวิชาทฤษฎีการคำนวณ (theory of computation) ผู้มีส่วนอย่างมากในการถอดรหัสเครื่องเข้ารหัส Enigma ของเยอรมนี ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นภาพบนธนบัตร 50 ปอนด์รุ่นต่อไป

ตัวธนบัตรรุ่นใหม่ ประกอบด้วยภาพ “อลัน ทัวริ่ง” เมื่อปี 1951 จากพิพิธภัณฑ์ National Portrait Gallery มีตารางจากรายงาน On Computable Numbers,with an application to the Entscheidungsproblem” ที่ตีพิมพ์เมื่อปี 1936 นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของวงการวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์และภาพคอมพิวเตอร์ Automatic Computing Engine (ACE) ที่ “อลัน ทัวริ่ง” ออกแบบภาพแผนผังเครื่อง British Bombe ที่ใช้ถอดรหัส Enigma

อีกหนึ่งไฮไลต์คือคำพูดของ “อลัน ทัวริ่ง” ว่า This is only a foretaste of what is to come, and only the shadow of what is going to be.” ที่ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ The Times เมื่อปี 1949 และลายเซ็นจากสมุดเยี่ยมที่ Bletchley Park ที่เขาทำงานถอดรหัส Enigma เมื่อปี 1947

การคัดเลือกนักวิทยาศาสตร์มาเป็นภาพบนธนบัตร 50 ปอนด์ เลือกมาตั้งแต่ปี 2018 โดยได้รับข้อเสนอ 227,299 รายการ มีนักวิทยาศาสตร์ที่เข้าเงื่อนไขและได้รับเสนอชื่อ 989 คน ก่อนคณะกรรมการจะคัดเลือก 12 คนให้ผู้ว่าแบงก์ชาติเป็นคนเลือกคนสุดท้าย

“อลัน ทัวริ่ง” เป็นนักคณิตศาสตร์ชาวอังกฤษ มีบทบาทสำคัญในการช่วยถอดรหัสข้อความ ที่เข้ารหัสด้วยเครื่อง Enigma ของเยอรมนี เป็นเหตุทำให้สงครามโลกครั้งที่สองจบลงเร็วขึ้น และถือเป็นบิดาแห่งทฤษฎีการคณนา (theory of computation) ที่เป็นรากฐานสำคัญของวิทยาการคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน

แต่ทว่าปี ค.ศ.1952 หลังสงครามโลกครั้งที่สองจบลงได้ 7 ปี “อลัน ทัวริ่ง” ถูกจับข้อหามีพฤติกรรมรักเพศเดียวกัน ทำให้อนาคตดับวูบลงทันที จนต้องออกจากงานในหน่วยข่าวกรองสหราชอาณาจักร (GCHQ)

(ในสหราชอาณาจักรการรักเพศเดียวกันเคยเป็นความผิดทางอาญามาจนถึงทศวรรษ 70 ก่อนมีการยกเลิกฐานความผิดดังกล่าว)

“อลัน ทัวริ่ง” ยินยอมเข้าร่วมการทดลอง “เคมีบำบัด” ด้วยการฉีดสารเคมีและฮอร์โมน แลกกับการไม่ต้องติดคุก โดยนักวิทยาศาสตร์ยุคดังกล่าว เชื่อว่าการรักเพศเดียวกันคือ “โรค” ที่สามารถบำบัดได้ด้วยเคมี..!

หลังจากเพียง 2 ปี “อลัน ทัวริ่ง” เสียชีวิตด้วยวัย 41 ปี เหตุร่างกายได้รับ “สารไซยาไนด์” จนกลายเป็นที่ถกเถียงว่าเป็นอุบัติเหตุหรือการฆ่าตัวตาย..!?

หลังการเสียชีวิตมาจนถึงปัจจุบันสถานการณ์คนรักเพศเดียวกันในสหราชอาณาจักรก้าวหน้าไปมาก ไม่มีกฎหมายลงโทษคนรักเพศเดียวกันต่อไป รวมถึงมีการรณรงค์เพื่อสิทธิของคนรักเพศเดียวกัน พร้อมกับการต่อสู้ของนักเคลื่อนไหวเพื่อทวงคืนความยุติธรรมให้ “อลัน ทัวริ่ง” มากกว่า 30 ปี

จนสุดท้ายได้รับพระราชทานอภัยโทษจากพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม ค.ศ.2012 จากการนำความขึ้นทูลเกล้าฯ ของคริส เกรลิ่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

หลังการประกาศพระราชทานอภัยโทษ ทำให้ “อลัน ทัวริ่ง” ได้รับการยอมรับและเชิดชูในฐานะวีรบุรุษและบิดาแห่งทฤษฎีการคณนา (theory of computation) ที่เป็นรากฐานของวิทยาการคอมพิวเตอร์มาจนถึงปัจจุบันนั่นเอง..

การยกเลิกความผิดฐานรักเพศเดียวกัน การอภัยโทษ แสดงถึงการยอมรับในความผิดพลาดของกฎหมายในอดีต..ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งกับการก้าวข้ามผ่าน “สังคมอคติ” ที่บางประเทศกำลังติดกับดักอยู่ในขณะนี้..!!??

Back to top button