เผือกร้อนพลังงาน
กำลังจะมีกรณีเหมือน “ท่อก๊าซปตท.” อีกแล้วล่ะครับ ที่ปตท.ยืนยันว่าส่งมอบรัฐครบถ้วนแล้ว กรมธนารักษ์ก็รับรองว่าปตท.ส่งครบถ้วนแล้ว ศาลปกครองสูงสุดก็ยืนยันแล้วว่า ปตท.ส่งมอบครบถ้วน
ขี่พายุทะลุฟ้า : ชาญชัย สงวนวงศ์
กำลังจะมีกรณีเหมือน “ท่อก๊าซปตท.” อีกแล้วล่ะครับ ที่ปตท.ยืนยันว่าส่งมอบรัฐครบถ้วนแล้ว กรมธนารักษ์ก็รับรองว่าปตท.ส่งครบถ้วนแล้ว ศาลปกครองสูงสุดก็ยืนยันแล้วว่า ปตท.ส่งมอบครบถ้วน
แต่สตง.(สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน)ไม่ยอม เอ็นจีโอก็ไม่ยอม และผู้ตรวจการแผ่นดินก็ไม่ยอม นำเรื่องมาฟ้องแล้วฟ้องอีกต่อศาลปกครองบ้าง ศาลรัฐธรรมนูญบ้าง
พวกเขา “ ฟ้องซ้ำ” ทำให้คดียืดเยื้อได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ แต่ในที่สุดศาลปกครองสูงสุดต้องยืนยันคำสั่งซ้ำอีกครั้ง จึงเลิกราต่อกันไปได้
กระทรวงพลังงานเพิ่งได้ต้อนรับรัฐมนตรีว่าการฯ คนใหม่ สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ก็ต้องรับเผือกร้อนที่ตกค้างมาจากยุคปลายคสช.ด้วย นั่นก็คือ คำร้องของประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ให้กระทรวงพลังงานทบทวนแผนPDP2018 อันเป็นการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 56 วรรค2…
โดยให้รัฐมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าไม่น้อยกว่าร้อยละ 51
คำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน มีสถานะเพียงแค่ข้อเสนอแนะ ไม่ได้มีสถานะเชิงบริหารที่จะต้องปฏิบัติตามก็จริง แต่ถ้อยคำในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ก็ดูจะสร้างปัญหาให้มีการยื้อตีความกันได้ และอาจจะยืดเยื้อยุ่งยากได้ไม่แพ้กรณีท่อก๊าซ
ความตามวรรค 2 รัฐธรรมนูญปัจจุบัน “โครงสร้างหรือโครงข่ายขั้นพื้นฐานของกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนหรือเพื่อความมั่นคงของรัฐ รัฐจะกระทำด้วยประการใดให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนหรือทำให้รัฐเป็นเจ้าของน้อยกว่าร้อยละ 51 มิได้”
นี่เป็นลายลักษณ์อักษรที่ผูกมัดกันหนักเลยนะครับ ในคำร้องผู้ตรวจการฯ ระบุ “โรงไฟฟ้า” ถือเป็นกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ที่รัฐ ซึ่งน่าจะหมายถึงการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ.จะต้องครอบครองเป็นเจ้าของไม่น้อยกว่าร้อยละ 51
คำร้องผู้ตรวจฯ เขาร้องให้รัฐมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 แต่ถ้อยคำในรัฐธรรมนูญระบุถึงความเป็นเจ้าของต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ซึ่งเดี๋ยวก็คงมั่ว ๆ มาร้องเรียนเป็นเรื่องเดียวกันเอง
หากจะต้องปฏิบัติตามแผนผู้ตรวจการแผ่นดิน ผมว่ากิจการผลิตไฟฟ้าของประเทศ คงจะยุ่งเหยิงชุลมุน และก่อความเสียหายให้ประเทศชาติเป็นอันมาก
ที่บอกว่าเพื่อความมั่นคง จะต้องให้รัฐถือครองกรรมสิทธิ์และกำลังผลิตเยอะ ก็จะกลายเป็น “ เพื่อความไม่มั่นคง” ไป
เนื่องจากรัฐมีนโยบายให้เอกชนเข้ามาแบกรับภาระการผลิตมาตั้งแต่ปี 2532 แล้ว ซึ่งเอกชนก็เข้ามาสนองนโยบายรัฐเป็นอันดีทั้งโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมากที่เรียกว่า “VSSP” โรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SSP) โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (IPP) ตลอดจนโรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือก ไม่ว่าแสงแดด ลม ขยะ และไบโอแมส
ซึ่งหากมอบภาระให้กฟผ.ผูกขาดผลิตไฟฟ้าแต่ผู้เดียว ไฟฟ้าคงไม่สว่างไสวไปทั่วประเทศ และก็คงไม่สามารถสนองตอบการพัฒนาเศรษฐกิจไทยได้อย่างทันกาลขนาดนี้
หากไม่มีนโยบายให้เอกชนลงทุนโรงไฟฟ้า ถึงพ.ศ.ในปัจจุบันนี้แล้ว ก็ยังไม่แน่ใจว่า ไฟฟ้าเมืองไทยจะติด ๆ ดับ ๆ เพราะความขาดแคลนและความต้องการใช้ไฟสูงกว่า เหมือนเช่นเหตุการณ์ในอดีตเมื่อ 20-30 ปีที่ผ่านมาหรือไม่
จะบอกว่าเอกชนเอาเปรียบรัฐก็ไม่น่าจะถูกต้องนัก เพราะไฟฟ้าจากโรงงานเอกชน นอกจากผลิตขายให้เอกชนด้วยกัน(ส่วนน้อย) ก็ต้องเอามาขายให้รัฐ ซึ่งส่วนใหญ่ขายให้กฟผ. ก็ต้องขายให้ในราคาต่ำกว่ากฟผ.ไปขายให้กฟน.และกฟภ.ก่อนจำหน่ายสู่ประชาชนอยู่แล้ว
ไม่มีซะหรอกที่รัฐจะเสียเปรียบเอกชนผู้ผลิตไฟฟ้า
เนื้อหาที่ฝ่ายปลัดกระทรวงพลังงานเตรียมชี้แจงผู้ตรวจการฯ ก็คือ สาธารณูปโภคพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญนั้นหมายถึง ระบบเครือข่ายเช่น ถนน ทางด่วน รางรถไฟ เครือข่ายโทรศัพท์มือถือและสื่อสาร WiFi และสายส่งไฟฟ้า
ฉะนั้นในส่วนของโรงไฟฟ้าไปจนถึงระบบเดินรถไฟฟ้า จึงสามารถให้เอกชนเป็นเจ้าของได้ และเมื่อสัมปทานหมดอายุลงก็ต้องกลับคืนเป็นของรัฐ ตามสัญญา BOT คือ Build-Operate-Transfer นอกจากนั้นกฟผ.ก็ยังเป็นเจ้าของสายส่งทั่วประเทศแต่เพียงรายเดียวอยู่แล้ว
ครับ ผมว่าเรื่องนี้ ควรเป็นงานแรกของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ คือทำให้มันกระจ่างชัดไปเลย และต้องรีบทำ ไม่งั้นข้อเรียกร้องของผู้ตรวจการฯ ผสมโรงกับเอ็นจีโอก็จะบานปลายไปถึงการเรียกร้องให้เอาทางด่วน รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน และกิจการโทรคมนาคมเข้าไปด้วย
มันจะยุ่งไปกันใหญ่ ยิ่งทำถึงขั้นให้ศาลสั่งลงมาก็ยิ่งดี รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ มีภูมิคุ้มกันสูงอยู่แล้ว เผื่อท่านไม่อยู่ เรื่องนี้จะได้ไม่เป็นปัญหา