ใครล้มประชาธิปไตย

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 5:4 รับคำร้องไว้วินิจฉัย ว่าพรรคอนาคตใหม่ ใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ แม้ธนาธร ปิยบุตร ยืนยันว่าคำร้องตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ยังไม่ให้อำนาจศาลสั่งยุบพรรค แต่ก็มีปฏิกิริยาสะท้อนกลับอย่างร้อนแรงกว้างขวาง ในหมู่ผู้รักประชาธิปไตย และคนเลือกพรรคอนาคตใหม่


ทายท้าวิชามาร : ใบตองแห้ง

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 5:4 รับคำร้องไว้วินิจฉัย ว่าพรรคอนาคตใหม่ ใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ แม้ธนาธร ปิยบุตร ยืนยันว่าคำร้องตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ยังไม่ให้อำนาจศาลสั่งยุบพรรค แต่ก็มีปฏิกิริยาสะท้อนกลับอย่างร้อนแรงกว้างขวาง ในหมู่ผู้รักประชาธิปไตย และคนเลือกพรรคอนาคตใหม่

แน่ละ มติ 5:4 ศาลเพียงแต่รับวินิจฉัย ศาลอาจชี้ว่าไม่ผิดก็ได้ ทำไมต้องโวยวาย ไม่เชื่อกระบวนการยุติธรรมหรือ

ข้อแรก เป็นเพราะตัวข้อกล่าวหา “ล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” มันย้อนแย้งพิลึกอยู่ในตัวเอง รัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญได้ ล้มล้างระบอบได้ สืบทอดอำนาจได้ ไม่มีใครเอาผิดได้ เพราะนิรโทษตัวเองแล้ว ไปฟ้องศาล ศาลก็เอาผิดไม่ได้ เพราะเป็นรัฏฐาธิปัตย์ จะยุบศาลรัฐธรรมนูญเสียก็ได้ จะให้อยู่ต่อ ต่ออายุ ก็ได้

แต่รัฐประหารกลับร่างรัฐธรรมนูญไว้ ให้เอาผิดพรรคการเมืองได้ ทั้ง ๆ ที่เป็นไปไม่ได้เลย ที่พรรคการเมืองจะล้มล้างระบอบ เพราะพรรคการเมืองไม่มีอาวุธ

ข้อสอง แม้ข้อกล่าวหาครั้งนี้ยังไม่ถึงยุบพรรค แต่เห็นชัดว่ามีความพยายามจองล้างพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งอาจมีคนยื่นคำร้องยุบพรรคด้วยข้อหาอื่นใดเมื่อไหร่ก็ได้

การยุบพรรคที่เกิดขึ้นก่อนนี้ โดยเฉพาะพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน กลายเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โดยสวนกับเจตนารมณ์ประชาชน จนลุกฮือต่อต้าน

ยุบพรรคไทยรักไทย (เอ๋ ปารีณา เคยเป็นองครักษ์) คณะรัฐประหารตั้งตุลาการรัฐธรรมนูญขึ้นวินิจฉัย ออกประกาศ คปค.เป็นกฎหมาย ยุบพรรคแล้วให้ตัดสิทธิกรรมการบริหารด้วย ตุลาการก็เอามาใช้ลงโทษย้อนหลัง

ยุบพรรคพลังประชาชน มาจากการเขียนรัฐธรรมนูญ 2550 กรรมการบริหารโดนใบแดง ยุบพรรคตัดสินหมดทุกคน เป็นกฎหมายแบบผิดคนเดียวเหมายกเข่ง หรือตัดหัวเจ็ดชั่วโคตร ซึ่งขัดหลักนิติรัฐนิติธรรม

ประเด็นจึงไม่ใช่เชื่อหรือไม่เชื่อศาล แต่ประเด็นคือรัฐธรรมนูญเขียนผิดหลักการ เขียนความผิดยุบพรรคไว้กว้างขวาง เขียนอำนาจยับยั้งการล้มล้างระบอบ ซึ่งที่จริง รัฐธรรมนูญ 2540 หวังให้ศาลใช้อำนาจยับยั้งความพยายามรัฐประหาร แต่ไม่เคยเป็นผล ศาลไม่สามารถยับยั้งปืนรถถังได้ ศาลไม่สามารถยับยั้งม็อบปูทางรัฐประหารได้ (ม็อบอ้างศาลอีกต่างหาก)

ศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลสูงในประเทศประชาธิปไตยอารยะ แทบไม่เคยยุบพรรคการเมือง ต่อให้เป็นพวกนีโอนาซี ขวาจัดซ้ายจัด เว้นแต่ซ่องสุมกำลังจะใช้อาวุธ ไม่ใช่อย่างพวกเกลียดชังอนาคตใหม่ กล่าวหาว่า “ติ่งอนาคตใหม่ซ่องสุมกำลังเปลี่ยนแปลงประเทศในคูหาเลือกตั้ง”

ศาลรัฐธรรมนูญในประเทศประชาธิปไตยอารยะ ไม่มีอำนาจมานั่งพิจารณาจริยธรรมนักการเมือง ถ้าทำผิดกฎหมายก็ลงโทษตามกฎหมาย จริยธรรมความเหมาะสมเป็นเรื่องที่ประชาชนและสังคมจะติฉินนินทา ประณามให้เสื่อม

ศาลรัฐธรรมนูญองค์กรอิสระในประเทศเหล่านั้น ไม่ต้องมานั่งตรวจคุณสมบัติ เพราะเขาไม่เขียนหยุมหยิม ห้ามนั่นห้ามนี่ เล่นการเมืองก็เอาหุ้นไปฝาก blind trust ไม่ต้องแจกเงินเพิ่มให้ ป.ป.ช.ไล่จับ ใครไม่แจ้งบัญชีทรัพย์สินตัดสิทธิติดคุก ทั้งที่ยังไม่ได้พิสูจน์ว่าโกง

Impeachment ที่เขามีกัน ก็คือ ส.ส. ส.ว.จากเลือกตั้ง ถอดถอนฝ่ายบริหาร ไม่ใช่ สนช.แต่งตั้ง ไม่ใช่ศาลองค์กรอิสระตัดสิทธิ เพราะใครจะเลือกหรือไม่ เป็นสิทธิเป็นอำนาจของประชาชน

ศาลในประเทศเหล่านั้น มีไว้ปกป้องเสรีภาพ เช่นการออกกฎหมายหรือลงประชามติ ห้ามแต่งงานในเพศเดียวกัน เป็นการใช้เสียงข้างมากละเมิดสิทธิเสรีภาพคนส่วนน้อย

นั่นจึงต่างกัน ถ้าคิดว่านี่คือประชาธิปไตยไทย ที่ล้มล้างไม่ได้ ก็ไม่มีวันเห็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

 

Back to top button