นโยบายอย่างทำอย่าง

ใครจะชอบไม่ชอบรัฐบาลนี้ก็ตาม น่าจะสังเกตได้ว่า นโยบายหลัก 12 ด้าน นโยบายเร่งด่วน 12 เรื่อง เต็มไปด้วยถ้อยคำสวยหรู แต่ไม่มีรูปธรรม เว้นเสียแต่ “บัตรวิเศษประชารัฐ” ซึ่งทำไปแล้ว กระทั่งค่าแรง ก็เขียนไว้กว้าง ไม่มีหลักประกันว่าจะทำตามคำสัญญา 425 บาทตอนหาเสียง


ทายท้าวิชามาร : ใบตองแห้ง

ใครจะชอบไม่ชอบรัฐบาลนี้ก็ตาม น่าจะสังเกตได้ว่า นโยบายหลัก 12 ด้าน นโยบายเร่งด่วน 12 เรื่อง เต็มไปด้วยถ้อยคำสวยหรู แต่ไม่มีรูปธรรม เว้นเสียแต่ “บัตรวิเศษประชารัฐ” ซึ่งทำไปแล้ว กระทั่งค่าแรง ก็เขียนไว้กว้าง ไม่มีหลักประกันว่าจะทำตามคำสัญญา 425 บาทตอนหาเสียง

มิพักต้องพูดถึงนโยบายแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเขียนไว้ 2 บรรทัด พอให้พรรคประชาธิปัตย์แก้ผ้าเอาหน้ารอด ว่ายัดไว้ในนโยบายรัฐบาลแล้วเท่านั้น แถมยังเสียบนโยบายภัยแล้งอุทกภัย เข้ามาอย่างเร่งด่วน ในขณะที่ภัยแล้งลุกลามทั้งประเทศ แต่รัฐบาลเพิ่งตื่น

เรื่องย้อนแย้งน่าขันคือ เมื่อเราอ่านนโยบาย 66 หน้า ที่จะแถลงต่อสภาเป็นพิธีกรรม แล้วหันไปดูคำให้สัมภาษณ์ของรัฐมนตรีพรรคต่าง ๆ จะเห็นนโยบายที่โผล่ขึ้นมาโดยไม่อยู่ในคำแถลง แบบใครอยากทำอะไรก็ทำ ต่างคนต่างโชว์ หาเสียงกันเต็มเหนี่ยว

เช่นรัฐมนตรีคมนาคม ประกาศจะลดค่าขนส่งสาธารณะ ทั้งรถไฟฟ้า รถเมล์ แต่รัฐบาลไหนหว่า เพิ่งขึ้นค่ารถเมล์ รัฐบาลไหนหว่า ให้สัมปทานรถไฟฟ้า ตอนนี้จะมาลดเหลือ 15 บาท เอาที่ไหนมาจ่ายชดเชย

แน่ละ นโยบายรัฐมนตรีแต่ละคน อาจไม่ขัดแย้งกับนโยบายที่แถลง เพราะเขียนไว้กว้าง ทำอย่างไรก็ไม่ผิด แต่มันแสดงความไร้ทิศทาง พรรคร่วมรัฐบาลไม่ได้ถกกันจริงจังจนตกผลึก นโยบายพิธีกรรมเหมือนเขียนมาจากข้าราชการ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เอามาจากที่พยายามทำใน 5 ปี (แต่ล้มเหลว) หรือเอามาจากยุทธศาสตร์ชาติ ที่เขียนไว้กว้าง ๆ

อะไรที่จะทำจริง เดี๋ยวว่ากันอีกที ตกลงกันในที่ประชุม ครม. ในพรรคร่วมรัฐบาล เป็นเรื่อง ๆ ไป ยกตัวอย่าง นโยบายกัญชา รัฐมนตรีสาธารณสุขประกาศลุยโน่นลุยนี่ แต่ถ้าจะทำจริงก็ต้องได้รับความร่วมมือจาก ป.ป.ส. กระทรวงยุติธรรม ตำรวจ มหาดไทย ฯลฯ

คำถามคือ ถ้าฝ่ายค้านจะอภิปราย ซักถามนโยบายกัญชา รัฐบาลชัดเจนหรือยัง จะเปิดกว้างหรือตีกรอบแค่ไหน เช่นเดียวกับนโยบายประกันราคาของประชาธิปัตย์ ซึ่งเขียนไว้ว่าจะชดเชย การประกันรายได้ แต่มีรายละเอียดอย่างไร ใช้งบมากขนาดไหน ฯลฯ

ใครที่ทันเห็นการแถลงนโยบายรัฐบาลไทยรักไทยปี 2544 คงยังจำได้ ฝ่ายค้านรุมซักกองทุนหมู่บ้าน หมอเลี้ยบซดกับอภิสิทธิ์เรื่อง 30 บาทรักษาทุกโรค ชาวบ้านฟังแล้วเห็นชัดว่ารัฐบาลจะทำอะไร (และพิสูจน์ว่าทำได้จริงจนถึงทุกวันนี้)

ภาพรวมของนโยบายประยุทธ์ 2 เป็นเช่นนั้นเอง คือเป็นรัฐบาลผสมที่ถอยหลังไปยุคก่อนรัฐธรรมนูญ 2540 เขียนนโยบายกว้าง ๆ โดยระบบราชการ แถลงเป็นพิธีกรรม แล้วพอจะทำอะไรก็ว่ากันอีกที

เพียงต่างอยู่หน่อยที่รอบนี้ แกนนำรัฐบาลฝ่ายทหาร หวังให้นักการเมืองเข้ามาช่วยสร้างภาพ สร้างประชานิยม แต่เดี๋ยวก็จะมีคำถาม ว่านโยบายรัฐมนตรีพรรคต่าง ๆ สวนทางรัฐบาลที่แล้วไหม แล้วภาระงบประมาณล่ะ จะรับไหวหรือ

ข้อหลังนี้ชัดเจน ในคำแถลงนโยบายตอนท้าย งบประมาณเฉลี่ยจะอยู่ที่ 3.3 ล้านล้านบาทต่อปี ขณะที่รายได้จากภาษีมีจำกัด “ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องเร่งรัดพัฒนาระบบจัดเก็บภาษีของรัฐให้มีความครอบคลุมมากขึ้น มุ่งเน้นการขยายฐานภาษีและปรับโครงสร้างภาษีให้มีความเป็นธรรม…”

ชัดเจนว่า รัฐบาลนี้จะต้องหามาตรการรีดภาษี เพราะเงินไม่พอใช้ ที่หาเสียงไว้ว่าจะลดภาษีเงินได้มนุษย์เงินเดือน 10% ก็ต้องกลับลำ ภาษีความหวานภาษีความเค็ม ก็ไม่รู้ว่าห่วงประชาชนจริง หรือต้องหาเงินมาจ่ายทั้งประชานิยมและงบผูกพันซื้อรถถังซื้อเรือดำน้ำ

 

Back to top button