สัมพันธ์สะบั้น ‘น้ำมัน-ตะวันออกลาง’

ความตึงเครียดที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลางมักส่งผลต่อราคาน้ำมันมาโดยตลอด  เมื่อใดที่เกิดวิกฤตหรือเหตุการณ์ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำมันที่นั่น ราคาน้ำมันมักจะปรับตัวพุ่งขึ้นทันที


พลวัตปี 2019 : ฐปนี แก้วแดง

ความตึงเครียดที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลางมักส่งผลต่อราคาน้ำมันมาโดยตลอด  เมื่อใดที่เกิดวิกฤตหรือเหตุการณ์ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำมันที่นั่น ราคาน้ำมันมักจะปรับตัวพุ่งขึ้นทันที

แต่มาระยะหลังๆ นี้ สังเกตเห็นได้ว่า ความสัมพันธ์ดังกล่าวนับวันจะลดน้อยลงมากขึ้นเรื่อยๆ

หลังจากที่อิหร่านยึดเรือบรรทุกน้ำมันลำหนึ่งในช่องแคบฮอร์มุซเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นพอประมาณเท่านั้น และนั่นอาจเป็นสัญญาณว่าบารอมิเตอร์วัดความตึงเครียดในตะวันออกกลางอาจจะแตกลงแล้ว

ในอดีต ความกังวลที่ถือว่าใหญ่สุดอย่างหนึ่งในอุตสาหกรรมพลังงานคือ ความขัดแย้งในตะวันออกกลางเนื่องจากมันอาจส่งผลกระทบต่อการขนส่งน้ำมันในช่องแคบ ฮอร์มุซ ซึ่งเป็นทางน้ำแคบ ๆ ที่น้ำมันประมาณหนึ่งในห้าของโลกต้องผ่าน

แต่หลังจากที่อิหร่านยึดเรือสเตนา อิมเพโร ในช่องแคบฮอร์มุซเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาโดยกล่าวหาว่าเรือละเมิดน่านน้ำอิหร่าน ราคาน้ำมันกลับปรับตัวขึ้นเล็กน้อยและไม่มีการปรับตัวขึ้นด้วยความเร็วที่อาจจะเคยได้เห็นในช่วงที่เกิดความตึงเครียดอื่น ๆ

ตราสารน้ำมันดิบเบรนต์ ปรับตัวขึ้นเพียง 2% ในเช้าวันจันทร์ที่ผ่านมา จากที่ต่ำมากในวันศุกร์ก่อนที่ข่าวการยึดเรือจะถึงหูสื่อมวลชน และตราสารน้ำมันดิบเบรนต์ปรับตัวขึ้นสูงสุด 3% นับตั้งแต่มีข่าวยึดเรือ

ราคาน้ำมันไม่ใช่ตัวชี้ความรุนแรงของความขัดแย้งในตะวันออกกลางเหมือนที่เคยมีอีก สาเหตุสำคัญที่ทำให้ความสัมพันธ์ของราคาน้ำมันกับวิกฤตในตะวันออกกลางขาดสะบั้นลง เป็นเพราะการผลิตน้ำมันในสหรัฐฯ และความกังวลเกี่ยวกับดีมานด์ที่อ่อนแอทั่วโลก

เนื่องจากในขณะนี้ สหรัฐฯ ได้กลายเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่สุดแล้ว นักวิเคราะห์ซิตี้กรุ๊ปตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อมองในแง่ซัพพลาย ผลกระทบที่มีต่อซัพพลายก๊าซและน้ำมันในอ่าวเม็กซิโก จึงอาจมีความสำคัญพอๆ

กับผลกระทบที่เกิดในช่องแคบฮอร์มุซในอ่าวเปอร์เซียร์ นอกจากนี้ ฤดูเฮอร์ริเคนในบริเวณชายฝั่งอ่าวเม็กซิโก ก็ควรจะมีผลกระทบต่อราคาก๊าซและน้ำมันทั่วโลกมากด้วยเช่นกัน

พายุเฮอร์ริเคนอาจทำให้เกิดลมและน้ำท่วม และทำให้สถานีขุดเจาะน้ำมันนอกชายฝั่งอ่าวเม็กซิโกพังเสียหายได้ หรืออาจต้องตัดกระแสไฟฟ้าและอาจพัดพาโรงกลั่นหายไปในบัดดลได้

พายุเฮอร์ริเคน ฮาร์วีย์ที่เข้าถล่มเท็กซัสในปี 2560 เป็นตัวอย่างพายุเฮอร์ริเคนที่ได้สร้างความเสียหายต่อการผลิตน้ำมันมากสุด หลังจากที่ก่อนหน้านั้นมีพายุเฮอร์ริเคนแคทรีน่าและริต้าเข้าถล่มชายฝั่งของอ่าวเม็กซิโก ในปี 2548 และ ในปี 2551 ก็มีพายุเฮอร์ริเคน ไอค์อีกลูกหนึ่ง

การส่งออกน้ำมันจากอ่าวเม็กซิโก กำลังจะมีปริมาณพอ ๆ กับการส่งออกน้ำมันของซาอุดิอาระเบีย  ในขณะนี้ภูมิภาคชายฝั่งอ่าวเม็กซิโกส่งออกปิโตรเลียมมากกว่า 7 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยเป็นน้ำมันดิบ 2.5 ล้านบาร์เรล  และเกือบ 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวันเป็นการส่งออกก๊าซเหลวธรรมชาติ และอีกกว่า 3 ล้านบาร์เรลต่อวันเป็นการส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม มีการคาดการณ์ว่า การส่งออกน้ำมันของสหรัฐฯ จะโตประมาณ 1 -1.5 ล้านบาร์เรลต่อวันในช่วงสองสามปีข้างหน้า โดยส่วนใหญ่จะมาจากอ่าวเม็กซิโก

ในระยะยาวน่าจะมีโอกาสมากขึ้นที่การชัตดาวน์การส่งออกปิโตรเลียมจากอ่าวเม็กซิโกในช่วงสองสามปีข้างหน้า อาจจะมีผลต่อราคาน้ำมันมากกว่าความตึงเครียดในตะวันออกกลาง ส่วนในระยะสั้น ราคาน้ำมันน่าจะผันผวนตามข่าวสงครามการค้าและการเติบโตของเศรษฐกิจโลกเป็นสำคัญ

อย่างไรก็ดี หากยังคงมีเหตุการณ์อย่างเช่นการยึดเรือบรรทุกน้ำมัน หรือมีการโจมตีโรงกลั่นหรือสาธารณูปโภคสำคัญ ๆ ในตะวันออกกลาง เช่นการโจมตีสนามบินซาอุ หรือมีข่าวยิงโดรน อย่างต่อเนื่อง อ่าวเปอร์เซียร์ก็อาจจะกลับมามีผลกระทบต่อราคาน้ำมันมากได้อีกครั้งเช่นกัน

การที่ความสัมพันธ์ของราคาน้ำมันกับเหตุการณ์ต่างๆในตะวันออกกลางเปลี่ยนไปนี้  อาจทำให้นักลงทุนหรือธุรกิจที่ต้องเกี่ยวพันกับราคาน้ำมันต้องคิดวิเคราะห์และประเมินกันใหม่ เพราะหากประเมินผิดพลาด  นั่นอาจหมายถึงการขาดทุนมากตามมา

Back to top button