การควบคุมธุรกิจค้าส่งค้าปลีก

การที่คณะกรรมการฯ ต้องใช้อำนาจในฐานะผู้กับดูแลตลาดในการสอบสวนและนำผู้กระทำผิดตามกฎหมายมาลงโทษ จึงจะสามารถสร้างความเชื่อมั่น และสร้างธรรมาภิบาลอย่างแท้จริง


Cap & Corp Forum

ประกาศคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เรื่อง แนวทางพิจารณาการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบธุรกิจค้าส่งค้าปลีกกับผู้ผลิตหรือผู้จำหน่าย พ.ศ. 2562 (ประกาศฯ”) มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา โดยประกาศฯ ฉบับดังกล่าวเป็นอนุบัญญัติที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 17(3) แห่งพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (คณะกรรมการฯ”) เพื่อกำหนดแนวทางปฏิบัติเพื่อพิจารณาการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบธุรกิจค้าส่งค้าปลีกกับผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายซึ่งเป็นการกระทำอันเป็นผลให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นตามมาตรา 57 แห่งพ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าฯ

มาตรา 57 แห่งพ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าฯ กำหนดว่า ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจกระทำการใด ๆ อันเป็นผลให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นในลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้

(1) กีดกันการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นอย่างไม่เป็นธรรม

(2) ใช้อำนาจตลาดหรืออำนาจต่อรองที่เหนือกว่าอย่างไม่เป็นธรรม

(3) กำหนดเงื่อนไขทางการค้าอันเป็นการจำกัดหรือขัดขวางการประกอบธุรกิจของผู้อื่นอย่างไม่เป็นธรรม

(4) กระทำการในลักษณะอื่นตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

ประกาศฯ ฉบับดังกล่าวมีเนื้อหาและข้อความทำนองเดียวกับระเบียบสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าว่าด้วยแนวทางพิจารณาการปฏิบัติทางการค้าระหว่างผู้ประกอบธุรกิจค้าส่งค้าปลีกกับผู้ผลิตหรือผู้จำหน่าย พ.ศ. 2549 (ระเบียบฯ”) ลงวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2549 ซึ่งเป็นระเบียบฯ ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 ที่กำหนดห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจกระทำการใด ๆ อันมิใช่การแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรมและมีผลเป็นการทำลาย ทำให้เสียหาย ขัดขวาง กีดกัน หรือจำกัดการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบธุรกิจอื่น หรือเพื่อมิให้ผู้อื่นประกอบธุรกิจ หรือต้องล้มเลิกการประกอบธุรกิจ

ประกาศฯ มีหลักเกณฑ์และข้อกำหนดที่สำคัญดังนี้

  • ความหมายของ ผู้ประกอบธุรกิจค้าส่งค้าปลีกและ ผู้ผลิตหรือผู้จำหน่าย

“ผู้ประกอบธุรกิจค้าส่งค้าปลีก” หมายความว่า ผู้จำหน่ายส่ง ผู้จำหน่ายปลีกสินค้าอุปโภคบริโภค ที่มีระบบการจัดจำหน่ายสินค้าที่ทันสมัย มีสาขาหรือไม่มีสาขาหรือมีการบริหารในลักษณะแฟรนไชส์และมีการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการบริหารจัดการเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ลูกค้า เช่น ผู้ประกอบธุรกิจค้าส่งค้าปลีกประเภทขนาดใหญ่ (hypermarket) ประเภทค้าส่งบริการตนเอง (cash and carry) ประเภทร้านสรรพาหาร (supermarket) ประเภทร้านสินค้าเฉพาะอย่าง (specialty store) ประเภทห้างสรรพสินค้า (department store) และร้านสะดวกซื้อ (convenience store) เป็นต้น

“ผู้ผลิตหรือผู้จำหน่าย” หมายความว่า ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ผู้สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่าย หรือผู้ให้บริการ และให้หมายความรวมถึงซัพพลายเออร์ที่เป็นผู้ผลิตเพื่อจำหน่ายหรือผู้จำหน่าย

2) พฤติกรรมทางการค้าที่อาจฝ่าฝืนกฎหมายตามประกาศฯ มีดังต่อไปนี้

2.1 การกำหนดราคาที่ไม่เป็นธรรม ได้แก่ การกำหนดราคาขายต่ำกว่าทุน การกำหนดราคารับซื้อหรือกดราคารับซื้อสินค้าจากผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายต่ำกว่าราคารับซื้อปกติหรือบังคับให้ผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายลดราคาสินค้าที่ส่งมอบแล้วโดยไม่มีเหตุผล

2.2 การเรียกรับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรม อาทิ ค่าธรรมเนียมแรกเข้า (entrance fee/listing fee) ค่าปรับปรุงเปลี่ยนแปลงบรรจุภัณฑ์ (minor change) หลังจากที่ได้วางจำหน่ายแล้ว การเรียกค่าธรรมเนียมการวางสินค้าพิเศษ ค่าธรรมเนียมส่วนเพิ่มหรือการขอส่วนลดในวาระพิเศษ หรือผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรมอื่น ๆ เช่น ค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมการค้า (rebate)

2.3 การคืนสินค้าโดยไม่เป็นธรรม โดยผู้ประกอบธุรกิจค้าส่งค้าปลีกคืนสินค้าซึ่งซื้อจากผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายโดยไม่มีเหตุผล ซึ่งมิใช่ความผิดของผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายหรือมิได้มีข้อตกลงกันไว้ล่วงหน้า หรือมิได้เป็นความยินยอมของผู้ผลิตหรือผู้จำหน่าย

2.4 การใช้สัญญาการฝากขายที่ไม่เป็นธรรม โดยผู้ประกอบธุรกิจค้าส่งค้าปลีกบังคับให้ผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายยอมรับสัญญาการฝากขายสินค้าซึ่งกำหนดเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรม

2.5 การบังคับให้ซื้อหรือให้จ่ายค่าบริการ (coercion to purchase) อย่างไม่เป็นธรรม โดยผู้ประกอบธุรกิจค้าส่งค้าปลีกบังคับให้ผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายต้องซื้อสินค้าหรือต้องจ่ายค่าบริการตามที่กำหนด เพื่อประโยชน์ของผู้ประกอบธุรกิจค้าส่งค้าปลีก เช่น การบังคับผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายให้ซื้อสินค้าของผู้ประกอบธุรกิจค้าส่งค้าปลีกบางส่วนหรือทั้งหมดอย่างไม่เป็นธรรม หรือการบังคับผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายให้ซื้อบริการ เช่น การบริการข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจโดยผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตหรือระบบอิเล็กทรอนิกส์ (B2B e-commerce) ซึ่งมีอัตราค่าบริการที่เป็นการผลักภาระให้กับผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายโดยไม่เป็นธรรม เป็นต้น

2.6 มอบหมายให้พนักงานของผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายปฏิบัติงานอย่างไม่เป็นธรรม โดยผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายมิได้ยินยอมหรือมิได้เป็นข้อตกลงกันไว้ล่วงหน้า เช่น บังคับให้ผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายส่งพนักงานไปประจำ ณ สถานที่จำหน่ายของผู้ประกอบธุรกิจค้าส่งค้าปลีกเพื่อทำหน้าที่ช่วยเหลือการดำเนินการซึ่งเป็นงานปกติของผู้ประกอบธุรกิจค้าส่งค้าปลีกโดยมีเจตนาเพื่อลดค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบธุรกิจค้าส่งค้าปลีก เป็นต้น

2.7 การปฏิเสธการรับสินค้าที่สั่งซื้อหรือผลิตพิเศษเป็นตราเฉพาะของผู้สั่งผลิต (private Brand) หรือเป็นตราเฉพาะของผู้ประกอบธุรกิจค้าส่งค้าปลีก (house Brand) อย่างไม่เป็นธรรม

3) บทกำหนดโทษ

ตามมาตรา 82 ผู้ประกอบธุรกิจค้าส่งค้าปลีกที่กระทำการฝ่าฝืนมาตรา 57 ต้องชำระค่าปรับทางปกครองในอัตราไม่เกินร้อยละสิบของรายได้ในปีที่กระทำความผิดและผู้จัดการของนิติบุคคลนั้นก็อาจต้องร่วมรับผิดด้วยเช่นกัน (มาตรา 84)

จากระเบียบฯ ปี 2549 ถึงประกาศฯ ปี 2562 เนื้อหาส่วนของ 1) และ 2) นอกจากการปรับปรุงถ้อยคำและการจัดหมวดหมู่บางข้อใหม่ ไม่มีส่วนใดที่แตกต่างกันเลย ในความเห็นของผู้เขียน การออกประกาศฯ ปี 2562 จึงมิใช่เรื่องใหม่ในเชิงเนื้อหาหรืออาจเป็นหลักประกันใด ๆ ต่อการสร้างการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรมในธุรกิจค้าส่งค้าปลีกได้เลย เพราะโดยรูปแบบคือการแปลงจากระเบียบฯ ตามกฎหมายเดิมมาเป็นประกาศฯ ตามกฎหมายใหม่เท่านั้น

สาระสำคัญของการบังคับใช้กฎหมายการแข่งขันทางการค้าว่าโดยเฉพาะธุรกิจค้าส่งค้าปลีก คือการที่คณะกรรมการฯ ต้องใช้อำนาจในฐานะผู้กับดูแลตลาดในการสอบสวนและนำผู้กระทำผิดตามกฎหมายมาลงโทษ จึงจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นของภาคประชาสังคม ผู้บริโภค ผู้ประกอบธุรกิจรายย่อย และสร้างธรรมาภิบาลในการประกอบธุรกิจอย่างแท้จริง.

ศุภวัชร์ มาลานนท์

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

Back to top button