ข่าวร้าย และข่าวดี
ดัชนีตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่ 26 ก.ค.ที่ผ่านมา ระดับ 1,717 .97 จุด
ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร
ดัชนีตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่ 26 ก.ค.ที่ผ่านมา ระดับ 1,717 .97 จุด
และถือเป็นการปรับลงตามทิศทางตลาดหุ้นเอเชีย
ปัจจัยลบที่กดดันมาจากนักลงทุนค่อนข้างผิดหวังกับผลการประชุมของธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB ที่ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
และที่สำคัญ ECB ไม่ได้ส่งสัญญาณชัดเจนว่า จะลดอัตราดอกเบี้ยหรือไม่
เพียงแต่บอกว่า จะยังใช้ดอกเบี้ยนโยบายในระดับปัจจุบัน (หรืออาจจะปรับลดก็ได้) ไปจนถึงกลางปี 2563
ขณะที่การประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด ที่จะมีขึ้นในวันที่ 30 – 31 ก.ค.นี้
และประเทศไทยน่าจะรับทราบผลในช่วงเช้าของวันพฤหัสฯ ที่ 1 ส.ค.นี้
การประชุมของเฟดครั้งนี้ ก็มีการคาดหมายเช่นกันว่า เฟดน่าจะลดดอกเบี้ยเพียง 0.25% และไม่น่าจะถึง 0.50% อย่างที่นักลงทุนคาดหวังกันไว้
ที่ผ่านมานักลงทุนคาดหวังกันไว้มากกับ ECB และ เฟด
โดยอยากจะเห็น 2 ธนาคารกลางใช้ “นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย”
ทว่า เมื่อไม่ได้เห็นในสิ่งที่คาดหวัง
ทำให้กระแสเงินทุนเริ่มปรับเปลี่ยนไปตามแผนการลงทุน
เมื่อวันศุกร์ (26 ก.ค.) ค่าเงินบาทของประเทศไทยอ่อนตัวลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ โดยไปอยู่ที่ 31.00 บาท ก่อนจะแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยไปช่วงปิดตลาดภาคบ่ายมาอยู่ที่ 30.90 บาท
มีประเด็นน่าสนใจเพิ่มเติม
นักลงทุนต่างชาติกลับมาขายสุทธิกว่า 4,272 ล้านบาท
หลังจากก่อนหน้านี้มีการเข้าซื้อหุ้นไทยมาโดยตลอด หรือหากวันไหนที่เป็นสลับขายออกมาบ้าง
แต่จะไม่ได้ขายออกมากนัก อาจจะเป็นหลักเพียงร้อยล้าน หรือพันกว่าล้านเท่านั้น
เมื่อวานนี้หุ้นตลาดไทยปิดทำการ
แต่ตลาดหุ้นเอเชีย เปิดทำการปกติ และส่วนใหญ่จะปิดตลาดปรับตัวลงต่อเนื่องจากเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา
ในท่ามกลางข่าวร้ายนั้น
ยังมีข่าวดีเกิดขึ้นกับประเทศไทย หลังจาก Fitch Ratings (Fitch) ปรับมุมมองความน่าเชื่อถือของรัฐบาลในการออกตราสารหนี้สกุลเงินตราต่างประเทศและสกุลเงินบาทระยะยาวจากระดับ “มีเสถียรภาพ (Stable outlook)” เป็น “เชิงบวก (Positive outlook)”
และคงอันดับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลในการออกตราสารหนี้สกุลเงินตราต่างประเทศและสกุลเงินบาทระยะยาวที่ระดับ BBB+
ตราสารหนี้สกุลเงินตราต่างประเทศและสกุลเงินบาทระยะสั้นที่ระดับ F1
และเพดานอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ (Country Ceiling) ที่ระดับ A-
ไม่เพียงเท่านั้น
ล่าสุด Moody’s Investors Service หรือ มูดี้ส์ ประกาศผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย
โดยปรับมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Outlook) จากระดับ “มีเสถียรภาพ (Stable Outlook)” เป็น “เชิงบวก (Positive Outlook)”
และคงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Credit Rating) ที่ Baa1 หรือเทียบเท่า BBB+
มูดี้ส์ ปรับมุมมองประเทศไทยเป็นเชิงบวกครั้งนี้ จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนต่างประเทศ
และลดต้นทุนทางการเงินของบริษัทจดทะเบียน
และเชื่อว่าบริษัท สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ส (S&P) มีแนวโน้มจะปรับขึ้นอันดับเครดิตของประเทศไทยในช่วง 3-4 เดือนนี้ หลังจากฟิทช์ เรทติ้งส์ และมูดี้ส์ปรับไปแล้ว
ต้องมาลุ้นกันว่า
ข่าวร้ายกับข่าวดีที่กำลังเกิดขึ้นกับประเทศไทย
ข่าวไหนมีน้ำหนักมากกว่ากัน