FPT รวบแล้วขาย.!?
น่าจับตา !! กรณีบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ FPT เสนอขายทรัพย์สินประเภทอาคารคลังสินค้าจำนวน 6 ยูนิต พื้นที่ใช้สอยประมาณ 29,850 ตารางเมตร มูลค่ารวมประมาณ 637 ล้านบาท ให้แก่ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่ออุตสาหกรรม เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (FTREIT)
สำนักข่าวรัชดา
น่าจับตา !! กรณีบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ FPT เสนอขายทรัพย์สินประเภทอาคารคลังสินค้าจำนวน 6 ยูนิต พื้นที่ใช้สอยประมาณ 29,850 ตารางเมตร มูลค่ารวมประมาณ 637 ล้านบาท ให้แก่ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่ออุตสาหกรรม เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (FTREIT)
คาดว่าเป็นจุดเริ่มต้นกลยุทธ์รวบเพื่อขายของ FPT !!
หรือเป็นเกมเงินต่อเงินของ “เจริญ สิริวัฒนภักดี” นั่นเอง..!?
โมเดลนี้คล้ายกับกรณีของบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA ที่ก่อนหน้านี้เข้าไปซื้อบริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน) หรือ HEMRAJ
ซึ่งมีสินทรัพย์ 2 ส่วน ประกอบด้วย 1) ที่ดินและนิคมอุตสาหกรรม 2) สาธารณูปโภค โรงไฟฟ้าและน้ำประปา
หลังจากซื้อเสร็จ WHA ตั้งกองรีทขึ้นมา แล้วนำสิทธิการให้เช่าที่ดิน คลังสินค้า โรงงาน เดิมขายเข้ากองรีท ได้เงินมาก้อนหนึ่งนำไปชำระหนี้
ส่วนสินทรัพย์ที่เป็นสาธารณูปโภค โรงไฟฟ้าและน้ำประปา ก็ตั้งบริษัทลูกขึ้นมาบริหารภายใต้ชื่อบริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ WHAUP
จากนั้นก็นำ WHAUP เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ระดมทุนขาย IPO ได้เงินมาก้อนหนึ่งไปชำระหนี้
ก็ถือเป็นโมเดลหนึ่งที่ประสบความสำเร็จ…
ส่วนกรณี FPT เริ่มจากการเข้าตลาดหุ้นทางอ้อม ผ่านการ Backdoor Listing บริษัท ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TICON และเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ FPT เมื่อปลายปี 2561 พร้อมผ่องถ่ายสินทรัพย์จาก TICON เข้ามา
เบื้องต้นการเข้าเทกโอเวอร์ TICON ต้องใช้เงินก้อนโต…FPT ต้องไปกู้เงินจากสถาบันการเงิน ทำให้ต้องแบกรับภาระต้นทุนการเงินค่อนข้างสูง
ที่สำคัญทำให้อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนผู้ถือหุ้น (D/E) ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ดังนั้นเมื่อถึงจุดหนึ่ง FPT จึงตั้งกองรีทขึ้นมา และเริ่มขายสิทธิการให้เช่าโรงงาน คลังสินค้าเข้ากองรีทเพื่อนำเงินไปชำระหนี้
จะว่าไปกลยุทธ์การตั้งกองรีทแล้วขายสิทธิทรัพย์เข้ากองรีท มีข้อดีตรงที่ 1) บริษัทได้กำไรจากการขาย
2) บริษัทได้รับเงินปันผลจากการถือหุ้นในกองรีท
และ 3) บริษัทได้ค่าจ้างจากการรับจ้างบริหารสินทรัพย์ (ใครจะมารู้ดีเท่าเจ้าของเดิมล่ะ…จริงมั้ย)
เรียกว่ารับเละ !! ถึง 3 ต่อเลยทีเดียว…
ส่วนเงินที่ใช้ซื้อสินทรัพย์เข้ากองรีทนั้น ก็ไม่ใช่เงินของบริษัทนะ
แต่…เป็นเงินที่มาจากการระดมทุนของผู้ถือหน่วย…
เท่ากับว่า นอกจากบริษัทไม่ต้องควักเงินซักบาทแล้ว ยังมีรายได้กลับเข้ากระเป๋าอีก
แหม๊ !! เกมเงินต่อเงินนี่มันมีแต่ได้กับได้จริง ๆ
แต่บอกเลยว่า นี่เป็นแค่ก้าวแรกของ FPT เท่านั้น…
ต่อไปคงได้เห็น FPT เดินเกมขายสินทรัพย์อื่น ๆ เข้ากองรีทเพิ่มเติมอีกแน่
ไม่เชื่อก็คอยจับตาดูแล้วกัน…
…อิ อิ อิ…