CPALL – เซ็นทรัล รีเทล

ในเชิงธุรกิจทั้ง CPALL และ เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น (CRC) ไม่ได้ถือว่าเป็นคู่แข่งขันโดยตรงนัก


ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร

ในเชิงธุรกิจทั้ง CPALL และ เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น (CRC) ไม่ได้ถือว่าเป็นคู่แข่งขันโดยตรงนัก

และแม้ว่าเซกเมนต์ หรือฐานกลุ่มลูกในบางธุรกิจจะมีกลุ่มลูกค้าเดียวกัน

เช่น  เซ็นทรัล รีเทลฯ จะมี แฟมิลี่มาร์ท ที่เป็นคู่แข่งขันของ เซเว่น-อีเลฟเว่น

ทว่า ภาพรวมของฐานลูกทั้งหมดจะแตกต่างกัน

ต้องยอมรับครับว่า CPALL เป็นหุ้นค้าปลีกเบอร์ 1 ของตลาดหุ้นไทยก็ว่าได้

และเป็นหุ้นที่อยู่ในความสนใจของนักลงทุน ทั้งนักลงทุนต่างประเทศ นักลงทุนสถาบัน และรายย่อยที่เข้ามา ซื้อ ๆ ขาย ๆ  จนมีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันมากกว่า 1 พันล้านบาท

และติดอันดับ Most Active Value มาโดยตลอด

CPALL มียอดขายรวมปี 2561 กว่า 5.27 แสนล้านบาทครับ

และมีอัตรากำไรสุทธิ 2.0 หมื่นล้านบาท

ส่วนไตรมาส 1/2562 รายได้รวมอยู่ที่ 1.38 แสนล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 5.76 พันล้านบาท

มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) ล่าสุด (31 ก.ค. 62) อยู่ที่ 7.81 แสนล้านบาท หรือมากเป็นอันดับ 2 รองจาก AOT (1.02 ล้านล้านบาท) และ “พี่ปอ” หรือ PTT (1.34 ล้านล้านบาท)

CPALL นั้น ถือหุ้นใหญ่อยู่ใน MAKRO อยู่ด้วย

หากนำสินทรัพย์และมูลค่าทรัพย์สินมารวม ๆ กัน ก็น่าจะมากอยู่

CPALL พยายามที่จะขยายธุรกิจของตนเองออกไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

จะเห็นว่า MAKRO ได้พยายามที่จะเข้าไปลงทุนในประเทศต่าง ๆ มากขึ้น เช่น อินเดีย กัมพูชา

ก่อนหน้านี้ก็แว่ว ๆ ว่า สนใจเข้าไปซื้อกิจการ “โลตัส” เพราะทางยุโรปต้องการขายกิจการหลังจากประสบกับปัญหายอดขายในหลายประเทศ

แต่เรื่องดังกล่าวเงียบหายไป ซึ่งจะตกลงเรื่องราคา (ซื้อขาย) กันไม่ได้

ว่ากันว่า หากพวกเขาซื้อขายกันได้จริง ๆ

นั่นเท่ากับว่า CPALL แทบจะยึดค้าปลีกในประเทศไทยไว้ในกำมือเลยล่ะ

มาถึงฝั่ง เซ็นทรัล รีเทลฯ หรือ CRC กันบ้าง

ล่าสุด ได้มีการเปิดเผยข้อมูลของ CRC มาแล้วว่า โครงสร้างธุรกิจของพวกเขานั้นเป็นอย่างไร

เซ็นทรัล รีเทลฯ มี Business Unit ประกอบด้วย กลุ่มแฟชั่น ได้แก่ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล, ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน, โรบินสันไลฟ์สไตล์เซ็นเตอร์, ซูเปอร์สปอร์ต, Central Marketing Group (CMG) และ รีนาเซนเต (Rinascente)

กลุ่มฮาร์ดไลน์ได้แก่ ไทวัสดุ, บ้านแอนด์บียอนด์ , เพาเวอร์บาย, เหงียนคิม กลุ่มฟู้ด ได้แก่ ท็อปส์ มาร์เก็ต, ท็อปส์ เดลี่, ท็อปส์ พลาซ่า, เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์, แฟมิลี่มาร์ท, บิ๊กซี และ ลานซี มาร์ท

ปี 2561 CRC มียอดขายกว่า 2.4 แสนล้านบาท เติบโต 8%

ยอกขายที่ว่านี้แบ่งเป็น สินค้าอาหาร (Food) สัดส่วน 43% สินค้าแฟชั่น สัดส่วน 35%

และ กลุ่มฮาร์ดไลน์ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ มีสัดส่วน 22%

ขณะที่แบ่งเป็นรายประเทศนั้น จะเป็นยอดขายในประเทศ 77% ในเวียดนาม 14-15% และในอิตาลี 8.5%

แม้ยอดรายได้ของ เซ็นทรัล รีเทลฯ ยังน้อยกว่า CPALL กว่า 1 เท่าตัว

แต่ “มาร์จิ้น” ของเซ็นทรัล รีเทลฯ ดูเหมือนจะน่าสนใจกว่า จากการมีอัตรามาร์จิ้นที่น่าจะดีกว่า จากการดีดลูกคิดของนักวิเคราะห์ในเบื้องต้น

ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา เซ็นทรัล รีเทลฯ ต้องการยกระดับขึ้นมาเป็น Global Company ด้วยการเข้าไปลงทุนในประเทศต่าง ๆ

และที่น่าสนใจคือ พยายามนำตนเองไปเทียบกับอาลีบาบา และอเมซอน จากการร่วมมือกับ JD.com

“นายญนน์ โภคทรัพย์ อดีตผู้บริหารของยูนิลีเวอร์ และธนาคารไทยพาณิชย์ ยอมรับว่า ความพยายามของ เซ็นทรัล รีเทลฯ ที่ต้องการนำพาตนเองไปสู่การเป็น Global Company นั้น จำเป็นต้องใช้ “เงินทุน”

และนั่นคือสาเหตุที่ต้องนำบริษัทเข้าตลาดหุ้นเพื่อระดมทุน

เซ็นทรัล รีเทลฯ จะยื่นไฟลิ่งภายในปี 2562 นี้แหละ

เข้าใจว่าอย่างเร็วสุดน่าจะเข้าตลาดหุ้นได้ในช่วงปลายปี 2562 และอย่างช้าต้นปี 2563 มี บล.ภัทร และ บล.บัวหลวง เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน

น่าจับตาดูว่า หลังเข้าตลาดหุ้นของ CRC จะช่วยสร้างขนาดธุรกิจให้เติบใหญ่มากน้อยแค่ไหน

แต่ที่แน่ ๆ นักลงทุนจะมี “หุ้นค้าปลีก” ที่มีขนาดพอฟัดพอเหวี่ยงกับ CPALL

เข้ามาให้เลือกลงทุนอีกตัวหนึ่ง

Back to top button