พาราสาวะถี

ระเบิด 9 จุดในพื้นที่กรุงเทพมหานครเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ยังทำงานไม่ครบ 24 ชั่วโมง แต่ฝ่ายกุมอำนาจทางการเมืองอย่าง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และฝ่ายกุมขุมกำลังอย่าง พลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ต่างฟันธงตรงกันและชี้ไปทางเดียวกันว่า เป็นเรื่องทางการเมือง เป็นการดิสเครดิตรัฐบาล และฟันธงไปด้วยว่าเป็นฝีมือกลุ่มเดิมแต่เปลี่ยนคนลงมือ รู้ลึกถึงขนาดนั้นต้องไม่ปล่อยให้คนร้ายลอยนวล


อรชุน

ระเบิด 9 จุดในพื้นที่กรุงเทพมหานครเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ยังทำงานไม่ครบ 24 ชั่วโมง แต่ฝ่ายกุมอำนาจทางการเมืองอย่าง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และฝ่ายกุมขุมกำลังอย่าง พลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ต่างฟันธงตรงกันและชี้ไปทางเดียวกันว่า เป็นเรื่องทางการเมือง เป็นการดิสเครดิตรัฐบาล และฟันธงไปด้วยว่าเป็นฝีมือกลุ่มเดิมแต่เปลี่ยนคนลงมือ รู้ลึกถึงขนาดนั้นต้องไม่ปล่อยให้คนร้ายลอยนวล

ไม่เพียงเท่านั้นบิ๊กแดงยังรีบออกตัวด้วยว่า อย่ามาโยนว่าเป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐ งานนี้ถ้ายังจับคนลงมือไม่ได้ การด่วนสรุปของฝ่ายกุมอำนาจดูเหมือนว่าไม่น่าจะเป็นผลดีเท่าไหร่ เพราะอย่าลืมว่าเหตุการณ์เกิดมาในช่วงที่ข่าวของผู้นำกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบ เนติบริกรประจำรัฐบาลถูกต้อนจนไปไม่เป็นอ้างข้าง ๆ คู ๆ ทั้ง ๆ ที่ตัวเองเคยเขียนหนังสือเป็นหลักฐานไว้ก่อนหน้าว่า การถวายสัตย์ฯ ต้องพูดตามลายลักษณ์อักษรที่บัญญัติไว้ทุกประการ มิเช่นนั้น มันจะกลายเป็นว่าใครพูดอะไรก็ได้

ก่อนจะไปว่าถึงเรื่องนี้ กลับมาดูประเด็นเรื่องระเบิด การที่ฝ่ายกุมอำนาจรีบฟันธงถึงกลุ่มคนลงมือ นอกจากจะเป็นการปิดเกมข้อกล่าวหาที่จะวกเข้าหาตัวเองแล้ว เท่ากับเป็นการชี้นำเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงานด้วยหรือไม่ เพราะถ้ายังจับมือใครดมไม่ได้ แล้วปล่อยให้ทุกอย่างจางหายไปกับกาลเวลา เท่ากับว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพียงความประสงค์ในการที่จะทำให้เกิดความตื่นตระหนกและเบี่ยงเบนความสนใจของสื่อได้เป็นอย่างดี

เหตุการณ์เช่นนี้ใช่ว่าจะเป็นครั้งแรก เราได้เห็นหลายครั้งหลายหนในยามที่มีการรุกไล่ในมิติของข่าวสารและดูท่าว่าฝ่ายถูกรุกจะตั้งรับไม่ทัน มักจะมีการงัดเอาผี ทักษิณ ชินวัตร มาหลอกหลอนคนไทยบ้าง ที่สำคัญคือจะเกิดข่าวการจับกุมอาวุธสงครามได้ล็อตใหญ่ แล้วข่าวสารดังว่านั้นก็หายไปกับสายลมและกาลเวลา เช่นนี้แล้วจะทำให้คนจำนวนไม่น้อยไม่เชื่อได้อย่างไรว่าเหล่านี้เป็นการสร้างสถานการณ์เพื่อหวังผล ยิ่งมีการรีบสรุปเท่าไหร่ยิ่งเป็นการออกอาการ

ดังที่ สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ว่า เรื่องระเบิดเป็นเรื่องละเอียดอ่อนในด้านความมั่นคง แต่ที่น่าตกใจวันนี้สถานการณ์ยังไม่จบ แต่ก็เห็นคนออกมาคาดการณ์ฟันธงว่าเหตุเกิดเพราะอะไร ซึ่งสถานการณ์ความมั่นคงเช่นนี้ในต่างประเทศจะไม่พูดจนกว่าจะมีความชัดเจน เรื่องดิสเครดิตรัฐบาลนั้น ต้องถามว่าพวกที่ลงมือทำได้อะไร เสี่ยงที่จะติดคุกติดตะราง ยิ่งถ้าเป็นฝ่ายตรงข้ามฝ่ายคุมอำนาจ ยิ่งมีโอกาสสูงที่จะถูกตะครุบตัวได้โดยง่าย

น่าสนใจกับอีกหนึ่งความเห็นอย่าง ปณิธาน วัฒนายากร อดีตที่ปรึกษา พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ แม้จะมองว่าเป็นการดิสเครดิตรัฐบาล แต่ก็ชี้ว่าน่าจะเป็นพวกวงในที่รู้ความเคลื่อนไหวของฝ่ายความมั่นคงทุกขั้นตอน แสดงว่าเกลือเป็นหนอนอย่างนั้นหรือ หรือปณิธานพยายามจะชี้ให้เห็นว่า มีพวกที่อยู่ในฝ่ายความมั่นคงแต่ไม่เอารัฐบาลสืบทอดอำนาจ ไปรวมหัวกับพวกฮาร์ดคอร์ของฝ่ายตรงข้ามก่อเหตุในลักษณะนี้ ซึ่งถ้ารู้กันถึงขนาดนี้ พวกที่ก่อเหตุก็ไม่น่าจะหนีเงื้อมมือกฎหมายไปได้

ดังนั้น การที่รีบสรุปข่าวเป็นพวกเดิมหน้าใหม่ จึงน่าจะเร็วและรีบร้อนเกินไป ถ้ามีข้อมูลขนาดนี้ ควรจะให้เวลาเจ้าหน้าที่ได้ทำงานซักระยะก่อนแล้วค่อยออกมาพูด สิ่งที่ควรจะสื่อสารกับสังคมน่าจะเป็นประเด็นอย่าตื่นตระหนก และช่วยกันเป็นหูเป็นตาแจ้งเบาะแส ความเคลื่อนไหวของบุคคลที่ผิดปกติและสิ่งแปลกปลอมที่พบเห็นกันในหมู่บ้านหรือชุมชนที่ตัวเองอาศัยมากกว่า ไม่น่าจะด่วนสรุปผูกมัดเจ้าหน้าที่เหมือนอย่างที่เป็นอยู่

ย้อนกลับไปปมถวายสัตย์ฯ อาการอึกอักของวิษณุพร้อมวลีทองสองหน “วันหนึ่งจะรู้เองว่า ทำไมไม่ควรพูด” กับ “อย่าไปอยากรู้ในสิ่งที่ไม่ควรรู้” ถือเป็นการจนแต้มหมดปัญญาที่จะอธิบายกับสังคมว่าทำไมจึงเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น และไม่รู้ว่าจะหาทางออกให้กับผู้นำได้อย่างไร เพราะอย่าลืมว่าเรื่องนี้ไม่ใช่แค่ฝ่ายค้านที่จะต้องเดินเกมไล่บี้เท่านั้น หากแต่พวกเดียวกันที่ถือหางเชียร์ผู้นำเผด็จการมาโดยตลอดยังแสดงความเป็นห่วงถึงความไม่ชัดเจนเรื่องนี้

เริ่มจาก อาทิตย์ อุไรรัตน์ ที่โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก แสดงความกังขา “มันเกิดอะไรขึ้นในประเทศนี้รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีถวายสัตย์ปฏิญาณโดยมีข้อความชัดเจนเพียง 3 บรรทัดแต่ นายกรัฐมนตรีกล่าวเพียง 2 บรรทัดขาดหายข้อความสำคัญไป 1 บรรทัดเต็ม ๆ อย่างนี้จะโมฆะ ไหม” ตั้งปุจฉาได้ตรงประเด็น แต่ไร้ซึ่งคำตอบจากฝ่ายกุมอำนาจ

ขณะที่ เจษฎ์ โทณะวณิก อดีตที่ปรึกษาคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญก็แสดงความเห็นต่อกรณีนี้ว่า ตนเป็นผู้เขียนคำถวายสัตย์ปฏิญาณไว้ในรัฐธรรมนูญเอง โดยเนื้อหาระบุชัดถ้อยคำที่ระบุไว้ 3 ส่วนคือ แสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ให้คำมั่นว่าจะทำหน้าที่ให้ดีต่อชาติและประชาชน สุดท้ายคือปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ หากขาดตกไปเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แม้จะไม่มีบทลงโทษทางกฎหมาย แต่ตามประเพณีอาจถือได้ว่ายังปฏิบัติหน้าที่ได้ไม่สมบูรณ์และต้องดำเนินการให้ครบถ้วน

สรุปง่าย ๆ ก็คือ ไม่ว่าฝ่ายไหนถ้ามีหัวใจที่เป็นกลาง จะมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น ท่านผู้นำจะต้องทำให้ถูกต้องครบถ้วน แม้ไม่ผิดกฎหมายแต่ไม่ใช่เรื่องถูกต้องที่สมควรปล่อยผ่าน อย่างไรก็ตาม มีปุจฉาต่อมาว่าแล้วองค์กรใดจะวินิจฉัยเรื่องนี้ ซึ่งเจษฎ์ก็บอกว่า หากไม่มีองค์กรใดวินิจฉัย สุดท้ายก็ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา นั่นแหละที่คนยิ่งกังวลกันว่าองค์กรอิสระแห่งนี้จะรับเรื่องนี้หรือและกล้าที่จะตีความเพื่อให้ทุกอย่างกระจ่างชัดอย่างนั้นหรือ

กรณีนี้หากมองด้วยใจที่เป็นธรรม ยึดตามรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัดตามที่ท่านผู้นำชอบพูดว่าทุกคนต้องปฏิบัติตามกฎหมายไม่มียกเว้น และย้อนกลับไปดูเนื้อหาที่วิษณุในฐานะเนติบริกรประจำรัฐบาลเคยเขียนหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรถือเป็นหลักฐานมัดตัวเองไว้ต่อการถวายสัตย์ฯ หากยังหลงเหลือศักดิ์ศรีอยู่บ้าง จะปล่อยให้เรื่องสำคัญเช่นนี้ผ่านไปโดยไม่มีอะไรเกิดขึ้นไม่ได้

Back to top button