เกมฟุตบอล & เกมการลงทุน
“เกมการแข่งขันฟุตบอล” เป็นเกมที่มีระบบและมีการจัดวางตำแหน่งต่าง ๆ อย่างชัดเจน การแข่งขันแต่ละแมตช์ ผู้ทำหน้าที่โค้ช ต้องมองภาพรวมเกมการเล่นแต่ละสนามหรือแต่ละแมตช์ พร้อมวางแผนเกมการเล่นและจัดวางตำแหน่งอย่างถูกต้อง เพื่อนำไปสู่ชัยชนะในที่สุด
พลวัตปี 2019 : สุภชัย ปกป้อง
“เกมการแข่งขันฟุตบอล” เป็นเกมที่มีระบบและมีการจัดวางตำแหน่งต่าง ๆ อย่างชัดเจน การแข่งขันแต่ละแมตช์ ผู้ทำหน้าที่โค้ช ต้องมองภาพรวมเกมการเล่นแต่ละสนามหรือแต่ละแมตช์ พร้อมวางแผนเกมการเล่นและจัดวางตำแหน่งอย่างถูกต้อง เพื่อนำไปสู่ชัยชนะในที่สุด
เฉกเช่น “เกมการลงทุน” ต้องมีการวางตำแหน่งเงินลงทุนให้ชัดเจนไม่แพ้กัน เนื่องด้วยสินทรัพย์แต่ละประเภทมีลักษณะและจุดประสงค์แตกต่างกัน นั่นหมายถึงต้องใช้ทักษะบริหารเงินที่สำคัญคือ “กลยุทธ์และวินัย” ที่มักจะมีการวาง แผนคล้ายกับการลงทุน
โดยสินทรัพย์ทางการเงิน มีอยู่หลายประเภท อาทิ ประกัน, เงินฝาก, พันธบัตร, ตราสารหนี้, หุ้นกู้, หุ้นสามัญ, ทองคำ, อสังหาริมทรัพย์ แต่ละประเภทมีลักษณะการลงทุนที่แตกต่างกัน เปรียบเทียบได้กับแต่ละตำแหน่งในเกมฟุตบอล นั่นเอง
ประกัน (ชีวิต, สุขภาพ, อุบัติเหตุ, ทรัพย์สิน) เปรียบดั่งด่านสุดท้ายคือ “ผู้รักษาประตู” โดย “ประกัน” ทำหน้าที่คุ้มครองความเสี่ยงให้ชีวิตและทรัพย์สิน การมีประกันติดตัวไว้ เสมือนมีผู้รักษาประตูคอยรักษาทรัพย์สินเงินทองไม่ให้เสียหายจากการโจมตีของเหตุไม่คาดฝัน หรือความเสี่ยง ดังนั้นหากไม่มีการวางแผนคุ้มครองความเสี่ยง เสมือนทีมฟุตบอลที่ไม่มีผู้รักษาประตู หากบุกเพลิน ๆ แล้วพลาดพลั้งถูกตัดบอลได้ มีสิทธิ์ถูกยิงประตู จนพ่ายแพ้ไปได้อย่างง่ายดาย
เงินฝาก (ออมทรัพย์, ประจำ) พันธบัตร/ตราสารหนี้ระยะสั้น กองทุนรวมตลาดเงิน เปรียบดั่งเช่น “กองหลัง” โดยเงินฝากหรือตราสารหนี้ระยะสั้นนอกจากมีไว้เพื่อเป็นเงินสภาพคล่องไว้ใช้จ่ายแล้วมีหน้าที่เป็นเงินออมระยะสั้นเผื่อฉุกเฉิน สำหรับรายจ่ายที่เกิดขึ้นมาแบบไม่คาดฝัน (เช่น ตกงาน ค่ารักษา เจ็บป่วย) เปรียบเหมือนกองหลังทำหน้าที่ป้องกันการโจมตีจากผู้เล่นฝ่ายตรงข้าม (ค่าใช้จ่ายประจำ, ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ) ที่ช่วยในเกมรับหรือซัพพอร์ตว่าการเงินจะไม่พังหรือพ่ายแพ้ได้
ตราสารหนี้ระยะยาว/ตราสารหนี้ต่างประเทศ เปรียบดั่ง “กองกลาง” โดยตราสารหนี้ระยะยาว มีผลตอบแทนปานกลาง (3-4% ต่อปี) และมีความเสี่ยงไม่สูงนัก สามารถใช้งานได้ทั้งเป็นเงินเก็บสำรองเผื่อฉุกเฉินระยะปานกลาง ตั้งแต่ 1-3 ปีหรือหากใช้เพื่อเพิ่มผลตอบแทนให้สูงขึ้น จากแค่ฝากเงินทั่วไป อาจเลือกตราสารหนี้ต่างประเทศ ที่คาดหวังผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 4-6% ต่อปี
เปรียบเสมือน “กองกลางของทีม” ที่ทำหน้าที่ช่วยทีมทั้งรุกและรับ แต่ถ้าอยากได้ “มิดฟิลด์ตัวรับ” มาช่วยเกมรับเพื่อสร้างความอุ่นใจให้ทีม (พอร์ตลงทุน) มากขึ้น สามารถเลือกตราสารหนี้ระยะยาวของไทย แต่ถ้าอยากได้ “มิดฟิลด์ตัวรุก” ที่มาช่วยเติมเกมรุก เพิ่มผลตอบแทนให้พอร์ตเราสูงขึ้น สามารถเลือกตราสารหนี้ต่างประเทศ จะช่วยให้มีโอกาสทำประตู (กำไร) สูงขึ้น
ตราสารทุน (หุ้น) เปรียบได้ดั่ง “กองหน้า” การทำหน้าที่ของ “หุ้น” ในพอร์ตการลงทุนเป็นกำลังหลักในการสร้างผลตอบแทนสูงสุด เพื่อให้เงินทุนในพอร์ตเติบโตระยะยาว เปรียบเสมือนกองหน้าที่ทำหน้าที่ยิงประตู เพื่อช่วยให้ทีมได้รับชัยชนะ (บรรลุเป้าหมายการเงิน)
สินทรัพย์ทางเลือกอื่น ๆ (ทอง, อสังหาริมทรัพย์, ตราสารอนุพันธ์) เปรียบดั่ง “ตัวสำรอง-ผู้เล่นตัวโจ๊กเกอร์ สินทรัพย์ทางเลือกเหล่านี้อาจต้องไว้ในพอร์ตการลงทุนตามสถานการณ์และความจำเป็นหรือใช้เป็นทางเลือกเสริมในการสร้างผล ตอบแทนได้ เช่น ทองคำ เอาไว้ถ่วงพอร์ตกระจายความเสี่ยงในพอร์ต หรือบางจังหวะอาจเป็นผู้เล่นโจ๊กเกอร์ ที่จะมาพลิกเกมหรือสร้างผลตอบแทนพิเศษ ช่วงระยะใด ระยะหนึ่งได้
แต่ไม่มี “แผนการเล่น” รูปแบบใดที่สามารถการันตีได้ว่าจะได้รับชัยชนะได้ทุกแมตช์ เปรียบดั่งเช่น “การจัดพอร์ตการเงิน” รูปแบบใดที่ไม่สามารถการันตีผลตอบแทนสูงสุดได้เช่นกัน