สงครามการค้าถึงจุด No Return?

ธนาคารกลางจีนปล่อยให้เงินหยวนอ่อนตัวลงมากสุดในรอบกว่า 10 ปีเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาและยังประกาศว่า บริษัทจีนได้หยุดซื้อสินค้าเกษตรสหรัฐฯ แล้ว ในวันเดียวกันนั้น คณะบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ก็ได้เพิ่มความตึงเครียดด้วยการตีตราจีนว่าปั่นค่าเงิน  เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันจันทร์ เป็นผลมาจากการที่ทรัมป์ประกาศเก็บภาษีสินค้าจีนอีก 300,000 ล้านดอลลาร์ในอัตรา 10% ในสัปดาห์ที่ผ่านมา


พลวัตปี 2019 : ฐปนี แก้วแดง

ธนาคารกลางจีนปล่อยให้เงินหยวนอ่อนตัวลงมากสุดในรอบกว่า 10 ปีเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาและยังประกาศว่า บริษัทจีนได้หยุดซื้อสินค้าเกษตรสหรัฐฯ แล้ว ในวันเดียวกันนั้น คณะบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ก็ได้เพิ่มความตึงเครียดด้วยการตีตราจีนว่าปั่นค่าเงิน  เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันจันทร์ เป็นผลมาจากการที่ทรัมป์ประกาศเก็บภาษีสินค้าจีนอีก 300,000 ล้านดอลลาร์ในอัตรา 10% ในสัปดาห์ที่ผ่านมา

พัฒนาการที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่า ความขัดแย้งทางการค้าได้มาถึงจุดที่มีความรุนแรงอีกครั้งและยากที่จะพลิกผันได้ และความเสี่ยงในขณะนี้อยู่ที่ว่า สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ กำลังถึงจุดที่จะเป็นสาเหตุให้เศรษฐกิจทั้งสองประเทศชะลอตัวลงอย่างรุนแรงหรือจะเข้าสู่ภาวะถดถอยได้

เมื่อดูจากท่าทีของจีนและสหรัฐฯ ทั้งสองฝ่ายเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้เศรษฐกิจที่บอบช้ำอยู่แล้วแตกเป็นเสี่ยง ๆ และในขณะนี้ความขัดแย้งของจีนและสหรัฐฯ น่าจะดำเนินไปสู่จุด No Return หรือจุดที่ไม่สามารถหวนกลับมาได้แล้ว และเศรษฐกิจจีนและสหรัฐฯ กำลังเข้าใกล้ภาวะถดถอยมากขึ้น

ความรู้สึกที่ว่าสงครามการค้ากำลังจะเข้าสู่ช่วงอันตรายมากขึ้นได้รับการยืนยันอย่างชัดเจนเมื่อกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ได้ระบุอย่างเป็นทางการว่าจีนปั่นค่าเงิน การตีตราจีนเช่นนั้นทำให้เกิดแรงเทขายในตลาดการเงินทั่วโลกเพราะมีการคาดการณ์ว่า จีนอาจจะมีมาตรการที่รุนแรงมากขึ้นอีกเพื่อลดค่าเงินหยวน

แต่ก่อนที่ความรู้สึกของนักลงทุนจะไปถึงจุดนั้น มีการมองการเคลื่อนไหวของธนาคารกลางจีนที่ได้ลดค่าเงินหยวนให้ต่ำกว่า 7 หยวนต่อดอลลาร์ว่า สงครามการค้ากำลังจะเปิดแนวรบใหม่ที่จะกลายเป็นสงครามค่าเงิน

ธนาคารกลางจีนกำหนดค่ากลางเงินหยวนเมื่อวันจันทร์ไว้ที่ 6.9225 หยวนต่อดอลลาร์ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561 โดยเหตุผลในการลดค่าเงินหยวนที่ธนาคารกลางจีนให้ คือเพื่อตอบโต้ต่อมาตรการปกป้องการค้าและเอกภาพนิยมและการขึ้นภาษีต่อจีน แต่ย้ำว่าเงินหยวนยังคงมีเสถียรภาพ

นักวิเคราะห์แคปิตอล อีโคโนมิกส์มองการเชื่อมโยงการลดค่าเงินหยวนเข้ากับการคุกคามทางภาษีของสหรัฐฯ ว่า เป็นการแสดงให้เห็นว่า ธนาคารกลางจีนได้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนเป็นอาวุธ และข้อเท็จจริงที่ว่าจีนหยุดปกป้องเงินหยวนที่ 7 หยวนต่อดอลลาร์ชี้ว่า พวกเขาเลิกหวังที่จะได้ข้อตกลงการค้าแล้ว

นักวิเคราะห์ของเมย์แบงก์ กิมเอ็ง รีเสิร์ช มองว่า จีนกำลังยอมแพ้ต่อกลยุทธ์การทูตที่อ่อนโยนและไม่เต็มใจที่จะเป็นกระสอบทรายของทรัมป์อีกต่อไป การขึ้นภาษีของทรัมป์กำลังส่งผลย้อนกลับและก่อให้เกิดสงครามการค้าเต็มรูปแบบ

นักเศรษฐศาสตร์ของไอเอ็นจีมองว่า จีนอาจจะต้องการลากสงครามภาษีกับสหรัฐฯ ไว้ให้นานเพราะสงครามการค้าเต็มรูปแบบ ไม่น่าจะช่วยให้ประธานาธิบดีทรัมป์มีโอกาสชนะเลือกตั้งในปีหน้า และเชื่อว่ากลยุทธ์ของจีนที่จะยกระดับสงครามการค้าก็คือชะลอการเจรจาและการตอบโต้ จนกว่าจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ

นี่เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ช่วงปีพ.ศ.2537 ที่สหรัฐฯ ตีตราประเทศหนึ่งว่าปั่นค่าเงิน การระบุอย่างเป็นทางการเช่นนั้น ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องหาทางเจรจากับรัฐบาลที่ถูกกล่าวหา หากไม่มีความคืบหน้าหลังจากที่มีการตีตราจีนอย่างเป็นทางการ จีนอาจจะเจอกับมาตราการลงโทษหลาย ๆ อย่าง เช่นห้ามบริษัทจีนลงแข่งขันในการประมูลหรือทำสัญญากับรัฐบาลสหรัฐฯ และจะไม่ได้รับเงินกู้จากองค์กรของรัฐบาลอเมริกันเพื่อพัฒนาโครงการต่างๆ

อย่างไรก็ดี มีสัญญาณที่พอจะทำให้สบายใจขึ้นได้เล็กน้อย เมื่อธนาคารกลางจีนกำหนดค่าอ้างอิงเงินหยวนให้แข็งขึ้นกว่า 7 หยวนต่อดอลลาร์ในวันอังคาร โดยอยู่ที่ 6.9683 หยวนต่อดอลลาร์ แม้ว่าที่อัตรานี้ยังแข็งกว่าที่ได้มีการคาดการณ์กันไว้ แต่มันก็ยังอ่อนกว่า 6.9225 ซึ่งเป็นระดับที่ธนาคารกลางจีนกำหนดเมื่อวันจันทร์

การกำหนดค่าเงินหยวนให้แข็งขึ้น ทำให้ผู้ที่จับตาค่าเงินชักลังเลว่าจีนต้องการใช้เงินหยวนเป็นอาวุธในการทำสงครามการค้าจริงหรือไม่

นักวิเคราะห์ยูบีเอสมองว่า จีนแค่ยิงปืนเตือนมากกว่าที่จะลดค่าเงินจริง ๆ และการอ่อนตัวของเงินหยวนก็สะท้อนตามปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่กำลังย่ำแย่ลงและสะท้อนความเสี่ยงจากภาษีการค้าที่เพิ่มมากขึ้น เงินหยวนน่าจะอ่อนตัวลงอีกเพื่อแสดงปฏิกิริยาต่อปัญหาเศรษฐกิจและจีนเองก็ต้องการหลีกเลี่ยงการลดค่าเงินโดยตรง

หากเงินหยวนยังคงอ่อนตัวลงอย่างรุนแรง รัฐบาลจีนก็มีความเสี่ยงเช่นกัน เพราะเงินหยวนที่อ่อนตัวลงจะทำให้เงินทุนไหลออกนอกประเทศเนื่องจากจะไม่มีใครอยากจะถือการลงทุนในสกุลเงินที่กำลังสูญเสียมูลค่า นอกจากนี้ยังอาจลดอำนาจในการจับจ่ายของผู้บริโภคจีนในยามที่รัฐบาลปักกิ่งต้องการให้การบริโภคภายในประเทศช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันบริษัทต่างชาติและบริษัทในประเทศที่มีหนี้ในรูปดอลลาร์ ก็จะได้รับแรงกดดันเช่นกัน และยังมีผลกระทบต่อบริษัทจีนที่ซื้อน้ำมันในรูปเงินดอลลาร์ อย่างเช่น สายการบินด้วย

ในช่วงที่จีนลดค่าเงินหยวนเมื่อกลางปี 2558 เงินทุนได้ไหลออกนอกประเทศอย่างหนักและบั่นทอนตลาดทั่วโลกอย่างรุนแรงไปด้วย

ก็ได้แต่หวังว่า เหตุการณ์ในครั้งนั้น จะเป็นบทเรียนให้จีนและสหรัฐฯ หยุดคิดถึงผลที่จะตามมาสักนิด ก่อนที่จะเดินหน้าฟาดงวงฟาดงากันต่อไปจนถึงจุดที่ไม่สามารถกลับคืนมาได้ เมื่อได้ทำสงครามแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสงครามการค้า สงครามภาษี หรือสงครามค่าเงิน จะไม่ทำให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดได้ชัยชนะที่แท้จริง แต่น่าจะพ่ายแพ้ทั้งสองฝ่ายมากกว่า

Back to top button