เซอร์ไพรส์ดอกเบี้ย
ดอกเบี้ยนโยบายปรับลดลงมา 0.25% นับว่าเซอร์ไพรส์มาก
ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร
ดอกเบี้ยนโยบายปรับลดลงมา 0.25% นับว่าเซอร์ไพรส์มาก
ก่อนหน้านี้บรรดานักวิเคราะห์ และบุคคลในวงการตลาดเงิน ตลาดทุน ไม่มีใครคาดคิดว่า กนง.จะลดดอกเบี้ย
ส่วนใหญ่ มองว่า ดอกเบี้ยนโยบายจะคงไว้ที่ระดับ 1.50%
และหากจะมีการปรับลดลงมานั้น
กนง.อาจจะต้องรอดูท่าทีของ ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในการประชุมครั้งต่อไปว่าจะออกมาอย่างไร
ทว่า ครั้งนี้ กนง. ไม่ต้องรอทั้งเฟด และ ECB เลย
แต่ชิงปรับลดลงมาก่อน นัยสำคัญว่า เป็นเรื่องเร่งด่วน และเป็นการตั้งมือรับและพร้อมรุกกับสงครามค่าเงิน และการค้าที่กำลังฝุ่นตลบอยู่ในขณะนี้
การประชุมของ กนง.ในครั้งต่อไปคือ 25 กันยายน 2562
กนง.อาจจะมองว่า หากไปรอปรับลดดอกเบี้ยตอนนั้น ก็อาจจะไม่ทันกับเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
ย้อนกลับมาที่เหตุผลของ กนง.ที่ปรับลดดอกเบี้ยลงล่าสุด
กนง.มองว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่คาดไว้ครับ
และระบุว่าการชะลอตัวของภาคส่งออกเริ่มส่งผลต่ออุปสงค์ในประเทศ ถูกประเมินว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจมีโอกาสที่จะต่ำกว่าระดับศักยภาพ
ส่วนสถานการณ์ปัจจัยแวดล้อมไม่ได้เอื้อต่อการส่งออก การท่องเที่ยว การบริโภคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน
และการใช้จ่ายของภาครัฐ ด้านแรงกดดันด้านราคา กนง. มองว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายในช่วง 1-4%
และมาถึงประเด็น หรือปัจจัยสำคัญ คือ การแข็งค่าของ “เงินบาท” ยังเพิ่มความเสี่ยงอย่างมีนัยสำคัญท่ามกลางความขัดแย้งทางการค้าที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น
แน่นอนว่า การลดดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้เป็นไปตามทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของโลกที่ผ่อนคลายลง
จากข้อมูลพบว่า ช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมามีธนาคารกลางถึง 5 จาก 11 ประเทศที่ลดดอกเบี้ยนโยบายลงเช่นกัน
เช่น ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และธนาคารกลางของอินเดีย
และทำให้ถูกมองว่า ธนาคารกลางกำลัง “แข่งขันการผ่อนคลายนโยบายการเงิน”
ส่วนบรรดานักวิจัยด้านตลาดเงินต่างยังไม่แน่ใจว่าการตัดสินใจลดดอกเบี้ยนโยบายจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน
พวกเขาต่างมองว่าดอกเบี้ยอยู่ระดับต่ำอยู่แล้ว
ทว่า แนวโน้มต่อไป อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะยังคงอยู่ที่ 1.50% ตลอดช่วงที่เหลือของปีนี้
และประเด็นสงครามการค้าโลกจะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะมีผลต่อการปรับมุมมองของนักวิจัย และนักวิเคราะห์
แน่นอนว่า นอกจากจะส่งผลต่อค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง
ในด้านตลาดหุ้นเมื่อวานนี้ หลังจากเปิดตลาดภาคบ่าย หุ้นที่ได้รับประโยชน์จากดอกเบี้ยปรับลง ต่างพุ่งขึ้นอย่างร้อนแรง
กลุ่ม คอนซูเมอร์ไฟแนนซ์ นำโดย MTC SAWAD AMANAH และ THANI ปิดตลาดบวกกันมากกว่า 5%
ส่วนกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ก็ได้รับประโยชน์เช่นกัน
เช่นเดียวกับกลุ่มท่องเที่ยวที่รับประโยชน์จากค่าบาทอ่อนลงนำโดย AOT และ MINT
AOT เมื่อวานนี้ช่วงภาคเช้ายังเคลื่อนไหวในแดนลบ
แต่พอเปิดตลาดมาภาคบ่าย กลับวิ่งขึ้นสู่แดนบวกทันที และปิดตลาด +0.25 บาท ปิดที่ 69.50 บาท
ที่น่ากังวลคือกลุ่มธนาคารพาณิชย์ นำโดย 4 ธนาคารขนาดใหญ่ BBL KTB SCB และ KBANK ราคาหุ้นพากันร่วงระนาว จากดอกเบี้ยขาลง เพราะจะทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยแคบลง
วันนี้ไม่แน่ใจว่าราคาหุ้นจะฟื้นหรือเปล่า
คงต้องรอนักวิเคราะห์ดีดลูกคิดว่าจะมีผลกระทบขนาดไหน และอย่างไร